การทบทวนโครงการใช้เงินกู้ 4 แสนล้าน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของโควิด-19

(File Photo by Mladen ANTONOV / AFP)
ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร
อุไรรัตน์ จันทรศิริ

การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 นอกจากการฟื้นการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวตามข้อเสนอของผู้เขียนเรื่อง “เปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวจีนแบบไม่กักตัว” ในบทความที่ผ่านมา ภาครัฐจะต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยแรงงานในภาคบริการและอุตสาหกรรมจำนวน 9.35 ล้านคน[1]และธุรกิจทั้งเล็กใหญ่นับแสนรายที่ถูกผลกระทบจากโควิด-19  ได้แก่ มาตรการสร้างงานและเพิ่มทักษะให้แก่แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด รวมถึงมาตรการระยะกลางและระยะยาวเพื่อฟื้นฟูและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่รัฐต้องวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณภายใต้วงเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ให้เกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนอย่างทั่วถึง

มาตรการสร้างงานในระยะเร่งด่วนที่รัฐสามารถทำได้คือการผ่อนผันให้ผู้ค้ารายย่อยสามารถขายของหรืออาหารบนทางเท้าทั้งใน กทม. และเมืองใหญ่ เพราะปัจจุบันมีคนตกงานที่เคยมีอาชีพทำอาหารจำนวนมาก จากข้อมูลการขอสินเชื่อฉุกเฉินตามมาตรการโควิดของ ธกส. พบว่าผู้กู้จำนวน 8.5 แสนคน จากทั้งหมด 2 ล้านคน เคยมีอาชีพประกอบอาหาร นอกจากนี้ จากการสำรวจภาวการณ์ทำงานของแรงงานในไตรมาส 2 ของปี 2563 พบว่ามีแรงงานที่อยู่ในธุรกิจอาหารมากกว่า 2.5 ล้านคน จากจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมดราว 38 ล้านคน

กรุงเทพมหานครเคยมีจุดผ่อนผันสำหรับหาบเร่แผงลอย 683 จุด แต่ยกเลิกไปแล้ว 512 จุด และจะมีแผนยกเลิกเพิ่มเติมอีก

การผ่อนผันให้ค้าขายบนทางเท้าบนจุดที่เคยยกเลิกไปจะช่วยบรรเทาปัญหาทางเศรษฐกิจของผู้ที่กำลังประสบความเดือดร้อนจากผลกระทบของโควิดได้ดีที่สุด โดยแทบไม่ต้องใช้งบประมาณจากเงินกู้ เพียงแต่ กทม. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องลงทุนระบบสุขาภิบาล กำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยของอาหารและความปลอดภัยบนถนน ฯลฯ

ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงานในระยะกลางถึงระยะยาว โดยใช้งบประมาณจากเงินกู้สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 4 แสนล้านบาท ควรแบ่งโครงการเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้

  1. โครงการจ้างงานผู้ตกงานจากธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อุตสาหกรรมรถยนต์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์[2] โดยการจ้างงานดังกล่าวต้องคำนึงถึงทักษะและภูมิลำเนาของคนตกงาน

นอกจากการส่งเสริมการจ้างงานผ่านโครงการก่อสร้างหรือซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การซ่อมถนนหรือการขุดลอกคูคลอง รัฐควรอุดหนุนให้ภาคเอกชนหรือบริษัทต่างๆ ร่วมเสนอโครงการจ้างแรงงานที่ตกงานหรือแรงงานที่มีการศึกษาต่ำ โดยกระทรวงแรงงานอาจช่วยอำนวยความสะดวกให้มีการพบปะกันระหว่างแรงงานและนายจ้างในจังหวัดต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด

  1. โครงการฝึกอบรมพัฒนาทักษะและอาชีพ สำหรับแรงงานที่มีการศึกษาต่ำกว่าอุดมศึกษา โดยเฉพาะผู้ที่เคยทำงานในภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมที่ถูกผลกระทบรุนแรง การฝึกอบรมอาชีพต้องเน้นหลักสูตรและการวัดผลตามสมรรถนะ หรือความสามารถในการประยุกต์ใช้ทักษะความรู้ (competency based curriculum) โดยสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาร่วมพัฒนาหลักสูตรกับภาคเอกชน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมมีทักษะตรงกับความต้องการตลาด การประเมินผลโครงการต้องวัดจากอัตราการมีงานทำหลังจบหลักสูตร

สำหรับการใช้งบประมาณภายใต้กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันมีการอนุมัติโครงการไปแล้ว 9 หมื่นล้านบาท การใช้จ่ายงบประมาณภายใต้กรอบวงเงินดังกล่าวรวมถึงการจัดสรรเงินในอนาคต นอกเหนือจากการเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว รัฐควรกำหนดเป้าหมายเพื่อลดจำนวนผู้ว่างงาน ตลอดจนการพัฒนาทักษะของแรงงานที่ได้รับผลกระทบให้สามารถหันไปประกอบอาชีพอื่นที่ตลาดต้องการได้ด้วย

ตัวอย่างรูปธรรมของการพัฒนาทักษะใหม่ เช่น การอบรมพนักงานบริการด้านนวดและสปา ให้มีทักษะด้านการดูแลคนชราและผู้ป่วย โดยอาศัยการร่วมมือกับโรงพยาบาลและสถานดูแลผู้สูงอายุ/ผู้ป่วย เป็นต้น

