โอกาสทอง “หมาก” ไทย ต่างชาติแห่ซื้อนับหมื่นตัน

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
กฤษณา ไพฑูรย์

แทบไม่น่าเชื่อว่า “ผลหมาก” หรือ betel nut ที่สมัยเด็ก ๆ เราเห็นคุณย่าคุณยายกินกับใบพลู ป้ายปูนสีแดง กลายเป็น “พืชเศรษฐกิจสำคัญ”

โดยกระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขการส่งออกหมากไปยังตลาดหลัก 15 ประเทศทั่วโลก ช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-ตุลาคม 2564) พบว่า มีมูลค่าสูงเฉียด 5,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2562 ส่งออกเพียง 2,029.17 ล้านบาท ปี 2563 ส่งออก 2,286.41 ล้านบาท

หากเปรียบเทียบกับช่วง 10 เดือนแรกของปีก่อน (มกราคม-ตุลาคม 2563) ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า มีหลายประเทศยอดส่งออกเติบโตอย่างก้าวกระโดด เริ่มจาก 1.เมียนมา ม.ค.-ต.ค. 64 ส่งออก 4,035.10 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ม.ค.-ต.ค. 63) ส่งออก 1,280.54 ล้านบาท มีอัตราขยายตัวสูงถึง 215.11% 2.บังกลาเทศ ปี 2564 ส่งออก 263.30 ล้านบาท ปี 2563 ส่งออก 319.64 ล้านบาท ติดลบ -17.62% 3.เวียดนาม ปี 2564 ส่งออก 207.33 ล้านบาท ปี 2563 ส่งออก 18.88 ล้านบาท ขยายตัว 998.19%

4.ซาอุดีอาระเบีย ปี 2564 ส่งออก 80.72 ล้านบาท ปี 2563 ส่งออก 50.87 ล้านบาท ขยายตัว 58.69% 5.สหราชอาณาจักร ปี 2564 ส่งออก 45.70 ล้านบาท ปี 2563 ส่งออก 32.79 ล้านบาท ขยายตัว 39.37% 6.อินเดีย ปี 2564 ส่งออก 35.59 ล้านบาท ปี 2563 ส่งออก 31.03 ล้านบาท ขยายตัว 14.68% 7.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปี 2564 ส่งออก 16.81 ล้านบาท ปี 2563 ส่งออก 24.75 ล้านบาท ติดลบ -32.10% 8.เยเมน ปี 2564 ส่งออก 12.86 ล้านบาท ปี 2563 ส่งออก 5.72 ล้านบาท ขยายตัว 124.85%

9.จีน ปี 2564 ส่งออก 8.46 ล้านบาท ปี 2563 ส่งออก 0.01 ล้านบาท ขยายตัวถึง 84,500% 10.สหรัฐอเมริกา ปี 2564 ส่งออก 2.28 ล้านบาท ปี 2563 ส่งออก 7.46 ล้านบาท ติดลบ -69.49% 11.ไต้หวัน ปี 2564 ส่งออก 2.21 ล้านบาท ปี 2563 ส่งออก 0.31 ล้านบาท ขยายตัว 602.95% 12.โอมาน ปี 2564 ส่งออก 2.11 ล้านบาท ปี 2563 ส่งออก 0.00 ล้านบาท 13.มัลดีฟส์ ปี 2564 ส่งออก 1.11 ล้านบาท ปี 2563 1.00 ล้านบาท ขยายตัว 11.10%

14.สปป.ลาว ปี 2564 ส่งออก 0.43 ล้านบาท ปี 2563 0.02 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1,917.67% 15.เดนมาร์ก ปี 2564 ส่งออก 0.17 ล้านบาท ปี 2563 ส่งออก 0.09 ล้านบาท ขยายตัว 82%

โดยเฉพาะเมียนมาที่ต้องการนำเข้าหมากไทยเพื่อส่งออกไปอินเดีย

สอดคล้องกับข้อมูลของ “สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) กรุงนิวเดลี” เมื่อเดือนมกราคม 2555 ระบุใจความสำคัญพอสรุปได้ว่า อินเดียมีผลผลิตหมากประมาณร้อยละ 50 ของผลผลิตหมากทั้งหมดในโลก หรือประมาณ 330,000.-ตันต่อปี อันดับสองจีนมีผลผลิตประมาณร้อยละ 25 หรือประมาณ 162,250.-ตันต่อปี อันดับสามคือ เมียนมา ประมาณ 57,000.-ตันต่อปี

ปัจจุบันชนชั้นแรงงานยังนิยมกินหมากกันมาก และในเชิงธุรกิจ มีการใช้หมากเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมฟอกหนัง ฟอกเส้นใย ทำยารักษาโรคและการใช้บริโภคในลักษณะของสมุนไพร

โดยลูกหมากเมื่อนำมาสกัดจะได้ไขมัน เมือก ยาง และสารอัลคาลอยด์ ชื่อ ARECOLINE มีแทนนินสูง จึงสามารถใช้ในทางอุตสาหกรรม เช่น ใช้ทำสีต่าง ๆ ใช้ย้อมแหและอวน ซึ่งทำให้นิ่มและอ่อนตัวและยืดอายุการใช้งานได้นาน เส้นด้ายไม่เปื่อยเร็ว นอกจากนี้ ใช้สกัดทำยารักษาโรค เช่น ยาสมานแผล ยาขับพยาธิในสัตว์ ยาแก้ท้องเดิน ท้องเสีย ยาขับพิษ ยาทาแก้คัน น้ำมันนวด ยาขับปัสสาวะ และยาแก้ปากเปื่อย เป็นต้น

ดังนั้น ถึงแม้ว่าอินเดียจะมีผลผลิตลูกหมากเป็นจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่ง แต่ไม่เพียงพอต่อการบริโภค ทำให้ต้องนำเข้าทั้งหมากดิบและหมากแห้งจากต่างประเทศมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บังกลาเทศ อินโดนีเซีย เมียนมา เนปาล และไทย

ดังนั้นตลาดสินค้า “หมาก” อินเดียจึงเป็นตลาดสำคัญที่มองข้ามไปไม่ได้

ขณะที่ตลาดส่งออกจีนเติบโตสูงสุดถึง 84,500% โดยจีนรับซื้อหมากไทยในราคาเพียง 25 บาท/กก. แต่ไปแบ่งใส่ถุงขายในโลกออนไลน์ในราคาสูง และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 มีบริษัทจีนแห่งหนึ่งที่ตระเวนซื้อ “หมากอ่อน” ในภาคใต้ของไทยมา 3 ปีมาลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปที่ จ.พัทลุง เพื่อส่งขายทั่วโลก


จึงเป็นโอกาสของเกษตรกรไทย ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เคยเปิดเผยต้นทุนการปลูกหมากตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตเฉลี่ย 7,639 บาท/ไร่ เริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 4-5 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 458 กก./ไร่ เกษตรกรขายหมากแห้งได้ราคา 40-45 บาท/กก. ผลตอบแทนสุทธิ 27,013 บาท/ไร่/ปี โดยเกษตรกรภาคใต้นิยมปลูกแซมกับพืชอื่น เพื่่ิอเสริมรายได้แทนที่จะปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างเดียว !