Functional Foods มาแรง ‘ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ’ ในยุโรป (จบ)

อาหาร ธัญพืช
นอกรอบ

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ
ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

 

ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพเติบโตได้อย่างไร ความต้องการของผู้บริโภคมีมากน้อยแค่ไหนมีข้อควรพิจารณาดังต่อไปนี้

COVID-19 กระตุ้นความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ประชากรโลกให้ความสำคัญการบริโภคอาหารมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพเปลี่ยนไป ดังนี้

– ความต้องการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น เช่น ขมิ้นชัน ขิง วิตามิน แร่ธาตุพรีไบโอติก โปรไบโอติก

– คนออกกำลังกายเพิ่มขึ้นส่งผลให้ตลาดผลิตภัณฑ์โภชนาการกีฬาเติบโต เช่น เครื่องดื่มโปรตีน เกลือแร่ เครื่องดื่มเพิ่มพลังงาน ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด (กาเฟอีน ทอรีน ซิทรูลีน)

– ผู้บริโภคกลัวการปนเปื้อนของเชื้อ COVID-19 ที่อาจติดมากับอาหารหรือบรรจุภัณฑ์ ผู้ประกอบการจึงต้องเสริมสร้างความเชื่อมั่นโดยยกระดับความแข็งแกร่งของมาตรการควบคุมคุณภาพ ความปลอดภัยสุขอนามัย และตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน

– ผู้บริโภควิตกกังวลและเครียดในช่วง COVID-19 ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ การนอนหรือนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า จึงมองหาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยผ่อนคลาย ทำให้การนอนหลับดีขึ้นหรือมีสุขภาวะจิตที่ดี เช่น อาหารเสริมหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของสาร cannabidiols (CBD) ช่วยให้ผ่อนคลาย

– พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนจาก healthy eating ไปสู่ eating for health โดยเน้นอาหารที่ส่งเสริมสุขภาพ และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง

– เพื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภคเลือกซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ง่ายขึ้น ส่วนผู้บริโภคมีแนวโน้มซื้ออาหารอินทรีย์ อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอาหารที่ใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ (clean label) เพิ่มมากขึ้น

ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า อาหารเพื่อสุขภาพจะเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น เพราะมีหลายปัจจัยที่ส่งเสริมการเติบโตของตลาด ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้บริโภคยินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพ

โดยคาดว่าความต้องการซื้ออาหารเพื่อสุขภาพดังต่อไปนี้จะเป็นที่นิยมมากขึ้น ได้แก่

(1) อาหารเสริมภูมิคุ้มกันและช่วยการทำงานของระบบย่อยอาหาร เช่น อาหารที่มีส่วนผสมของสมุนไพร เห็ด วิตามิน โยเกิร์ต นมเปรี้ยวอาหารที่ผ่านการหมักด้วยจุลินทรีย์อาหารที่มีกากใยสูง

(2) อาหาร-เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของพรีไบโอติก โปรไบโอติก หรือสาร cannabidiols (CBD) เพื่อสุขภาพกาย และสุขภาวะทางจิตที่ดี

(3) เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมจากพฤกษาธรรมชาติหรือสมุนไพร เช่น ชามะลิ ชากุหลาบ ชาขิง กาแฟกลิ่นวานิลลา หรือคาราเมล โดยผู้ประกอบการจะปรับปรุงเครื่องดื่มให้สอดคล้องกับความต้องการผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น ลดปริมาณน้ำตาลหรือเป็นเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล ช่วยผ่อนคลาย

(4) อาหารทางเลือกที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติโดยเฉพาะวัตถุดิบที่มีแหล่งที่มาจากพืช เช่น แป้งหรือเส้นพาสต้าที่ใช้ธัญพืชเทียม (ควินัว บักวีต เมล็ดเจีย) ผลิตภัณฑ์นมหรือเนื้อเทียมที่ใช้โปรตีนจากพืช ของว่าง ทำจากสาหร่ายอาหารที่ใช้โปรตีนจากแมลงที่มีความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพร เครื่องเทศ สารธรรมชาติสกัดจากพืช/สัตว์/อาหารทะเล โปรตีนจากแมลง โปรตีนจากพืช ฯลฯ อีกทั้งไทยมีภาคอุตสาหกรรม อาหารที่เข้มแข็งและเป็นผู้ส่งออกอาหารระดับโลก

ดังนั้น ไทยจึงมีโอกาสพัฒนาจากการเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบหรืออาหารแปรรูปทั่วไป แต่ต่อยอดไปสู่การเป็น “ครัวอาหารเพื่อสุขภาพของโลก” ซึ่งจะสร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์อาหารที่ส่งออก แต่ทั้งนี้ไทยต้องเตรียมพร้อมแผนการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ได้แก่ ศึกษาความต้องการของตลาด สนับสนุน R&D และการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยรักษาคุณค่าของสารอาหารให้คงอยู่ได้นาน

การผนวกความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพื่อพัฒนา functional foods ใหม่ ๆ สนับสนุนการลงทุนพัฒนาประสิทธิภาพ คุณภาพ และมาตรฐานการผลิตที่ดีขึ้น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่คำนึงถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการประชาสัมพันธ์และผลักดันการส่งออกไปยังกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะในตลาดสหภาพยุโรปซึ่งมีประชากรเกือบ 450 ล้านคน มีกำลังซื้อสูงและให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง