โควิด-อนาคตเยาวชน ปรับการเรียนรู้ Lifelong Learning

คอลัมน์ นอกรอบ
ดร.ขจรพงษ์ พูลสวัสดิ์

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ยินข่าวการฆ่าตัวตายของเด็กนักเรียน ม.4 เนื่องจากความเครียดจากการเรียนออนไลน์ ทำให้ผมรู้สึกว่าวิกฤตการเรียนเป็นสิ่งสำคัญ จำเป็นที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อหาทางออกของเหตุการณ์นี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ครู นักเรียน ผู้ปกครอง โรงเรียน ภาคการศึกษา และรัฐบาล จะต้องลงมาร่วมหาทางออก และถอยคนละก้าว

คำถามที่ว่าทำไมต้องถอยคนละก้าว เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง ผมขอเริ่มต้นจากการพูดคุยกับลูกศิษย์ทั้ง ม.4 ม.5 และ ม.6 ที่ผมสอนอยู่ ว่าผลกระทบจาก COVID-19 ต่อวิถีของลูกศิษย์นั้นเป็นอย่างไร สิ่งที่ผมได้ทราบจากน้อง ๆ คือ COVID-19 ส่งผลต่อการเรียน (เกรด) ความเครียด วิถีชีวิต และที่สำคัญ กระทบไปถึงมุมมองต่อสภาพแวดล้อมของตัวน้อง ๆ เอง ที่มันเริ่มกัดกินเข้าไปในจิตใจของพวกเขา

เช่น อย่างการเปิดเทอม ม.4 ในเทอมนี้ ยังไม่มีใครได้เจอกันเลย น้อง ม.5 ก็อยู่ระหว่างการปรับตัวเข้าสังคมกับเพื่อน ก็ขาดกิจกรรมร่วมกัน ทั้งกีฬาสี ไม่ได้มีการแสดงออก สร้างจุดยืน และการสร้างตัวตนของตนเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมในวัยรุ่น โดยเฉพาะ ม.6 ที่ต้องเตรียมตัวเข้ามหา’ลัย มองว่าเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต เป็นต้น เราต้องอย่าลืมว่า COVID-19 นี้เปรียบเสมือนสงครามโลก ที่สงครามอยู่ในรูปแบบโรคระบาด มีความน่ากลัว และกระทบจิตใจนักเรียน ไม่แพ้ผู้ใหญ่ที่ต้องทำมาหากินเหมือนกัน

ผมรับรู้ถึงความรู้สึกของน้อง ๆ จากความกังวลและความไม่แน่นอน กลายเป็นความเจ็บปวด และมีโอกาสกลายเป็นบาดแผล ที่จะส่งผลกระทบไปยังอนาคตของน้อง ๆ นักเรียนรุ่นนี้เลย ผลกระทบเริ่มจากความเครียดในตอนเรียนออนไลน์

ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งของครูให้เปิดกล้อง แต่สภาพบ้านไม่พร้อม ทั้งอายครูและอายเพื่อน การไม่มีสมาธิกับการเรียน มีสิ่งหลอกล่ออยู่มาก เช่น เครื่องเล่นเกม ของเล่น ขนม อาหาร social media ฯลฯ และงานที่ครูหลายคนสั่งก็เยอะ จนไม่สามารถทำงานได้เสร็จทัน

การที่นักเรียนจะควบคุมตัวเองได้จากสิ่งหลอกล่อหรือการบังคับตนเอง จำเป็นจะต้องมีการฝึกฝนอยู่เป็นประจำมาก่อน ไม่ใช่ว่าจะสามารถปฏิบัติได้เลยในทันที และการที่ไม่ได้ไปโรงเรียน ก็ยิ่งเป็นจุดกระทบต่อสภาพจิตใจ อึดอัดไม่ได้เจอเพื่อน ไม่ได้ออกกำลังกาย ไม่ได้ออกจากบ้าน และการที่มีคนอยู่ที่บ้านเยอะ พ่อแม่ทำงานที่บ้าน เสียงดัง จะสามารถกระทบกระทั่งกันได้ตลอดเวลา

คุณครูเองก็มีความรู้สึกและหน้าที่ที่จะต้องสอนให้ทัน จึงต้องอัดความรู้ให้ได้มากที่สุด เพราะกลัวจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นอีก ครูจะต้องปรับวิธีการเรียนการสอนใหม่ พร้อมทั้งต้องเรียนรู้ หาอุปกรณ์ ลองวิธีการใช้ใหม่หมด ถึงแม้ว่าเราเคยได้ปรับมาเรียนออนไลน์กันมาบ้างแล้วก็ตาม คุณครูเองยังคงต้องหาวิธีการ เทคนิคเพื่อดึงความสนใจของนักเรียน

และแม้ว่าการเรียนออนไลน์จะเป็นเทคโนโลยีที่สื่อสารกันสองทาง ครูเองยังคงได้รับความเงียบจากการถามแล้วไม่ตอบเช่นเคย ก็เปรียบเสมือนครูพูดอยู่คนเดียว ด้วยในโลกที่ไม่เปิดกล้อง ไม่เห็นหน้า ไม่รู้ว่าใครอยู่หลังกล้อง และยังต้องระวังคำพูดในการสอน เพราะกลัวว่าจะหลุดไปเป็นวงกว้างอย่างที่เป็นข่าว มันน่าหนักใจยิ่งนัก

และการจะดึงความสนใจของนักเรียนนั้น ก็เปรียบเสมือนครูนั้นเป็นสื่อทีวีที่จะต้องการดึงความสนใจผู้ชมกลับมาจากสื่อออนไลน์นั้นเอง จึงทำให้ครูจะต้องใช้พลังงาน จิตใจ และเทคนิคมากมาย เพื่อรักษาความสนใจนั้นไว้ให้ได้

ผู้ปกครองนั้นโดนผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 เข้าทุกทาง ไม่ว่าจะโดนเรื่องงาน งานหนักเป็นหลายเท่าต้องทำงานที่บ้าน ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการทำงาน และยังต้องมีหน้าที่เป็นครู ผู้ปกครอง พ่อแม่ เจ้านาย พร้อมทั้งเป็นลูกของคนในบ้านในเวลาเดียวกัน การรักษาอารมณ์เป็นเรื่องที่ทำได้ลำบาก เมื่อเจอกับความวุ่นวายจากผลของการเรียนออนไลน์ ก็ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันเป็นประจำ

การแบ่งขอบเขตของงานและชีวิตส่วนตัวเริ่มหายไป การได้พักผ่อน การได้ออกจากบ้าน และการผ่อนคลายเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หรือเรียกว่าแทบจะไม่ได้ พร้อมทั้งวิกฤตการเงินที่กำลังเดินเข้ามาในอีกไม่ช้า ทำให้ผู้ปกครองนั้นมีความกังวล เครียด จนเข้าขั้นจะวิกฤตทางอารมณ์ได้ในอีกไม่ช้า

เมื่อเรามองเห็นภาพรวมของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ล้วนแล้วโดนวิกฤตเข้าเล่นงานอย่างหนักไม่ต่างกัน ส่งผลจนกระทบเข้าไปถึงจิตใจอย่างมาก แต่เนื่องด้วยครูและผู้ปกครองนั้นผ่านประสบการณ์ที่มีมากกว่านักเรียน หน้าที่ของเราจึงจำเป็นต้องไปดูแลนักเรียน หรือลูก ๆ เพื่อให้เขาผ่านวิกฤตไปได้อย่างดีที่สุด เพราะผลกระทบทางจิตใจนั้นเป็นแผลลึกและระยะยาว จึงควรต้องได้รับการดูแลอย่างรวดเร็ว

ส่วนใหญ่บาดแผลจะเกิดจากการผิดหวัง ทั้งในการเรียนและชีวิต ความไม่เข้าใจกัน และกระทบกระทั่งทางอารมณ์ระหว่างกัน ซึ่งส่งผลต่อความฉลาดทางอารมณ์ และความมั่นคงทางจิตใจ [1] วิธีการหนึ่งที่ใช้ได้ผลและเรามักจะลืม คือ การพูดคุย การสื่อสารในยาม
วิกฤตเป็นสิ่งจำเป็น เมื่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และน้อง ๆ ได้ระบาย รับฟัง สนทนา ผลคือทำให้เกิดความเข้าใจ และการผ่อนคลาย แล้วจึงจะสามารถหาทางออกร่วมกันได้

เมื่อได้มีการสื่อสาร ความเข้าใจกันและกันจึงเกิดขึ้น การถอยคนละก้าวจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับวิธีการเรียนแบบเดิม มาเป็นวิถีการเรียนเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตซึ่งนั่นจะต้องได้รับความร่วมมือระหว่างนักเรียน ผู้ปกครอง และครู ในการปรับลดวิธีการ ขั้นตอน ที่ไม่จำเป็น พร้อมทั้งต้องมีการประเมินผู้เรียนตามสภาพจริง (Authentic Assesment) [2] เป็นการประเมินศักยภาพของผู้เรียน มากกว่าที่จะประเมินว่าผู้เรียนสามารถจดจำความรู้อะไรได้บ้าง และสามารถนำความรู้นั้นไปใช้ได้ในชีวิตจริง จึงจะเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ช่วยให้เราผ่านวิกฤตการเรียนในครั้งนี้ไปได้

การเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงมีบทบาทอย่างมากในปัจจุบัน เพราะการเรียนรู้ตลอดชีวิตจะไม่ใช่การเรียนเพื่อการสอบผ่านแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นนักสำรวจที่มีความกระตือรือร้น และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

เป็นบุคคลซึ่งสามารถสะท้อนประสบการณ์แง่คิดในชีวิต เป็นผู้ที่ให้ความปรารถนาของตนเองประสบความสำเร็จ และยังเป็นผู้บูรณาการการเรียนรู้ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่สามารถเหมาะที่จะนำมาปรับใช้ต่อเหตุการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นในตอนนี้ และในอนาคตได้

การปรับการเรียนรู้แบบเดิมและมาเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) [3] ที่ซึ่งหัวใจหลักคือ การตระหนักของผู้เรียนให้สามารถเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาตนเองแล้วนำไปสู่ความเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้จึงจำเป็น เพราะโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถเรียนรู้จบในวันเดียวได้ ต้องไม่หยุดการเรียนรู้ พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงไม่รู้จบ

หมายเหตุ – 1.รุ้ง ศรีอัษฎาพร 2558, บุคลิกภาพเเละความสามารถในการสื่อสารจากวัยเด็กสู่วัยทำงาน, สำนักพิมพ์เเห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ครั้งที่ 1, กรุงเทพมหานคร.

2.ผศ.ดร.ชาตรี เกิดธรรม, การประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assessment), คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์

3.UNESCO Institute for Education (2001). Revisiting Lifelong Learning for the 21st Century. Hamburge Art Angel Printshop.