เข้าฤดูฝุ่น PM 2.5

แฟ้มภาพ
คอลัมน์ สามัญสำนึก
ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

กรุงเทพฯและปริมณฑล 2-3 วันนี้เริ่มกลับมาผจญกับปัญหามลพิษทางด้านฝุ่นละอองอีกครั้ง ล่าสุดจากเว็บไซต์รายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทยของกรมควบคุมมลพิษ ณ เช้าวันที่ 15 ธันวาคม พบว่ามากกว่า 70 จุดคุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ หรือขึ้นเครื่องหมาย “สีส้ม” ไปจนถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพหรือขึ้นเครื่องหมาย “สีแดง”

จากความหมายของสีที่แบ่งตามลำดับความรุนแรงออกเป็น 5 ระดับตามดัชนีคุณภาพอากาศ (air quality index หรือ AQI) ได้แก่ สีฟ้า คุณภาพอากาศดีมาก (0-25 มคก./ลบ.ม.) สีเขียว คุณภาพอากาศดี (26-50 มคก./ลบ.ม.) สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง (51-100 มคก./ลบ.ม.) สีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (101-200 มคก./ลบ.ม.) และสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ (201 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป)

ปรากฏว่าในเช้าวันนี้ (ตรวจวัดเมื่อเวลา 08.00 น.) กรุงเทพฯและปริมณฑลมีค่าคุณภาพอากาศที่เป็นสีแดงถึง 10 จุด ได้แก่ ริมถนนดินแดง เขตดินแดง ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงถึง 118 มคก./ลบ.ม. ค่า PM 10 เท่ากับ 172 มคก./ลบ.ม. โดยมีค่าดัชนี AQI อยู่ที่ 228 มคก./ลบ.ม., ริมถนนจรัญสนิทวงศ์ เขตบางพลัด ค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 112 ค่าดัชนี AQI อยู่ที่ 222, ริมถนนพระราม 4 หน้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน ค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 91 ค่าดัชนี AQI อยู่ที่ 222, ริมถนนศรีนครินทร์ เขตประเวศ ค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 93 ค่า PM 10 อยู่ที่ 146 ค่าดัชนี AQI 202

ริมถนนเจริญนคร ค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 104 ค่าดัชนี AQI 214, ริมถนนแยกท่าพระ ค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 95 ค่า PM 10 อยู่ที่ 129 ค่าดัชนี AQI อยู่ที่ 205, ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 8 เขตหนองแขม ค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 103 ค่าดัชนี AQI 213, ริมถนนสามเสน เขตพระนคร ค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 93 ค่าดัชนี AQI 203, ริมถนนพหลโยธิน เขตบางเขน ค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 92 ค่าดัชนี AQI 202 และ ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 91 ค่า PM 10 อยู่ที่ 133 และค่าดัชนี AQI 201

ในขณะที่อีกกว่า 58 จุด ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ AQI บ่งชี้อยู่ในพื้นที่ที่เป็น “สีส้ม (101-200 มคก./ลบ.ม.)” หรือคุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ส่งผลให้กรุงเทพมหานครช่วงนี้กลายเป็นมหานครที่มีคุณภาพอากาศติดอันดับ 1-5 ของเมืองที่แย่ที่สุดในโลกไปแล้ว

ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศมีแค่ ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรีเท่านั้นที่เป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งน่าจะเป็นผลกระทบมาจากการทำเหมืองหินเป็นหลัก

มีข้อน่าสังเกตว่าจุดที่ดัชนีคุณภาพอากาศ AQI อยู่ในพื้นที่สีแดงส่วนใหญ่จะเป็นริมถนนที่มีการจราจรหนาแน่น หรือเป็นสี่แยกใหญ่ที่มี “รถติดหนัก” เป็นปกติทุกเช้าของวันทำงานอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นถนนดินแดง-สามเสน-จรัญสนิทวงศ์-พหลโยธิน-สามย่าน-แยกท่าพระ

ด้านคณะอนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ออกมาอธิบายปัญหามลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพฯและปริมณฑลช่วงนี้เกิดจาก “ข้อจำกัด” การหนุนเวียนของอากาศทำให้อากาศในกรุงเทพฯมีความนิ่ง หรือพูดง่าย ๆ ว่า ลมไม่พัด ส่งผลให้อากาศในกรุงเทพฯเหมือนถูก “ฝาชี” ครอบไว้จนไม่มีการหมุนเวียนของอากาศที่อุดมไปด้วยฝุ่น ออกไป ทำให้ค่า AQI ในช่วงนี้ของกรุงเทพฯสูงขึ้น

นั่นหมายความว่า แท้ที่จริงแล้วปัญหาฝุ่นละอองมลพิษขนาดเล็ก PM 2.5 ในกรุงเทพฯตลอดช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่มีการติดตั้งเครื่องวัดค่าฝุ่น PM) นั้น “ไม่ได้ลดลงเลยมีแต่จะเพิ่มขึ้น” โดยต้นตอหลักมาจากการขนส่งทางถนนที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มรถยนต์ดีเซลขนาดเล็ก หรือ “รถปิกอัพ” ซึ่งจัดเป็นรถที่มีการระบายฝุ่น PM 2.5 มากที่สุด (2.78 กิโลตัน หรือคิดเป็น 36% ของการระบายฝุ่น PM 2.5 ทั้งหมด)

ดังนั้น หนทางเดียวที่จะลดฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ในกรุงเทพฯลงให้ได้ก็คือ การ “จำกัด” ปริมาณรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลลงให้เหลือน้อยที่สุด ทางออกถาวรสำหรับเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นประสิทธิภาพของระบบขนส่งมวลชนสาธารณะกับรถยนต์ไฟฟ้า EV ที่จะต้องเร่งให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด