อย่าห่วงแค่ส่งออกหลังโควิด

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
กษมา ประชาชาติ

 

แม้ว่าภาพรวมการส่งออกของไทยเดือนกรกฎาคม 2564 มูลค่า 22,650.83 ล้านเหรียญสหรัฐ ยังขยายตัว 20.27% ส่งผลให้ส่งออกสะสม 7 เดือนแรก (มกราคม-กรกฎาคม) 2564 มีมูลค่า 154,985.48 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 16.20% สูงกว่าเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์วางไว้ที่ 4%

โดยการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม รวมถึงตลาดสำคัญของไทยขยายตัวเกือบทั้งหมด

ทั้งยังมีปัจจัยเกื้อหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ สหรัฐ สหภาพยุโรป จีน และตัวเลขดัชนี PMI หรือการใช้ global manufacturing การจัดซื้อของโลกเดือนนี้มีตัวเลขที่เกินกว่า 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ก.ค.อยู่ที่ 54 และเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง และราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูงทำให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องปรับตัวดีขึ้น

แต่ทว่า “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังยอมรับว่า “ห่วง” ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดที่ขยายวงกว้างในกลุ่มโรงงานและภาคการผลิต ว่าอาจมีผลต่อตัวเลขส่งออกนับตั้งแต่ช่วงปลายกรกฎาคมเป็นต้นไป ไปถึงสิงหาคม และกันยายนซึ่งเป็นช่วงที่เราเริ่มล็อกดาวน์ โรงงานต้องปิด ทำให้ไม่สามารถผลิตและส่งออกได้ต่อเนื่อง

“กระทรวงพาณิชย์จึงยังคงเป้าหมายการส่งออกว่าจะเติบโตที่ 4% พร้อมย้ำว่าการดูแลภาคการผลิตเป็นสิ่งสำคัญต่อการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ตัวสุดท้ายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”

ในฝั่งโรงงานผลิตเอง ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยก็ออกมายอมรับว่า การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรงงานด้วยวิธีการตามมาตรการ “factory sandbox” ที่รัฐกำหนดนั้น ถือเป็นแนวคิดที่ดี แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละมาตรการมีข้อจำกัดและส่งผลต่อภาคเอกชนในระดับต่างกัน

ยกตัวอย่างเช่น หากดำเนินการตรวจ RT-PCR 100% แยกผู้ป่วย รักษาได้ทันที เป็นเรื่องยากหากเป็นโรงงานที่พนักงานมีจำนวนมาก การตรวจวิธีนี้ใช้เวลานาน และหาสถานที่ยาก เพราะโรงพยาบาลไม่ค่อยรับตรวจ

ส่วนการตรวจโดย antigen test kit (ATK) ทุกสัปดาห์ มีค่าใช้จ่ายสูงมาก คิดง่าย ๆ ราคาชุดตรวจ ATK ประมาณ 200-300 บาทต่ออัน เมื่อคิดต่อหัวพนักงาน ใน 1 เดือน ตรวจทุกสัปดาห์ค่าใช้จ่ายเป็นหลักแสน

พร้อมคำนวณออกมาเสร็จสรรพว่า การทำ factory sandbox โรงงานที่มีพนักงาน 500 คน จะมีค่าตรวจ RT-PCR คนละ 1,000 บาท รวม 500,000 บาท ค่าตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ ชุดละ 200 บาท ถ้าตรวจสัดส่วน 150 คน เฉลี่ยเดือนละ 120,000 บาท

ส่วนขั้นตอนการทำ bubble and seal (กรณีที่ยังไม่ติดเชื้อ) ถ้าเป็นโรงแรมระดับ 3 ดาว เฉลี่ยเดือนละ 120,000 บาท แต่ถ้าเช่าโกดังสร้างห้องน้ำก็จะมีค่าใช้จ่ายตามทำเล และปัจจัยอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีค่าจัดสถานที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอุปกรณ์ที่นอน อุปกรณ์ทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

และขั้นตอนการแยกผู้ป่วยทำ factory isolation ถ้าเป็น hospitel ค่าใช้จ่าย 1,500 บาทต่อคนต่อวัน ถ้าทำ 5% ของ 500 คน หรือเท่ากับ 25 คน รวม 525,000 บาท

กรณีที่ทำ factory isolation หมายความว่า แยกให้พักในโรงงาน จะมีค่าใช้จ่าย 10,000 คนต่อเตียง หากจัดสรรพื้นที่สำหรับพนักงาน 5% หรือ 25 จาก 500 คน เป็นต้นทุน 250,000 บาท ไม่รวมค่าอาหารคนละ 300 บาทต่อวัน รวม 14 วัน เป็น 105,000 บาท คร่าว ๆ เอกชนต้องมีเงินถึง 355,000 บาท จึงจะทำได้ นี่ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าชุดตรวจ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากำจัดขยะติดเชื้อ ค่ายา ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ และอื่น ๆ

นอกจากนี้ factory isolation ยังใช้เวลาสร้างนาน เพราะขึ้นอยู่กับจำนวนเตียง

ส่วนการไปเช่า “hospitel” แม้ว่าจะเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ก็มีจำนวนจำกัด เพราะผู้ทำ hospitel ต้องได้รับการอนุมัติ และส่วนใหญ่แล้ว hospitel จะไม่รับผู้ป่วยจำนวนมาก และจะไม่รับผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการหนัก ทั้งยังขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์บางอย่าง เช่น เครื่องวัดออกซิเจน ส่วนค่าใช้จ่ายก็สูงเฉลี่ย 1,500 บาทต่อคนต่อวัน ดังนั้นโรงงานที่จะเช่าโรงแรมต้องมีค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 30,000-50,000 บาทต่อวัน บวกค่าอาหารพนักงานอีกวันละ 300 บาทต่อคน แต่หากไปเช่าสถานที่อื่นที่ถูกกว่า เช่น โกดัง ต้องสร้าง “ห้องน้ำ” เพิ่ม ซึ่งต้องใช้เวลา 1 เดือน เท่ากับต้องเสียค่าเช่าเปล่า 1 เดือน

ส่วน community isolation ศูนย์พักคอย หรือโรงพยาบาลสนามในชุมชน ถือเป็น “ทางออก” แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไม่สามารถสร้าง factory isolation ได้ แต่ก็ยังต้องฝ่าด่านการขอประชาพิจารณ์ของชุมชนก่อน ว่าจะยอมให้ตั้งได้หรือไม่

ดังนั้นในวันนี้ factory sandbox ทำได้แต่ไม่ครบ เพราะยังต้องรอความหวังจากภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนสภาพคล่องในการดำเนินการเพื่อให้แต่ละโรงงานที่ยังไม่มีออร์เดอร์สามารถปฏิบัติตามได้

และที่สำคัญทุกปัญหาที่ผ่านมาจะมีบทสรุปได้ หากการกระจายวัคซีนทั่วถึงและมากเพียงพอสำหรับพนักงาน 100%

แต่หากเราเป็นเอกชน เทียบง่าย ๆ ถ้าเราต้องจ่ายเงินซื้อระบบกันขโมยแพงกว่ามูลค่าบ้านแล้ว ย่อมไม่คุ้มค่าที่จะอยู่ในบ้านนั้น แน่นอนว่าเราคงต้องหาทางขายหรือย้ายบ้านไปอยู่ทำเลอื่นให้ไวที่สุดเลย

ฉะนั้นอย่าห่วงเลยว่าจะคงกำลังการผลิตเพื่อส่งออกปีนี้ไว้ได้ไหม แต่ควรห่วงว่าจะรักษา “ฐานผลิต” ให้อยู่ในประเทศไทยต่อไปได้ไหมจะดีกว่า