ภาครัฐควรวางแนวทางการบริหารจัดการอย่างน้อย 3 แนวทาง คือ

1) การกระจายอำนาจตัดสินใจคัดเลือกโครงการและการดำเนินงานไปยังจังหวัดต่างๆ โดยให้คณะกรรมการระดับจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ เช่น คณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด ทั้งนี้เพราะคนในพื้นที่จะมีความรู้เรื่องศักยภาพ ความต้องการของธุรกิจ ข้อมูลและข้อจำกัดต่างๆ ดีกว่าคณะกรรมการในส่วนกลาง และการบริหารจัดการระดับจังหวัดต้องไม่ใช่การแยกส่วนให้หน่วยราชการต่างคนต่างทำ แต่จะต้องบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ

ส่วนคณะกรรมการส่วนกลางควรมีบทบาทด้านการกำหนดเป้าหมาย แนวทางและหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการและจัดสรรงบประมาณ สำหรับจังหวัดที่ได้รับความเดือดร้อนมาก เช่น จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญควรได้รับการจัดสรรงบประมาณมากกว่า และการกำหนดนโยบายต่างๆ รัฐควรใช้ประโยชน์จากข้อมูลผู้ว่างงานและผู้ที่ถูกผลกระทบจากโควิดที่ได้จากการลงทะเบียนในโครงการต่างๆ โดยเฉพาะฐานข้อมูลเราไม่ทิ้งกันและบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย

ในการดำเนินงานตามแนวทางนี้ สภาพัฒน์ฯ จะต้องส่งคืนข้อเสนอโครงการกว่า 40,000 โครงการ เพื่อให้จังหวัดต่างๆทบทวนและยุบรวมโครงการต่างๆให้เกิดการบูรณาการด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย ซึ่งจะทำให้จำนวนโครงการของแต่ละจังหวัดลดลง เหลือจังหวัดละไม่เกิน 10-20 โครงการ วิธีนี้จะช่วยให้ต้นทุนการบริหารจัดการโครงการลดลง ก่อผลสัมฤทธิ์อย่างมีนัยสำคัญ แทนโครงการแบบเบี้ยหัวแตก อีกทั้งสะดวกต่อการติดตามและประเมินผล

2) การจัดตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในสภาพัฒน์ฯ ที่เป็นมืออาชีพและเป็นสถาบันค่อนข้างถาวร เนื่องจากการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นงานที่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี โดยมีเป้าหมายดำเนินการฟื้นฟูฯและสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง เป็นธรรมและยั่งยืน จึงต้องการผู้รับผิดชอบที่มีความรู้และประสบการณ์ทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้คำแนะนำแก่รัฐบาล โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณ การกู้เงิน การเก็บภาษีเพื่อชำระหนี้ การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม การพัฒนาทักษะความรู้ของแรงงานไทย ตลอดจนการพัฒนาความร่วมมือกับบริษัททั้งในประเทศและต่างชาติและรัฐบาลต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

องค์ประกอบของคณะกรรมการต้องเป็นผู้บริหารมืออาชีพและมีผู้ทรงคุณวุฒิคล้ายกับคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจมหภาคและงบประมาณ ซึ่งมีตัวแทนจาก 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สภาพัฒน์ฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรฐกิจการคลัง และสำนักงบประมาณ นอกจากนี้จะต้องมีผู้แทนหน่วยราชการที่ดูแลภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนและนักวิชาการ ร่วมด้วย

3) โครงการภายใต้แผนการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจควรเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรม
การสร้างงานและสร้างทักษะแรงงานตามความต้องการของตลาด ไม่ใช่ความต้องการของหน่วยราชการ

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ  ควรมีหลักการลงทุนที่คล้ายกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คือ ต้องเป็นการลงทุนที่เกื้อหนุนการลงทุนของภาคเอกชน (crowding-in investment) เพราะเงินที่ใช้ในนโยบายฟื้นฟูฯ ครั้งนี้เป็นเงินกู้ ยิ่งกว่านั้น รัฐควรสร้างกติกาและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อชักจูงใจให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้ลงทุนในโครงการต่างๆ ร่วมกับรัฐ วิธีนี้จะทำให้รัฐไม่ต้องกู้เงินจำนวนมากเพื่อลงทุนในอนาคต เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้มากขึ้นตามศักยภาพที่แฝงอยู่ในจังหวัดต่างๆ ของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาอาจไม่มีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลาง

[1] คำนวณจากผลการสำรวจแรงงานในไตรมาส 3/ 2563 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่พบว่ามีผู้มีงานทำถูกผลกระทบจากโควิด 19.96 ล้านคน หักผู้ที่ทำงานในภาคเกษตร 2.99 ล้านคน และผู้ที่เปลี่ยนรูปแบบการทำงานนอกภาคเกษตร 7.62 ล้านคน

[2] การสำรวจแรงงานไตรมาสที่ 3/2563 พบว่าผู้มีงานทำที่ถูกผลกระทบจากโควิด (คือ ตกงาน รายได้ลด ต้องลดชั่วโมงทำงาน แต่ไม่รวมการเปลี่ยนรูปแบบทำงาน)ในสาขาการค้าส่ง-ค้าปลีกมีจำนวน  2.55 ล้านคน โรงแรม 1.36 ล้านคน การผลิต 2.47 ล้านคน และการก่อสร้าง 0.91 ล้านคน