สอบไม่ผ่านสื่อสารในภาวะวิกฤต

บทบรรณาธิการ

ปีเศษที่ผ่านมานับตั้งแต่โควิด-19 แพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทยช่วงต้นปี 2563 หากประเมินผลงานด้านการสื่อสารของภาครัฐ นอกจากจะสอบตก ได้คะแนนต่ำจนน่าตกใจแล้ว ความไม่ชัดเจน ลักลั่น ยังก่อให้เกิดความสับสน ทำให้สาธารณชน ประชาชนไม่เข้าใจในสิ่งที่ทางการต้องการสื่อสาร บ่อยครั้งที่ซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายมากขึ้น

ล่าสุดการประกาศล็อกดาวน์ จำกัดการเดินทาง การปิดสถานที่เสี่ยง การกำหนดระยะเวลาห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ฯลฯ เป้าหมายหลักเพื่อลดการติดเชื้อ การเสียชีวิต ใน กทม. ปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สะท้อนถึงปัญหาเรื่องการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนของรัฐบาล ประชาชน ภาคธุรกิจในฐานะผู้รับสารต้องคาดเดาไปต่าง ๆ นานา โดยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปล่อยให้สถานการณ์อึมครึม ถูกตั้งคำถาม ข้อสงสัย แทนที่จะชี้แจงทำความเข้าใจให้กระจ่าง

การไม่ยอมให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา หรือให้ข้อมูลข่าวสารไปคนละทิศละทาง พูดความจริงแค่บางส่วนไม่ใช่ทั้งหมด สวนทางกับสิ่งที่จำเป็นต้องทำในภาวะวิกฤต ที่ควรให้ข้อมูลข้อเท็จจริงโดยรอบด้านอย่างรวดเร็วทันสถานการณ์ นำมาซึ่งสารพัดปัญหา

วัคซีนขาด วาระแห่งชาติการปูพรมฉีดวัคซีนสะดุด ผู้ป่วยโควิดล้นโรงพยาบาล เตียงขาด ระบบสาธารณสุขใกล้รับไม่ไหว ยิ่งทำให้คนตื่นตระหนก เสียขวัญ แต่น่าแปลกใจที่บทเรียนความผิดพลาดซึ่งเกิดขึ้นซ้ำ ๆ รัฐไม่เคยนำไปปรับแก้ไข

เช่นเดียวกับการประกาศล็อกดาวน์ ตามข้อเสนอของศูนย์บริหารสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. นอกจากไม่มีการขยายเกี่ยวกับมาตรการเข้มข้นที่จะถูกนำมาใช้ ให้สาธารณชนเข้าใจ เพื่อจะได้ปฏิบัติตรงกันแล้ว คำถาม ข้อสงสัย เรื่องการช่วยเหลือเยียวยา แผนกระจายวัคซีนจะเดินต่ออย่างไร ก็ไม่มีการชี้แจงให้ชัด เพื่อคลายความวิตกกังวล

การไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา การให้ข้อมูลข่าวสารไปคนละทิศละทาง พูดความจริงบางส่วนไม่ใช่ทั้งหมด สวนทางกับสิ่งที่ควรทำในภาวะวิกฤต โดยให้ข้อมูลข้อเท็จจริงรอบด้านด้วยความรวดเร็ว ให้ประชาชนตื่นตัว และตระหนักในวิกฤตที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็จะมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนไม่สับสน

14 วันนับจาก 12 ก.ค. ช่วงล็อกดาวน์ สกัดการแพร่กระจายของเชื้อ แม้หยุดโควิดได้ไม่อยู่ แต่เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลต้องแก้วิกฤตการสื่อสาร หยุดความอลวนอลเวงจากการบริหารจัดการวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาระบบสาธารณสุขกำแพงแตก รับมือผู้ป่วยผู้ติดเชื้อที่ยังพุ่งกระฉูดไม่ไหว ควบคู่กับเร่งฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน ตัวช่วยสุดท้าย เพราะนี่คือสิ่งเดียวที่จะปลุกเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นให้ฟื้น