เมื่อบริษัทใหญ่ตลาดหุ้น “ลดพนักงาน” นับแสน

หุ้นตก
สามัญสำนึก
สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

จากที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงปี 2563-2565 จะทำให้เกิด “หลุมดำรายได้” คาดว่ารายได้จากการจ้างงานจะหายไปถึง 2.6 ล้านล้านบาท

การจ้างงานถูกกระทบรุนแรง ข้อมูล ณ ไตรมาส 2/2564 พบว่ามีผู้ว่างงาน/เสมือนว่างงาน (ทำงานไม่ถึง 4 ชม.ต่อวัน) รวมสูงถึง 3 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3.4 ล้านคนในสิ้นปีนี้

ขณะที่หลายฝ่ายอาจคิดว่าการปรับ “ลดพนักงาน” เกิดขึ้นแค่ในภาคธุรกิจบริการท่องเที่ยว หรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สายป่านสั้นและได้รับผลกระทบจากพิษโควิด

แต่จากข้อมูลล่าสุดที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดรายงานวิจัยเกี่ยวกับแรงงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) พบว่า ปี 2563 ที่ผ่านมาบริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการปรับลดพนักงานไปจำนวนมากเช่นกัน กว่า 1 แสนคน

รายงานวิจัยระบุว่า ปี 2563 มีบริษัทจดทะเบียนทั้งสิ้น 743 บริษัท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 17 บริษัท มีพนักงานรวม 1,608,495 คน แม้ว่าบริษัทในตลาดหุ้นจะมีพนักงานเพิ่มขึ้น 130,643 คน เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากที่มีบริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่

แต่มีข้อมูลน่าสนใจว่า สำหรับบริษัทจดทะเบียนเดิมที่มีการรายงานข้อมูลพนักงานต่อเนื่อง 3 ปี จำนวน 619 บริษัท ปี 2563 มีจำนวนพนักงาน 1,263,634 คน พบว่าเป็นตัวเลขการจ้างงานที่ “ลดลง” จากปีก่อนหน้า 119,109 คน หรือลดลง 9%

โดยระบุถึงการลดจำนวนพนักงานว่าป็นผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 จึงมีมาตรการรัดเข็มขัด บางบริษัทยอดขายลดลงต่อเนื่อง ต้องปิดสาขาหรือยุติการดำเนินธุรกิจบางส่วน

และอีกส่วนเกิดจากการแยกธุรกิจออกมาจดทะเบียนเป็นบริษัทย่อย ทำให้พนักงานในบริษัทเดิมลดลง

แน่นอนว่าในภาวะวิกฤตและทุก ๆ การเปลี่ยนแปลง ธุรกิจก็ต้องปรับตัวเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และรักษาการเติบโตของกำไร ดังนั้น การ “ลดค่าใช้จ่าย” ด้วยการปรับลดพนักงานจึงเป็นแนวทางหนึ่ง

ทำให้พบว่าปีที่ผ่านมาบริษัทจดทะเบียนในเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมจ้างงาน “ลดลง” และเซ็กเตอร์ที่มีการจ้างงานพนักงานลดลงมากที่สุดคือ “กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร” (56 บริษัท) จ้างงานลดลง 50,625 คน หรือ -19.5%

กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (110 บริษัท) จ้างงานลดลง 31,000 คน หรือ -15% ตามด้วยกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (43 บริษัท) ลดลง 7,000 คน หรือ -13%

กลุ่มธุรกิจการเงิน (63 บริษัท) ลดลง 12,000 คน หรือ -7% กลุ่มธุรกิจบริการ (138 บริษัท) ลดลง 20,000 คน หรือ -5% และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ลดลง 4,000 คน หรือ -4%

มีเพียง 2 เซ็กเตอร์ที่จ้างงานเพิ่มขึ้นคือ กลุ่มทรัพยากร/พลังงาน จ้างเพิ่ม 3,209 คน หรือเพิ่มขึ้น 5% และกลุ่มเทคโนโลยีและการสื่อสาร จ้างงานเพิ่ม 1,000 คน หรือ 1%

แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะมีโครงการสนับสนุนการจ้างงาน co-payment 50% (ไม่เกิน 7,500 บาท) พบว่ามีการจ้างงานภายใต้โครงการ 1.4 แสนคน แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับขนาดของปัญหาที่เกิดขึ้น

และล่าสุดรัฐบาลมีแผนพยุงการจ้างงานกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีพนักงานไม่เกิน 200 คน ด้วยการสนับสนุนค่าจ้าง 3,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน ก็อาจช่วยซื้อเวลา เลิกจ้างงานได้ แต่ปัญหายังคงอยู่ เพราะเมื่อธุรกิจจำนวนมากไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้เช่นเดิม รวมถึงต้องปิดกิจการไป

ปัญหาแรงงานยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องวางยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยหลังยุคโควิด นำไปสู่แผนการจัดการทรัพยากรบุคคลของประเทศต่อไป