แก้โควิดด้วยวิธีประชาธิปไตย ดีกว่ารวบอำนาจ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาตื

ณัฐวุฒิ ประชาชาติ

ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล หนักหน่วง ตลอด 4 วัน

คนที่อยู่ในบัญชีซักฟอก ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์

เป้าใหญ่ฝ่ายค้านอยู่ที่การอภิปรายกล่าวหา “พล.อ.ประยุทธ์” และ “อนุทิน” จากการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ผิดพลาด ฉีกแผนจัดซื้อ “วัคซีนลวงโลก-เส้นใหญ่-เน้นสายสัมพันธ์” จนถึงปมเงินทอน วัคซีน-Antigen Test Kit ข้อกล่าวหาของรัฐมนตรีคนอื่น ประเด็นอื่น ๆ ประหนึ่งเป็นเพียงเรื่องประกอบฉาก

แต่สิ่งที่ไม่อาจมองข้ามคือ พรรคฝ่ายค้าน หยิบเอาภาพที่เกิดขึ้นจริงในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่มีปัญหาความไม่บูรณาการระหว่างหน่วยงาน ความกลับไป-กลับมาในข้อสั่งการผู้นำประเทศ-ความไม่พร้อมในหลาย ๆ ด้าน มาย่อยให้ชาวบ้านได้ฟัง

ฟากฝ่ายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์-อนุทิน ลุกขึ้นมาตอบเป็นช่วง ๆ ตอบเคลียร์-ไม่เคลียร์ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณส่วนบุคคล

ที่แน่ ๆ พล.อ.ประยุทธ์ยังอยู่ในตำแหน่งนายกฯต่อไป

แต่อีกด้าน หนังสือ Ten Lessons for a Post-Pandemic ชื่อภาษาไทย “บทเรียนเพื่อโลกหลังการระบาด” ของ “ฟารีด ซาคาเรีย” นักเขียน คอลัมนิสต์ และนักวิจารณ์การเมืองของ The Washington Post

ได้วิเคราะห์ “บทเรียน” เรื่อง “คุณภาพของรัฐบาล” เทียบระหว่างสหรัฐ กับอีกหลาย ๆ ประเทศ ที่รับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19

“ฟารีด” ยกตัวอย่างความล้มเหลวของระบบสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา ช่วงที่ถูกโควิด-19 โจมตีระลอกแรก ยุคประธานาธิบดีชื่อว่า “โดนัลด์ ทรัมป์”

แม้ระบบสาธารณสุขของสหรัฐก่อนเกิดโควิด-19 ได้รับการจัดอันดับจากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ ที่เผยแพร่ดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพโลก ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ว่าประเทศใดเตรียมความพร้อมดีที่สุดเพื่อรับมือการระบาด หรือการระบาดใหญ่

แน่นอนว่า สหรัฐถูกยกให้เป็นอันดับที่ 1 แต่กลายเป็นเรื่องตลกร้ายเมื่อสถานการณ์จริงมาถึง เพราะพลเมืองสหรัฐติดเชื้อโควิด-19 กว่า 25% ของผู้ติดเชื้อทั่วโลก ทั้งที่ประชากรสหรัฐมีแค่ 5% ของประชากรโลก

ฟารีดฉายภาพว่า ปัญหาคือ “ทรัมป์” ไม่สามารถทำให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางทั้งหมด ร่วมมือกันต่อสู้โควิด-19 ได้ เกิดความล้มเหลวของหน่วยงานสาธารณสุข CDC ในการแจกจ่ายอุปกรณ์ตรวจเชื้อที่ผิดพลาด

องค์การอาหารและยาก็เตะถ่วงการใช้กระบวนการเร่งด่วน ที่จะอนุญาตให้ห้องปฏิบัติการเอกชนผนึกช่องว่างการตรวจหาเชื้อ ระบบตรวจเชื้อล้มเหลว เพราะตรวจเชื้อหลายสิบครั้งมีคุณภาพแตกต่างกันไป

และรัฐบาลกลางก็มอบอำนาจหน้าที่และระเบียบมากมายให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ จนเกิดความใหญ่ เทอะทะ และซับซ้อนองค์กร เป็นรัฐซ้อนรัฐ จนทำให้ล้มเหลวทั้งกระดาน

เปรียบเทียบกับจีน ที่คนภายนอกเห็นว่า สามารถควบคุมโรคได้รวดเร็วและอยู่หมัด เพราะมีรัฐบาลเทคโนแครตที่ทรงพลัง ล็อกดาวน์ได้ทันท่วงที สามารถเนรมิตโรงพยาบาลใหม่ 2 แห่ง เสร็จภายในไม่ถึง 2 สัปดาห์ เพื่อแยกกักตัวผู้ป่วย

แต่แท้จริงแล้ว จีนก็มีข้อผิดพลาดร้ายแรง เพราะความที่ระบอบการเมืองเข้มแข็งและพาวเวอร์ฟูล ภายใต้รัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในยุคของ “สี จิ้นผิง” กลับปกปิดความร้ายแรงของการระบาดของโควิด-19 ในช่วงแรก ให้เหลือน้อยที่สุด ย้ายบุคลากรทางการแพทย์ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ

เข้มงวดในการตีพิมพ์บทความวิทยาศาสตร์ของโควิด-19 เป็นเนื้อแท้ของระบอบการเมืองจีน ที่ต้องการควบคุมข้อมูลข่าวสารอย่างเบ็ดเสร็จ

“ฟารีด” ยกตัวอย่างอีกว่า เมื่อพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดทั้งหมดที่บันทึกไว้ตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา ของนิตยสารดิ อีโคโนมิสต์ พบว่า รัฐบาลเผด็จการมักรับมือการแพร่ระบาดผิดพลาดอยู่บ่อยครั้ง

โดยทั่วไปรัฐบาลประชาธิปไตยจัดการกับการระบาดได้ดีกว่า ทำให้อัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับประเทศเผด็จการที่มีรายได้ระดับเดียวกัน

เขายังยกความคิดของ “อมาตยา เซน” นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ชาวอินเดีย พบว่ารัฐบาลประชาธิปไตยมีแนวโน้มตอบสนองต่อภาวะอดอยากได้ดีกว่ารัฐบาลเผด็จการ เพราะกุญแจสำคัญในการป้องกันการลุกลามก็คือข่าวสารที่ไหลเวียนอย่างเสรี แรงกดดันนี้จึงตกไปอยู่กับเจ้าหน้าที่รัฐ-นักการเมือง ที่มาจากการเลือกตั้ง

ที่ทำไม่ดี ก็ไม่มีโอกาสกลับเข้าสู่สภา เพราะประชาชนไม่เลือก เฉกเช่นโดนัลด์ ทรัมป์ ที่อยู่ในอำนาจแค่ 4 ปี ไม่อาจครองทำเนียบขาวได้เป็นสมัยที่สอง

หรือญี่ปุ่นที่เจอการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าจนอ่วนไม่แพ้ประเทศไทย การฉีดวัคซีนก็ล่าช้าเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

แรงกดดันทำให้ “โยชิฮิเดะ ซูงะ” นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง หลังขึ้นตำแหน่งมาเพียง 1 ปีเท่านั้น

ดังนั้น การแก้ไขโควิด-19 ด้วยวิธีประชาธิปไตย ย่อมดีกว่าการบริหารแบบรวบอำนาจ-เผด็จการ