เจ็บแต่ไม่จบ แผลเป็นเศรษฐกิจ

คอลัมน์สามัญสำนึก
สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

การระบาดของโควิดระลอก 3 ยาวนานและรุนแรงกว่าที่คิด คลัสเตอร์ผุดเป็นดอกเห็ด ระบบสาธารณสุขของประเทศ บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้ารับภาระหนักต้านทานอย่างสุดกำลัง

โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ จนตอนนี้เกิดภาวะวิกฤตไม่มีเตียงผู้ป่วย ต้องรอคิวเป็นพันคน

ขณะที่ผลกระทบของโรคระบาดที่ยาวนานมากว่า 1 ปี สร้างบาดแผลลึกต่อระบบเศรษฐกิจไปทั่วทุกวงการ

โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี “คนตัวเล็ก” ของภาคเศรษฐกิจไทยที่มีจำนวนมหาศาล

แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

แต่ก็เป็นการช่วยต่อลมหายใจแบบวันต่อวัน หรือเดือนต่อเดือน และยังมีปัญหาเรื่องความทั่วถึง

ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อ การแพร่ระบาดยังเป็นกราฟขาขึ้น โดยเฉพาะความน่ากังวลจากการกลายพันธุ์ของไวรัส สายพันธุ์เดลต้า ทำให้ตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าการระบาดจะสิ้นสุดเมื่อไหร่

ช่วงชีวิตที่ขาดหายไปเพราะโควิด-19 อาจยาวนานกว่าที่คิด

เพราะหลายประเทศที่ “เหมือนจะชนะ” ในการต่อสู้กับโควิด-19 ล่าสุดก็กำลังโดนสายพันธุ์เดลต้าถล่ม ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศในอียู

ขณะที่ช่วงเวลานี้ประชาชนคนไทยอยู่ท่ามกลางความสับสนและความไม่เชื่อมั่นในการบริหารจัดการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้อง

ตั้งแต่เรื่องการบริหารจัดการวัคซีน มาตรการต่าง ๆ ในการจัดการคุมการระบาดของโรค

ขณะที่มาตรการเยียวยาช่วยเหลือธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งควรจะมาควบคู่กัน ก็มักจะมาไม่ถูกที่ ไม่ถูกเวลา ทำให้ปัญหาบานปลาย

สะท้อนจากนายกรัฐมนตรีออกมาประกาศนับถอยหลัง 120 วันเปิดประเทศ เพียงไม่กี่วันต่อมาก็ประกาศล็อกดาวน์กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ปิดแคมป์คนงานแบบไม่มีมาตรการเยียวยา จนแรงงานหนีกลับภูมิลำเนาเป็นผึ้งแตกรัง รัฐบาลจึงมาวิ่งแก้ปัญหา

รวมถึงบรรดาร้านอาหารที่เจอมาตรการห้ามนั่งกินที่ร้าน จนทนไม่ไหวต้องออกมาร้องผ่านสื่อ ผ่านโซเชียล

ทั้งหมดนี้กลายเป็นมาตรการที่ “เจ็บแต่ไม่จบ”

โดยเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50%

พร้อมตอกย้ำว่า การระบาดระลอก 3 ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าลงและไม่ทั่วถึงมากขึ้น แต่ก็เห็นว่าการเร่งดำเนินมาตรการทางการเงินอย่างสินเชื่อฟื้นฟู รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้จะช่วยภาคธุรกิจและครัวเรือนได้ตรงจุดมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันต่ำอยู่แล้ว

พร้อมกันนี้ ธปท.ได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 ลดลงมาอยู่ที่ 1.8% จากเดิม 3% ผลจากการปรับลดประมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติ และอุปสงค์ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอก 3

โดย นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง.กล่าวว่า โจทย์สำคัญแก้ปัญหาขณะนี้จะเป็นเรื่องการจัดหาและการกระจายวัคซีนที่เหมาะสม-เพียงพอและทันการณ์

เพราะในระยะ 4-5 เดือนหลังจากนี้จะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจไทย ในการแข่งขันระหว่างการ “จัดหาวัคซีน” และการ “กลายพันธุ์ของไวรัส”

และการระบาดระลอก 3 ที่ยืดเยื้อกระทบต่อตลาดแรงงานมาก จากตัวเลขล่าสุด พบว่าเมื่อเทียบกับวิกฤตการเงิน วิกฤตน้ำท่วม และการเมือง พบว่าการฟื้นตัวของตลาดแรงงานรอบนี้ช้ากว่ารอบอื่นและเปราะบางมากกว่า

นักศึกษาจบใหม่หางานทำยากขึ้น โดย ณ ไตรมาสแรกปี 2564 มีผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนอยู่ที่ราว 2.6 แสนคน

นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ว่างงานแบบระยะยาวมากกว่า 1 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจสร้างแผลเป็นเศรษฐกิจที่แก้ไขได้ยาก หากไม่ดูแลจัดการอย่างทันท่วงที