‘Gig Worker’ แรงงานอิสระยุค 4.0 ความท้าทายสร้างสมดุลเศรษฐกิจดิจิทัล (1)

แรงงาน-เงิน
นอกรอบ
จรัสพงศ์ ศรีรัฐนันท์, เซฮา ยาทิม, Access Partnership

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมืองในยุคปัจจุบัน ภาพคนขับรถมอเตอร์ไซค์ที่สวมเสื้อแจ็กเกตเพื่อคอยให้บริการจัดส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นได้กลายเป็นสิ่งที่คุ้นตา และเห็นได้ทั่วไปในกรุงเทพฯ และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ ขณะเดียวกันคนไทยจำนวนไม่น้อยเริ่มคุ้นชินกับการใช้แอปพลิเคชั่นเรียกรถแทนการโบกเรียกแท็กซี่ตามท้องถนน แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวและเดินทาง

รวมถึงบริการเรียกรถผ่านแอป ผู้ใช้บริการลดลงมากในช่วงล็อกดาวน์ แต่ค่อย ๆ ฟื้นตัวหลังรัฐบาลประกาศผ่อนคลายขณะที่บริการฟู้ดดีลิเวอรี่ได้รับอานิสงส์ในเชิงบวกจากวิกฤต เนื่องจากคนไทยหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารนอกบ้าน หันมาสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นมากขึ้น

เศรษฐกิจดิจิทัลกับการขยายตัวของแรงงานอิสระ

ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งเปิดโอกาสให้มีรูปแบบการทำงานที่เป็นอิสระ หรือที่เรียกกันว่า “Gig Economy” ได้รับความนิยมมากขึ้น และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในบริการฟู้ดดีลิเวอรี่ และธุรกิจเรียกรถผ่านแอป ทั้งนี้ เป็นที่คาดการณ์ว่ารายได้ของธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่ในประเทศไทย ในระหว่างปี พ.ศ. 2564-2567 จะเติบโตขึ้นราว 11.3% โดยมูลค่ารวมของตลาดจะเพิ่มขึ้นจาก 329 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี พ.ศ. 2563 เป็น 455 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี พ.ศ. 2567

ขณะที่อุตสาหกรรมการให้บริการเรียกรถผ่านแอปในปีที่ผ่านมา มีมูลค่ารวมสูงถึง 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถือเป็นหนึ่งในตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ทั้งสองบริการได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้คนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพ ต้องหันมาพึ่งพาระบบเศรษฐกิจดังกล่าว

ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 คนที่เข้ามาทำงานในระบบ Gig Economy หรือกลุ่ม “gig worker” ส่วนใหญ่ ต้องการทำเป็น “อาชีพเสริม” เพิ่มช่องทางหารายได้ นอกเหนือจากงานประจำ เหตุผลหลักที่ทำให้รูปแบบของงานประเภทนี้ได้รับความนิยม คือ

1) ค่าตอบแทนที่น่าพอใจ และ 2) ความอิสระและเวลาในการทำงานที่ยืดหยุ่น

อย่างไรก็ดี จากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยอันเนื่องมาจากวิกฤตโควิด-19 คนที่หันมาทำงานในรูปแบบนี้เพื่อเป็นแหล่งรายได้หลักมีจำนวนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ทำให้มีคนขับหรือไรเดอร์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระหน้าใหม่หลั่งไหลเข้ามาในธุรกิจนี้เป็นจำนวนมาก จนเกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นและส่งผลกระทบต่อรายได้ของพวกเขาในที่สุด

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระเหล่านี้ รวมถึงภาคประชาสังคมบางส่วน ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดูแลในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม การให้ความคุ้มครองและการทำประกัน รวมถึงเสนอให้เปลี่ยนสถานะทางกฎหมายของแรงงานในระบบจาก “ผู้รับจ้างอิสระ” สู่การเป็น “พนักงาน” ของบริษัท

และเนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระเหล่านี้ไม่ได้รับการรับรองจากกฎหมายแรงงาน จึงส่งผลให้พวกเขาไม่ได้รับสวัสดิการหรือความคุ้มครองทางกฎหมายที่เหมาะสม ประเด็นนี้จึงกลายเป็นที่ถกเถียงว่า ควรหรือไม่ที่จะพิจารณาขยายบทบัญญัติเรื่องสวัสดิการแรงงานให้ครอบคลุมไปสู่ระบบ Gig Economy ด้วย

และแม้ว่ากลุ่มแรงงานอิสระเหล่านี้สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ในกรณีที่เกิดการเจ็บป่วย พิการ เสียชีวิต รวมทั้งสิทธิด้านเงินบำนาญ แต่กลับมีเพียง 55% จากกว่า 38.3 ล้านคน ในกองทุนประกันสังคมเท่านั้นที่เป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบ นั่นหมายความว่าแรงงานนอกระบบจำนวนมากยังคงไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้กองทุนประกันสังคม

แรงงานอิสระ…ประเด็นร้อนที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก

ประเด็นการเรียกร้องเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ที่ผ่านมาเราได้เห็นกรณีตัวอย่างในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ไรเดอร์คนขับนับร้อยคนที่รวมตัวกันประท้วงที่หน้าสำนักงานของ Grab ในกรุงฮานอย เพื่อต่อรองเรื่องการถูกเรียกเก็บค่าคอมมิสชั่นที่สูงขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา หรือ Garda Nasional หรือสหภาพคนขับรถจักรยานยนต์ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งข่มขู่ว่าจะปลุกระดมกลุ่มคนขับทั่วประเทศให้ออกมาประท้วง หากยังคงมีการเดินหน้าแผนเจรจาควบรวมกิจการระหว่าง Grab และ Gojek โดยไม่ได้รับความยินยอมจากสหภาพ ด้วยความกังวลว่าจะส่งผลให้มีการปรับลดจำนวนคนขับลง

และล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา คนขับรถส่งอาหารของ Ele.me ผู้ให้บริการฟู้ดดีลิเวอรี่ในประเทศจีน ซึ่งเป็นบริษัทในเครืออาลีบาบา ได้จุดไฟเผาตัวเองเพื่อประท้วงเรียกร้องการจ่ายค่าตอบแทน เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ได้จุดชนวนให้ประเด็น Gig Economy กลายเป็นที่สนใจในระดับโลก

ปัญหาที่หลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ คือ บทบัญญัติของกฎหมายแรงงานที่อาจล้าสมัย ไม่ครอบคลุมหรือคุ้มครองกลุ่มแรงงานอิสระ ปัจจุบันกฎหมายแรงงานของไทย แบ่งแรงงานออกเป็น 2 ประเภท คือ แรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระไม่ได้รับความคุ้มครองเต็มที่ตามสิทธิประกันสังคม มีเพียงสิทธิในการได้รับการคุ้มครองบางส่วนในฐานะผู้ประกันตนโดยสมัครใจเท่านั้น