รื้อกฎหมายที่ดิน 3 ฉบับ จัดสรร-อาคารชุด-เช่าอสังหาฯ

ภาษีที่ดิน
คอลัมน์ ช่วยกันคิด
กรมที่ดิน

ในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจ ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2557 เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิในที่ดินของบุคคลและจัดการที่ดินของรัฐ โดยการรังวัดทำแผนที่ การออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน การให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ การส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศที่ดิน เพื่อให้บุคคลมีความมั่นคงในการถือครองที่ดิน และได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพ และให้การบริหารจัดการที่ดินของรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด

กรมที่ดินอยู่ระหว่างสำรวจรวบรวมกฎหมายในความรับผิดชอบ เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน

โดยกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมที่ดิน ได้แก่ ประมวลกฎหมายที่ดิน พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติช่างรังวัดเอกชน พ.ศ. 2535 และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ออกกฎหมาย และให้เป็นภารกิจของกรมที่ดิน 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ. 2562

การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 77 ที่กำหนดให้รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็น หรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวก และสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่าย เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง ฯลฯ

สอดคล้องกับมาตรา 35 ของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ประกอบมาตรา 5 และมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้ส่วนราชการมีหน้าที่สำรวจ ตรวจสอบ และทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ

เพื่อดำเนินการยกเลิก ปรับปรุง หรือจัดให้มีกฎหมาย กฎ หรือประกาศขึ้นใหม่ ให้ทันสมัยและเหมาะสมกับสภาวการณ์ หรือสอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ โดยคำนึงถึงความสะดวกรวดเร็ว และลดภาระของประชาชนเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ กรมที่ดินได้ดำเนินการทบทวนกฎหมายที่อยู่ในภารกิจไปบางส่วนแล้ว ดังนี้

(1) ประมวลกฎหมายที่ดิน แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนากฎหมายและกฎกระทรวงที่อยู่ในภารกิจของกรมที่ดิน โดยให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกรมที่ดิน ศึกษา วิเคราะห์ และตรวจสอบประเด็นและเหตุผลที่จะดำเนินการพัฒนาให้สอดคล้องกับนโยบายของส่วนราชการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ และตรวจสอบประเด็นและเหตุผลที่จะต้องดำเนินการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย

(2) พระราชบัญญัติช่างรังวัดเอกชน พ.ศ. 2535 ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง

ส่วนกฎหมายที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้

(1) พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543

(2) พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522

(3) พระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542

ในปี พ.ศ. 2562 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ออกกฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชน ในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ. 2562 โดยกำหนดให้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เป็นภารกิจของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมที่ดิน ถือว่าเป็นกฎหมายที่เริ่มมีผลใช้บังคับ ยังไม่มีประเด็นปัญหาอุปสรรคในการบังคับใช้ของกฎหมาย

นอกจากนี้ ในการดำเนินการตามความนัยพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 นายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศให้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ต้องดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายในปี พ.ศ. 2567 ดังนั้น จึงยังไม่สมควรทบทวน ปรับปรุง แก้ไข กฎหมายดังกล่าว