“เกรท วอลล์ฯ” มาแรง ค่ายรถอเมริกัน-ญี่ปุ่นกระเจิง

ชั้น 5 ประชาชาติธุรกิจ
กฤษณา ไพฑูรย์

 

ร้อนแรงไปทั่วทุกหัวระแหง เมื่อค่ายรถสัญชาติจีนต่างตบเท้าเดินพาเหรดเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย

โดยเฉพาะ “เกรท วอลล์ มอเตอร์” (Great Wall Motor-GWM) ที่รุกคืบเข้ามาตีตลาดในจังหวัดหัวเมืองหลักของไทย

ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ได้ก้าวขึ้นเป็นแบรนด์รถยนต์ที่มียอดขายสูงสุดของเซ็กเมนต์คอมแพ็กต์เอสยูวีของประเทศไทย ด้วยยอดขายและส่งมอบ All New HAVAL H6 Hybrid SUV กว่า 408 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาด 34.3 เปอร์เซ็นต์

ทั้งที่การเจาะตลาดสำหรับค่ายรถหน้าใหม่ในต่างจังหวัด ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 และเศรษฐกิจที่ซบเซา แม้ราคาจะถูกกว่าค่ายรถญี่ปุ่น

บวกกับความฝังใจของคนไทยบางส่วน มองสินค้าจีนถูกมองเหมารวมยกเข่งว่า “คุณภาพไม่ดี ใช้ไม่กี่ทีก็พัง” ! ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ตัดสินใจเป็น “ดีลเลอร์” ให้ค่ายรถจีน กล้านำรถจีนมาขาย ย่อมเท่ากับการก้าวเข้าไปประทับตรา “การันตีคุณภาพ” ให้สินค้าจีนไปแล้วส่วนหนึ่ง

และต้องอาศัยฝีมือที่เก๋าเกม มีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่กว้างขวาง เป็นที่น่าเชื่อถือภายในจังหวัดนั้น ๆ อย่างมากทีเดียว

“ศิริชัย ปิติเจริญ” ประธานกรรมการ บริษัท พี.ที.เจริญธุรกิจ จำกัด อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ผู้จัดจำหน่ายรถแบรนด์ MG ซึ่งเป็นค่ายรถจีน เล่าให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่า เริ่มแรกเป็นดีลเลอร์ค่ายรถยนต์เชฟโรเลตในนามบริษัท พีทีซี.ออโต้เซลส์ จำกัด มาตั้งแต่ 16 ปีที่ผ่านมา และเมื่อปี 2560 ได้ขยายกิจการทำ 2 แบรนด์ควบคู่กัน โดยนำบริษัท พี.ที.เจริญธุรกิจ จำกัด มาจัดจำหน่ายรถให้กับบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) หรือ MG

“ตอน MG เข้ามาใหม่ ๆ ผมยอมรับว่าคนไทยยังกังวล แต่ด้วยความที่ MG เป็นแบรนด์อังกฤษ ทำให้คลายความกังวลได้ในระดับหนึ่ง และพิสูจน์ให้เห็นว่า สินค้าของจีนหลายอย่างมีคุณภาพ ผมเคยคุยกับนักธุรกิจจีนคนหนึ่งบอกว่า คนไทยชอบคิดว่าสินค้าจีนไม่ดี”

“แต่จริง ๆ อยู่ที่คุณจ่ายเงิน ถ้าคุณคิดจะซื้อสินค้าจีนราคาถูก คุณก็ได้สินค้าไม่ดี แต่ถ้าคุณพร้อมจ่ายเงิน คุณจะได้สินค้าที่มีคุณภาพ ไม่ใช่ผมขาย MG แล้วมาเชียร์ MG แต่ด้วยวิธีการของ MG ที่ผ่านมา ทำให้คนไทยยอมรับโปรดักต์จากจีนโดยเฉพาะทางด้านรถยนต์ และจีนจริง ๆ เน้นรถยนต์พลังงานทางเลือกเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นเทรนด์ตามอุตสาหกรรมยานยนต์”

