ผ่าทางตัน “วัคซีนโควิด” เปิดทาง “เอกชน-ท้องถิ่น” จัดซื้อ

คอลัมน์ นอกรอบ
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

แม้วาระแห่งชาติการปูพรมฉีดวัคซีนจะคิกออฟอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2564 ขณะที่รัฐบาลได้จองซื้อวัคซีนหลายยี่ห้อรวมเบ็ดเสร็จ 100 ล้านโดสตามที่ประกาศไว้ แต่ปริมาณวัคซีนที่ได้รับการส่งมอบยังมีจำกัด ทำให้การจัดสรรและการกระจายวัคซีนหลายจังหวัดมีปัญหา ต้องประกาศเลื่อนระยะเวลาฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเนื่องจากปริมาณวัคซีนที่ได้รับจัดสรรไม่เพียงพอ เสียงวิพากษ์วิจารณ์การบริหารจัดการวัคซีนของรัฐจึงดังกระหึ่มอีกรอบ

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ได้ลงนามในประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 8 มิถุนายน 2564 ดังนี้

1.ให้มีการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครอบคลุมร้อยละ 70 ของจำนวนประชากร (ไม่น้อยกว่าห้าสิบล้านคน)

2.ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประสานงาน ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในการดำเนินการขึ้นทะเบียนวัคซีนให้เป็นไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ

3.ให้กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่และอำนาจในการให้บริการทางการแพทย์หรือสาธารณสุขแก่ประชาชน ร่วมมือกันในการดำเนินการจัดหา สั่ง หรือนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเร่งด่วน

4.สถานพยาบาลเอกชนและภาคเอกชนอาจจัดหา หรือขอรับการสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากหน่วยงานตามข้อ 3 ภายใต้กฎหมาย กฎระเบียบหรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

5.หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจัดหาวัคซีนมาให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ ให้จัดหาจากหน่วยงานตามข้อ 3 และต้องดำเนินการ

1) เป็นไปตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง

2) เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือแผนการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

3) สอดคล้องกับแนวทางบริหารจัดการวัคซีนภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือนายกรัฐมนตรีกำหนด

4) เป็นไปตามแนวทางหรืออยู่ในกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มิให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดหาวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ศักยภาพด้านงบประมาณและรายได้ที่แตกต่างกัน

5) สนับสนุนและให้ความสำคัญในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในพื้นที่ในการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อประโยชน์ต่อประชาชน ส่วนรวมของประเทศ

6.ให้หน่วยงานทุกภาคส่วนเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลกับระบบแพลตฟอร์มหมอพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของประชาชน และให้การบริหารจัดการข้อมูลเป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ดังกล่าวระบุว่า ตามที่ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และขยายระยะเวลาออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่องและมีประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์ที่นายกรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2564 นั้น

เพื่อเร่งรัดให้การขับเคลื่อนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตามวาระแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมมีประสิทธิภาพ และประชาชนได้รับประโยชน์โดยเร็ว เป็นไปตามมาตรการเร่งรัดการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคตามข้อ 5 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 23) ลงวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 โดยข้อเสนอของศูนย์ปฏิบัติการ ศบค. และคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จึงได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ดังนี้

ข้อ 1 ให้มีการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีคุณภาพและมีจำนวนเพียงพอแก่ประชาชน โดยอย่างน้อยให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของจำนวนประชากร (ไม่น้อยกว่าจำนวนประชากรห้าสิบล้านคน)

ข้อ 2 ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประสานงาน ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ผลิตวัคซีน ในการดำเนินการขึ้นทะเบียนวัคซีนให้เป็นไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ

ข้อ 3 ให้กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่และอำนาจในการให้บริการทางการแพทย์หรือสาธารณสุข แก่ประชาชน ร่วมมือกันในการดำเนินการจัดหา สั่ง หรือนำเข้าวัคซีน อย่างเร่งด่วน ให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วและทั่วถึงภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง หรือตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานนั้น ๆ กำหนด

ข้อ 4 เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้มากขึ้น สถานพยาบาลเอกชนและภาคเอกชนอาจจัดหาหรือขอรับสนับสนุนวัคซีนจากหน่วยงานตามข้อ 3 ภายใต้กฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาให้บริการประชาชนหรือบุคลากรในความดูแลได้ตามความเหมาะสม โดยวัคซีนดังกล่าวต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยา และต้อง
พิจารณากำหนดราคาวัคซีนและการให้บริการที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสม ฯลฯ

ข้อ 5 ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ผลิตหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรยังมีจำนวนจำกัด หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจัดหาวัคซีนมาให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ ให้จัดหาจากหน่วยงานตามข้อ 3 และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหลักเกณฑ์หรือแผนการใช้จ่ายงบประมาณและต้องสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินตามที่ ศบค. หรือนายกรัฐมนตรีกำหนด

การดำเนินการตามวรรคหนึ่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ให้เป็นไปตามแนวทางหรืออยู่ในการกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อมิให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดหาวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพด้านงบประมาณและรายได้ที่แตกต่างกัน และเพื่อให้การกระจายวัคซีนในห้วงเวลาวิกฤตมีความเป็นธรรมมากที่สุด

ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนและให้ความสำคัญในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในพื้นที่ในการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวมของประเทศ

ข้อ 6 ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทุกภาคส่วนเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลกับระบบแพลตฟอร์มหมอพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของประชาชนที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และเพื่อให้การบริหารจัดการข้อมูลเป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