กรุงเทพฯเมืองขยะ

คอลัมน์ สามัญสำนึก
เมตตา ทับทิม

กรุงเทพฯเมืองขยะ เรื่องนี้มองด้วยตาเปล่าก็เห็นค่ะ

โควิดปี 63-64 มีเวลาว่างมากขึ้น ตัดสินใจเดินออกกำลังกายบนฟุตบาทเพราะถูกห้ามเข้าสนามกีฬา

เหมือนเป็น unseen กทม. ภาพกองขยะวางกันเป็นล่ำเป็นสัน หลายแห่งมีคราบทิ้งบนพื้นแสดงถึงมีการกองขยะซ้ำซาก มีเจ้าภาพทิ้ง แต่ไม่มีเจ้าภาพทำความสะอาดอะไรประมาณนั้น

ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ทำอะไรได้บ้าง

เสิร์ชเว็บไซต์สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. “หนังสือรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร 2562-2563” อัพเดต วันศุกร์ 29 ตุลาคม 2564 ยาว 164 หน้า

โฟกัสปัญหาขยะมูลฝอยที่กองบนทางเท้า อยู่บทที่ 11 หน้า 103 “การจัดการมูลฝอยชุมชน”

ระบุว่าปัญหาขยะมูลฝอยในกรุงเทพฯปี 2555-2561 มีปริมาณจัดเก็บวันละ 10,705 ตัน ปี 2562 ลดลง 141 ตัน

ปีเริ่มโควิด 2563 ลดฮวบ 1,045 ตัน/วัน เหลือวันละ 9,519 ตัน สาเหตุหลักเพราะเมืองล็อกดาวน์+นักท่องเที่ยวลดลง+ประชากรแฝงเดินทางกลับต่างจังหวัด

โดย กทม.มี 3 ศูนย์กำจัดมูลฝอยอยู่ที่ “อ่อนนุช-หนองแขม-สายไหม” ล่าสุดเริ่มเมื่อปลายปี 2563 อีก 1 แห่ง “สถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยรัชวิภา”

ปัญหาในการกำจัดขยะ คือ คนกรุงร่วมมือกันโดยไม่ตั้งใจด้วยการ “ทิ้งรวม” ไม่คัดแยกขยะ

ขยะบนฟุตปาทมีอะไรบ้าง เราเห็นตั้งแต่เศษอาหาร, เศษใบไม้, กระดาษ, พลาสติก, โฟม, แก้ว, โลหะ, หนัง, ผ้า, เซรามิก, กระดูก-เปลือกหอย, ผ้าอ้อมสำเร็จรูป และอื่น ๆ

ในด้านงบประมาณ ณ ปี 2561 เฉลี่ยจัดเก็บ 10,705 ตัน/วัน มีค่าใช้จ่าย 7,791 ล้านบาท แต่มีรายรับค่าเก็บขยะ 523 ล้านบาท ติดลบ -7.2 พันล้านบาท

โควิด 2 ปีมีภาระจัดเก็บขยะวันละ 9,500-10,000 ตัน ค่าใช้จ่าย 6,700-6,800 ล้าน/ปี แต่รายรับคงที่ปีละ 520-530 ล้าน สรุปว่าเก็บค่าขยะได้ไม่ถึง 8% ของค่าใช้จ่ายจริง

เท่าที่ทราบมีความพยายามขอขึ้นค่าเก็บขยะ แต่ถูกเลื่อนออกไปถึงตุลาคม 2565 ประเด็นนี้อาจต้องรณรงค์ขอความร่วมมือจ่ายค่าเก็บขยะเพิ่มในโอกาสต่อไปค่ะ

เรื่องเดียวกันนี้ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.ฝากเรียนว่า พื้นที่ 50 เขตใน กทม.มีการใช้ระบบ GIS กับ GPS ควบคุมรถเก็บขยะ โดยนัดแนะการเก็บขยะ ดังนี้

“ตรอก ซอย ชุมชน” เก็บขยะสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ส่วน “ขยะอันตราย-ขยะชิ้นใหญ่” เก็บทุกวันอาทิตย์

มีอีกประเภทที่คนไม่ค่อยรู้ “ขยะกิ่งไม้ ขยะก่อสร้าง” เก็บตามที่ประชาชนแจ้ง

หนึ่งในภาพลักษณ์ปัญหากรุงเทพฯเมืองขยะ น่าจะอยู่ที่ “ขยะรอจัดเก็บ” ตามฟุตบาทค่ะ

ตารางทำงาน “ถนนสายหลัก ถนนสายรอง ตลาด” เก็บขยะทุกวัน 6 โมงเย็น-ตี 3 และต้องเก็บให้เสร็จก่อนตี 5 ครึ่ง

อัพเดตล่าสุด กทม.อยู่ระหว่างทดลองปรับรูปแบบโครงการ “ทิ้งเป็นที่ เก็บเป็นเวลา” นำร่องเขตละ 1 ถนน เพื่อแก้ปัญหากองขยะทิ้งบนทางเท้า

ปัจจุบัน กทม.มีการตั้งถังขยะทั่วกรุง 3 เวอร์ชั่น ในพื้นที่ 1,568.75 ตารางกิโลเมตร 50 เขต

1.ถังขยะทั่วไป 2,080 จุด (เฉลี่ยตารางกิโลเมตรละ 1.3 จุด) แบ่งเป็นถังน้ำเงินทิ้งขยะทั่วไป กับสีเหลืองทิ้งขยะรีไซเคิล 2.ถังขยะอันตราย 2,066 ชุมชน และ 3.ขยะโควิด ส่วนมากคือหน้ากากอนามัย (ถังแดง) 1,000 จุด

อุปกรณ์สำคัญยังรวมถึงรถเก็บขยะ ปัจจุบันมี 2,178 คัน เป็นของ กทม. 349 คัน ที่เหลือเป็นรถเช่าเอกชน 1,829 คัน

ดูเหมือนรถขน-ถังขยะจะไม่เพียงพอต่อปริมาณขยะมหึมาของเมืองมหานครอันดับโลกอย่างกรุงเทพฯ

อย่าลืมว่าฟุตบาทเป็น touch point ของเมือง คนกรุงก็ดี นักท่องเที่ยวก็ด้วย มองตาเปล่าเห็นยังไง ก็จะจำเป็นภาพลักษณ์ของเมืองไปอย่างนั้น

“ขยะรอจัดเก็บ” เป็นอีกจุดทัชพอยต์ที่คงต้องเร่งแก้ไขอย่างขนานใหญ่

ขอฝากการบ้านผู้ว่าฯ คนปัจจุบันและคนใหม่ อย่าให้ภาพลักษณ์เมืองหลวงต้องกลายเป็นภาพจำกรุงเทพฯเมืองขยะ

อยากเห็น 1 ใน 5 นโยบายทันใจในเรื่อง “บ้านเมืองสะอาด” เป็นเรื่องทำได้จริงตั้งแต่วันนี้ค่ะ