สอดคล้องกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการดีลเลอร์อย่างเห็นได้ชัด เมื่อดีลเลอร์ค่ายรถอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ต่างตบเท้า “ปลดป้าย” ไม่ต่อสัญญากับค่ายรถยอดนิยมดั้งเดิมที่ค้าขายกันมานาน หันมาซบอก “เกรท วอลล์ มอเตอร์” กันเป็นแถว

ส่วนหนึ่งด้วยเพราะการ “ฉีกกฎเกณฑ์เงื่อนไข” จากค่ายรถดั้งเดิมที่บังคับต้องลงทุนเปิดโชว์หรูหรา ด้วยเงินลงทุนสูงลิ่วหลาย 10 ล้านบาท และต้องมีการปรับปรุงโชว์รูมต่อเนื่อง แถมยังต้องซื้อรถสต๊อกเงินจมไว้หลังบ้านพร้อมส่งมอบให้ลูกค้า ขณะที่ยอดขายท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาดิ่งหัวลง

แต่การขายรถให้ “เกรท วอลล์ มอเตอร์” นั้น ดีลเลอร์ไม่ต้องสต๊อกรถ ไม่ต้องทำโชว์รูมใหญ่โต เพียงทำหน้าที่ให้ลูกค้าทดลองขับรถ เมื่อลูกค้าใช้ GWM Application เช็กข้อมูลรายละเอียดทุกอย่างก่อนตัดสินใจซื้อ สามารถไปทดลองขับรถได้ที่ดีลเลอร์ โดยกำหนดราคารถแบบ “one price” ในไทยเป็นที่แรก

ยกตัวอย่างในหัวเมืองหลักภาคอีสาน เช่น อุดรธานีและอุบลราชธานี เมื่อมีข่าวว่ากลุ่มทุนท้องถิ่นอุดรธานี “เจริญศรี” ได้ประกาศยุติบทบาทการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์มาสด้า หลังจบสัญญาในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 มาเปลี่ยนเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ “เกรท วอลล์ มอเตอร์” ทั้งที่เพิ่งลงทุนไปหลายล้านในการปรับปรุงโชว์รูมมาสด้าไปเมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา

แหล่งข่าวผู้คร่ำหวอดในวงการยานยนต์ในจังหวัดอุดรธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เกรท วอลล์ มอเตอร์ เปลี่ยนระบบใหม่ คือ ทำตลาดผ่านออนไลน์ และให้ลูกค้ามารับรถที่โชว์รูม ทุกคนจับตามองว่าระบบนี้ใช้ได้จริงหรือไม่ และดีลเลอร์กินเพียงค่าหัวคิว ก็ต้องมองว่าจะใช้ได้จริงหรือไม่

และที่สำคัญ สามารถล็อกราคาได้ราคาเดียวจากบริษัทแม่ เป็นไปได้ที่ทางกลุ่มทุนเจริญศรี นำพื้นที่ด้านหน้าโชว์รูมปล่อยเช่า เพราะลดพื้นที่การโชว์รถลง เพราะทางเกรท วอลล์ฯมีนโยบายขายผ่านออนไลน์ และให้ลูกค้ามารับรถที่โชว์รูมเท่านั้น

ขณะที่ “เครือบริษัท เจริญชัยกรุ๊ป” จ.อุบลราชธานี ซึ่งคร่ำหวอดในแวดวงรถจักรกลทางการเกษตรด้วยการเป็นดีลเลอร์ให้รถคูโบต้า และเป็น “ดีลเลอร์เชฟโรเลต” ได้เลิกกิจการในส่วนของ “เชฟโรเลต” หันมาขายรถเกรท วอลล์ มอเตอร์ ทั้งสาขาเชียงใหม่ และอุบลราชธานี

อย่างไรก็ตาม รถจีนที่เข้ามาตีตลาดตอนนี้ จึงเป็นที่น่าจับตามอง “ทั้งด้านกลยุทธ์และวิธีการขาย”


ซึ่งวงการดีลเลอร์รถเมืองไทยหลายเจ้าที่กำลังโดนรุมจีบ และกำลังตัดสินใจอย่างกลัว ๆ กล้า ๆ ว่าจะขายดีหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไปอย่างไม่กะพริบตา ดั่งภาษิตที่่ว่า “หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน (รถจีน)”