“ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ความหวังคนท่องเที่ยว

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติธุรกิจ
ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า
[email protected]

 

ลุ้นกันมาร่วม 5-6 เดือนสำหรับโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์”

ฝ่าฟันอุปสรรคและสารพัดปัญหายันนาทีสุดท้ายก่อนเครื่องของสายการบินเอทิฮัด ไฟลต์บินแรกแลนดิ้งลงสู่สนามบินนานาชาติภูเก็ตราว 11 โมงเช้าของวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ทั้งประเด็นการรอประกาศราชกิจจาฯ การอนุมัติใบรับรองเข้าประเทศ หรือ COE ระบบการตรวจสอบการฉีดวัคซีน การทำโควิดเทสต์ หรือ PCR test ที่สนามบิน ฯลฯ ล้วนเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตามอง

และลุ้นกันหนักมากว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่บินออกจากต้นทางแล้วจะต้องมาเผชิญกับปัญหาความไม่พร้อมที่หน้าด่านตรวจคนเข้าเมืองของสนามบิน

ไม่เพียงเท่านั้น ทุกคนยังอยู่ในสภาพกดดันสุด ๆ เพราะงานนี้นายกฯ “บิ๊กตู่” ตอบรับมาเป็นประธานต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในวันเปิดตัวภูเก็ตแซนด์บอกซ์ด้วยตัวเอง

เรียกว่า ทำเอาหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหายใจหายคอกันได้ไม่ทั่วท้องนัก

แต่ในที่สุดปัญหาที่สะสมกันมาตลอด 5-6 เดือนที่ผ่านมาก็สามารถจบได้ในชั่วพริบตา ราวยกภูเขาออกจากอก เมื่อนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เข้ามาวันแรกกว่า 300 คนไม่เจอปัญหา ดราม่าว่าลงเครื่องปุ๊บถูกจับยัดเข้าโรงแรมกักตัว (ALQ) ตามที่มีกระแสข่าวออกมาก่อนหน้านั้น

1 กรกฎาคม 2564 จึงน่าจะเป็นวันบันทึกประวัติศาสตร์ ของคนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเป็นวันที่ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยเริ่มต้นนับ 1 เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่กักตัว หลังเผชิญวิกฤตโควิดกันมากว่า 1 ปีครึ่งก็คงไม่ผิดนัก

ภารกิจเพื่อชาติครั้งนี้ต้องชื่นชมกระทรวงการท่องเที่ยวฯ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดภูเก็ตที่ร่วมกันผลักดัน อดทนกับทุกปัญหา เพื่อทำให้ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ประสบความสำเร็จ และเดินหน้าต่อไปได้ท่ามกลางกระแสการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ค่อนข้างหนักหน่วงอยู่ในขณะนี้

หลายคนถามว่า ท่ามกลางการกลับมาแพร่ระบาดอย่างหนักของไวรัสโควิดอีกครั้งในเวลานี้ ทำไมรัฐบาลยังดื้อและเดินหน้าเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ หากนักท่องเที่ยวต่างชาตินำเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ๆ เข้ามาอีกจะรับมือกันไหวไหม

ในมุมกลับกันถามว่า ถ้าภูเก็ตไม่เปิด “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ยังไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะตายหรืออย่างไร

ประเด็นนี้ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับผู้คร่ำหวอดในวงการท่องเที่ยวหลายคนต่างมองในทิศทางเดียวกันว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยตายไปแล้วปีกว่า เหลือกลุ่มที่อยู่รอดกันไม่ถึง 20%

ขณะที่ก่อนหน้านี้ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยเป็นธุรกิจที่ช่วยขับเคลื่อน GDP ประเทศถึง 18% หากรัฐบาลต้องการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ จำเป็นอย่างมากที่ต้องหันมาช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยกลับมาฟื้นตัว

การทยอยเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจึงเป็นกลไกที่สำคัญมาก และหากยังปิดประตูแน่นไม่ยอมเปิดประเทศ เพราะกลัวการแพร่ระบาดของโรคเพียงด้านเดียว คนในประเทศ “อดตาย” แน่

กระทั่งหลายคนพูดกันว่า เวลานี้คนไทยส่วนใหญ่น่าจะกลัว “อดตาย” มากกว่ากลัว “ติดโควิด” เพราะติดโควิดก็แค่รักษาตัว ยังมีโอกาศรอด ไม่ตายทั้งหมด

และเห็นด้วยอย่างมากที่รัฐบาลประกาศนโยบายเปิดประเทศ 120 วัน

ขณะที่ “ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม” นายกสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เล่าที่มาที่ไปของโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ว่า ตลอดช่วงปีกว่าที่ผ่านมา เศรษฐกิจของภูเก็ตซึ่งพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวถึง 95% นั้นตายสนิท และมองกันว่าตราบใดที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา เศรษฐกิจของจังหวัดไม่มีทางเดินต่อได้

ในทางกลับกันนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยเป็นแฟนพันธุ์แท้ของภูเก็ต รวมถึงพันธมิตร คู่ค้าที่อยู่ทั่วโลกก็บอกว่ามีดีมานด์ของนักท่องเที่ยวที่อยากเข้ามาภูเก็ต คนในภาคท่องเที่ยวจึงมาช่วยกันคิดหาโซลูชั่นว่าจะเปิดรับต่างชาติที่ทำให้ทั้งคนในจังหวัดภูเก็ตและนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเกิดความสบายใจและมั่นใจอย่างไร

และจะบาลานซ์ระหว่างการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กับการดูแลการแพร่ระบาดของโควิดอย่างไร

สุดท้ายสรุปออกมาเป็น “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ที่ทุกภาคส่วนช่วยกันแจ้งเกิดสำเร็จแล้ว ประเด็นต่อจากนี้คือ จะช่วยกันประคับประคองให้แข็งแรงและใช้เป็นโมเดล “ต้นแบบ” ที่ดีให้กับพื้นที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่อยู่ในแผนต่อไป เพราะเชื่อว่าถ้า “ภูเก็ต” รอด พื้นที่อื่น ๆ ก็มีโอกาสที่จะ “รอด” ด้วยเช่นกัน


วันนี้แม้ว่า “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” จะเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็น “โมเดล” แห่งความหวังของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย