“ลอยตัวน้ำตาล” จะแท้ง ? คนไทยกินของแพงต่อไป

โดย กฤษณา ไพฑูรย์

นับถอยหลังอีกไม่กี่วัน การเปิดหีบอ้อยในฤดูการผลิตปี 2560/2561 จะเริ่มขึ้น แต่จนถึงขณะนี้นโยบาย “การลอยตัว” ราคาน้ำตาลภายในประเทศ ที่เดิมกำหนดจะประกาศใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 ยังไม่สามารถหาบทสรุปได้ และมีทีท่าจะเลื่อนยาวออกไป

หากย้อนหลังไปดูเรื่องการลอยตัวน้ำตาล ถือเป็นเรื่องที่พูดกันมาเนิ่นนานกว่า 20 ปี โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้เคยว่าจ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ให้ศึกษาเรื่อง “การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย” มาถึง 2 ครั้ง แต่ผ่านไปหลายปีไม่มีความก้าวหน้าใด ๆ

เนื่องจากลึก ๆ ในใจทั้งฝ่ายชาวไร่อ้อย และฝ่ายโรงงานน้ำตาล ต่างไม่มีใครอยากจะแก้กฎหมาย และระเบียบใด ๆ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องราคาน้ำตาลโควตา ก. เพื่อบริโภคภายในประเทศ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกันอย่างลงตัว เพราะราคาควบคุมที่ 18 บาทต่อกิโลกรัม สูงกว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลก มีเพียง 3-4 ปีต่อครั้งเท่านั้น ที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะสะวิงสูงกว่า ซึ่งไม่ได้เห็นบ่อยนัก

ขณะที่ฝ่ายชาวไร่อ้อยได้ประโยชน์จากการขอมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่สมัยคุณสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ให้มีมติบวกราคาขายน้ำตาลโควตา ก.เพิ่มอีก 5 บาท คิดเป็นเงินเฉลี่ยปีละประมาณ 12,000-13,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินดังกล่าวที่ผลักภาระให้ผู้บริโภคแบกรับไว้ชำระหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้มาเพิ่มค่าอ้อยให้ชาวไร่ในทุก ๆ ปี

จนมาถึงยุครัฐบาล คสช.มีเหตุให้ต้องหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมา “ปัดฝุ่น” ใหม่อีกครั้ง เนื่องจากถูกรัฐบาลบราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลเบอร์ 1 ของโลก ได้ยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ในเดือนพฤษภาคม 2559 กล่าวหารัฐบาลไทยใช้มาตรการอุดหนุนการส่งออกและอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลภายในประเทศ จนส่งผลกระทบต่อการส่งออกและอุตสาหกรรมน้ำตาลของบราซิล

โดยประเด็นหลัก บราซิลร้องว่าไทยอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลสูงมาก และให้ไทยยกเลิกประกาศราคาน้ำตาลทรายในประเทศ ที่ประกาศกระทรวงพาณิชย์ กำหนดราคาไว้ที่ 23.50 บาทต่อกิโลกรัม โดยต้องเคลื่อนไหวตามทิศทางราคาน้ำตาลในตลาดโลก รวมถึงการอุดหนุนให้ผู้บริโภคซื้อน้ำตาลแพงด้วยการบวกเงิน 5 บาทเพิ่มเข้าไปในราคาขาย เพื่อนำเงินไปใช้หนี้ให้ชาวไร่อ้อย

และการยกเลิกการจัดระบบการจำหน่ายน้ำตาลทรายออกเป็นโควตา ก. เพื่อบริโภคในประเทศ, โควตา ข. ส่งออกโดยบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) และโควตา ค. น้ำตาลที่ส่งออกไปต่างประเทศที่เหลือหักจากโควตา ก.และโควตา ข.

แต่จนถึงวันนี้หลากหลายประเด็นที่ต้องเร่งแก้ไข ยังไม่สามารถหาข้อยุติระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลได้

โดยแหล่งข่าวในวงการอ้อยน้ำตาล กระเส็นกระสายมาว่า ถึงวันนี้มีรายละเอียดหลายเรื่องยังตกลงวิธีการปฏิบัติกันไม่ได้ แต่ที่หนักสุดคงเป็นเรื่องที่ฝ่ายชาวไร่พยายามจะให้โรงงานบวกราคาขายหน้าโรงงานเพิ่มเข้าไปอีก 2-3 บาท เพิ่มจากสูตรลอยตัวราคาน้ำตาล ซึ่งจะใช้ฐานราคาน้ำตาลตลาดลอนดอน No.5 บวกราคาไทยพรีเมี่ยม เป็นราคาอ้างอิงกลางซึ่งหลายโรงงานไม่เห็นด้วย เพราะไม่มีกฎหมาย หรือระเบียบ หรือมติ ครม.รองรับ เกรงจะทำผิดกฎหมาย ต่างกับโครงสร้างเดิมที่บวก 5 บาทมีมติ ครม.รองรับ

ความล่าช้าที่เกิดขึ้นคาดการณ์กันว่าการเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2560/2561 ที่จะมีขึ้นอีกไม่กี่วัน คงต้องยึดหลักปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล พ.ศ. 2527 และกฎระเบียบต่าง ๆ ตามเส้นทางเดิม ๆ ต่อไป

นั่นหมายถึงเงินกู้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย 5,800 ล้านบาทที่มีอยู่จะมีเงินมาใช้หนี้ และหากปีถัดไปยังตกลงกันไม่ได้ กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะมีเงินสะสมเป็นก้นถุงไว้ใช้ได้อีกหลายหมื่นล้านบาททีเดียว กว่าจะเปิดเสรีลอยตัวน้ำตาลในอนาคตอีกไม่รู้กี่ปี

นั่นหมายถึงคนไทยคงต้องแบกรับภาระเงิน 5 บาท ด้วยการกินน้ำตาลราคาแพงกว่าตลาดโลกกันต่อไป