1 พ.ย. ดีเดย์ เปิดโรงเรียนทั่วประเทศ

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP
สามัญสำนึก
ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

เหมือนว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศจะชะลอตัวลง แต่ไม่ได้หมายความว่ามันกำลังจะหมดไปโดยเร็ววันนี้ จากตัวเลขคนติดเชื้อทั่วประเทศล่าสุดย้อนหลังไป 10 วันยังคงขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ระหว่าง 10,000 ถึง 14,000 คนต่อวัน ตายเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าวันละ 100 คน (ล่าสุดวันที่ 24 กันยายน ติดเชื้อ 12,697 ราย ตาย 132 ราย)

แต่รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเดินหน้าที่จะเปิดเมือง เปิดพื้นที่ท่องเที่ยว ไปจนกระทั่งถึงการเปิดประเทศให้ได้ โดยหนึ่งในนั้นก็คือ ความพยายามที่จะให้กิจกรรมต่าง ๆ ภายในประเทศกลับมาสู่ภาวะก่อนโควิด

รวมไปถึงการเปิดการเรียนการสอนในโรงเรียนที่เกี่ยวข้องกับเด็กไม่ต่ำกว่า 4.5 ล้านคน โดยที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ได้อนุมัติในหลักการให้ฉีดวัคซีน Pfizer

ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA ให้แก่นักเรียน-นักศึกษาที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี ในรูปแบบ “วัคซีนนักเรียน” ผ่านทางสถาบันการศึกษา ทั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาในสังกัดของรัฐบาลและเอกชน

การจัดหาวัคซีน Pfizer ให้กับนักเรียน-นักศึกษาในแง่ของประสิทธิภาพถูกอ้างมาจากข้อมูลการศึกษาและการใช้จริงในประเทศสหรัฐ ยุโรป และอิสราเอลที่ว่า วัคซีนชนิดนี้สามารถป้องกันการติดเชื้อทั้งหมดได้ร้อยละ 95 ป้องกันการติดเชื้อที่ไม่มีอาการได้ร้อยละ 91

และป้องกันการนอนโรงพยาบาลจากการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ร้อยละ 97 แต่ยังพบอาการไม่พึงประสงค์ข้างเคียงที่ค่อนข้างร้ายแรง อาทิ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่ก็มีเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก

วิธีการฉีดวัคซีน Pfizer ขนาดต่อโดส ตัววัคซีนจะถูกบรรจุมาในขวดแก้วสำหรับใช้หลายโดส ใน 1 ขวดบรรจุวัคซีน 0.45 มิลลิลิตร ต้องนำมาเจือจางแล้ว 1 ขวด วัคซีนจะประกอบไปด้วยวัคซีน 6 โดส โดสละ 30 ไมโครกรัม ใน 0.3 มิลลิลิตร ใช้ฉีดเข้าชั้นกล้ามเนื้อ กำหนดการฉีดวัคซีน 2 ครั้งห่างกัน 3-4 สัปดาห์

แต่เนื่องจากวัคซีน Pfizer ต้องผ่านการเก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำเป็นพิเศษ ดังนั้น การนำวัคซีนออกมาใช้งานจึงต้องผ่านการละลายจากการแช่แข็งเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศา ได้สูงสุด 1 เดือน นับจากวันที่นำออกมาจากอุณหภูมิติดลบ และวัคซีนที่ยังไม่ได้เจือจางสามารถเก็บได้ที่อุณหภูมิห้องได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง

ดังนั้น กรมควบคุมโรคจึงต้องเป็นผู้จัดส่งวัคซีนและอุปกรณ์ในการฉีดให้กับสถานพยาบาล รวมทั้งติดตามผลการฉีดวัคซีน Pfizer ด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้การฉีดวัคซีน Pfizer ให้กับนักเรียน-นักศึกษาจะเป็นไปโดยสมัครใจ แต่ต้องได้รับความยินยอมทั้งจากตัวนักเรียนและผู้ปกครองด้วยการเซ็น “ใบยินยอม” ก่อน หลังจากนั้น ทางสถานศึกษาจึงรวบรวมจำนวนนักเรียน-นักศึกษาที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน รวมไปถึงรายชื่อครูและบุคลากรที่ต้องการฉีดวัคซีนเพิ่มแจ้งยอดมาที่กรมควบคุมโรคต่อไป

ล่าสุดกรมควบคุมโรคได้จัดทำไทม์ไลน์ในการดำเนินการฉีดวัคซีน Pfizer ด้วยการกำหนดวันเริ่มต้นฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ให้กับนักเรียนอายุ 12-18 ปี ระหว่างวันที่ 4-24 ตุลาคม และเริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม-15 พฤศจิกายน 2564

นั้นหมายถึงจะต้องฉีดวัคซีนให้ได้วันละไม่น้อยกว่า 150,000 คน จึงจะครอบคลุมจำนวนนักเรียน-นักศึกษา 4.5 ล้านคนทั่วประเทศได้

แต่ Pfizer ไม่ได้เป็นวัคซีนชนิดเดียวที่ถูกฉีดให้กับนักเรียน เนื่องจากทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เองก็ได้เปิดโครงการ VACC 2 School ซึ่งเป็นโครงการวิจัยด้วยการฉีดวัคซีน Sinopharm ให้กับเด็กอายุระหว่าง 10-18 ปี นำร่องจำนวน 2,000 คนไปแล้ว ควบคู่ไปกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำลังพิจารณาขึ้นทะเบียนวัคซีน Sinopharm สำหรับการฉีดให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปอยู่

โดยการเร่งฉีดวัคซีนทั้ง 2 ชนิด ต่างก็มีเป้าหมายเดียวกันที่จะให้โรงเรียน สถานศึกษา สามารถกลับมาเปิดการเรียนการสอน (ภาคเรียนที่ 2/2564) ตามปกติให้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป