Smart Warehouse อัพเกรดธุรกิจสู่ยุคอนาคต

หุ่นยนต์ ดิจิทัล
คอลัมน์มองข้ามชอต
ภัทรพล ยุทธศักดิ์นุกูล
EIC ธ.ไทยพาณิชย์

 

ธุรกิจคลังสินค้าเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตสวนกระแสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลกระทบของ COVID-19 จากเทรนด์การเติบโตของธุรกิจค้าปลีกอีคอมเมิร์ซ หลังจากที่ช่องทางออนไลน์กลายเป็นหนึ่งในช่องทางสำคัญของผู้ประกอบการค้าปลีกที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ในช่วงเวลาล็อกดาวน์

ส่งผลให้มูลค่าธุรกิจค้าปลีกอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างก้าวกระโดดราว 29% ต่อปี ในช่วงปี 2020-2021 และยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่อง แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลายแล้ว

สะท้อนได้จากผลการสำรวจผู้บริโภคของ EIC ที่พบว่า 86% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า จะซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ต่อไป หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลาย ซึ่งส่งผลให้ความต้องการพื้นที่คลังสินค้าเพื่อรองรับธุรกิจค้าปลีกอีคอมเมิร์ซยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ความคาดหวังของผู้บริโภคที่จะได้รับความสะดวกรวดเร็วในการรับสินค้า และความถูกต้องสมบูรณ์ของสินค้าจากการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในการให้บริการจัดส่งสินค้า นอกจากการยกระดับการบริการขนส่ง last-mile delivery แล้ว การเพิ่มศักยภาพระบบการบริหารจัดการสินค้าในคลังสินค้าถือเป็นกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยังสามารถตอบสนองความคาดหวังของผู้บริโภคที่สูงขึ้นได้

ปัจจุบันธุรกิจคลังสินค้าหลายแห่งทั่วโลกได้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้มากขึ้น และได้เปลี่ยนการดำเนินงานของคลังสินค้าแบบดั้งเดิมให้กลายเป็น คลังสินค้าอัจฉริยะ (smart warehouse) ซึ่งเป็นกระบวนการวางแผนการเคลื่อนย้ายจัดเก็บสินค้าด้วยระบบอัตโนมัติ เพื่อลดขั้นตอน นำไปสู่การจัดเก็บและการขนถ่ายสินค้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยตั้งแต่การจำแนกสินค้า การลำเลียง/เคลื่อนย้ายสินค้า ตลอดจนการจัดสินค้าตามออร์เดอร์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านแรงงาน และเพิ่มศักยภาพในการใช้พื้นที่จัดเก็บสินค้าได้มากขึ้น อีกทั้งลดความเสี่ยงในการเกิดการชำรุดเสียหายของสินค้า

ทั้งนี้ ในปัจจุบันการนำหุ่นยนต์มาใช้ในคลังสินค้าในรูปแบบของรถลำเลียงสินค้าอัตโนมัติ (automated guided vehicle : AGVs) และหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ (autonomous mobile robot : AMR) เริ่มแพร่หลายมากขึ้น

จากข้อมูลของ International Federation of Robotics (IFR) องค์กรหุ่นยนต์ระดับนานาชาติคาดการณ์ว่า ยอดขายของหุ่นยนต์ที่ใช้งานด้านโลจิสติกส์ในปี 2021-2023 จะเติบโตราว 42% ต่อปี จากมูลค่า 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020 สู่ 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023

นอกจากนี้ยังมีการใช้ระบบซอฟต์แวร์เข้ามาช่วย ทำให้การบริหารจัดการภายในคลังสินค้าราบรื่นมากยิ่งขึ้น เช่น ระบบ warehouse management system (WMS) ซึ่งเป็นระบบที่เชื่อมต่อระบบอัตโนมัติภายในคลังสินค้าแบบครบวงจร และยังสามารถทำงานร่วมกับระบบอื่น ๆ เช่น ระบบ ERP, บาร์โค้ด และ RFID ในการเก็บบันทึกข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อนำไปวิเคราะห์วางแผนธุรกิจในอนาคตได้ง่ายยิ่งขึ้น

การลงทุนในคลังสินค้าอัจฉริยะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจค้าปลีกอีคอมเมิร์ซ โดยจากรายงานของบริษัทวิจัยด้านเทคโนโลยี ReportLinker คาดว่า ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2021-2026) มูลค่าตลาดคลังสินค้าอัจฉริยะโลกจะเติบโตราว 12% ต่อปี จาก 14.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 25.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2026

โดยประเทศในอเมริกาเหนือ มีมูลค่าตลาดคลังสินค้าอัจฉริยะสูงสุดของโลก ขณะที่ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกมีการขยายตัวของการลงทุนในคลังสินค้าอัจฉริยะเพิ่มขึ้นเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในธุรกิจค้าปลีกอีคอมเมิร์ซ ตัวอย่าง เช่น JD.com และ Alibaba Group ของจีน

โดยเมื่อกลางปี 2020 JD.com บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีน ได้ลงทุนใน Smart and Flexible Production Logistics Park ที่นครเทียนจิน ซึ่งคลังสินค้าในพื้นที่ดังกล่าวเต็มไปด้วยเทคโนโลยี ที่ผสานการทำงานระหว่างสายพานลำเลียง หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ หุ่นยนต์คัดแยกสินค้า และอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในคลังสินค้า ให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และแม่นยำ

ด้วยระบบคลังสินค้าอัจฉริยะนี้ ผู้บริโภคที่อยู่ในพื้นที่จัดส่งจะได้รับสินค้ารวดเร็วกว่าเดิมราว 2-3 ชั่วโมง อีกทั้ง JD.com ยังมีการใช้ระบบ WMS ที่สามารถประเมินจำนวนการใช้แรงงานและฮาร์ดแวร์ได้แบบเรียลไทม์ ให้เหมาะสมกับปริมาณงานในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งช่วยในการวางแผนรับมือล่วงหน้าในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง peak time อย่างเทศกาลการจัดโปรโมชั่นซึ่งจะมีการสั่งซื้อสินค้าจำนวนมาก

สำหรับไทยแม้ว่าธุรกิจคลังสินค้าจะมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่สัดส่วนพื้นที่คลังสินค้าอัจฉริยะยังคงน้อยมาก ด้วยต้นทุนของระบบที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจาก COVID-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยเริ่มสนใจลงทุนในคลังสินค้าอัจฉริยะมากขึ้น

จากข้อมูลของ CBRE และ ศูนย์นวัตกรรมโลจิสติกส์ มจธ. พบว่า พื้นที่คลังสินค้าในไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยอยู่ที่ราว 5-7% ต่อปี แต่สัดส่วนพื้นที่คลังสินค้าอัจฉริยะในไทยมีเพียง 5% จากพื้นที่คลังสินค้าทั้งหมดของประเทศ เนื่องจากต้นทุนของระบบคลังสินค้าอัจฉริยะที่สูงกว่าคลังสินค้าทั่วไปถึงราว 15 เท่า

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ในคลังสินค้าหลายแห่งที่ต้องปิดดำเนินการชั่วคราว หลังพบการติดเชื้อของพนักงานเป็นวงกว้าง ได้กระตุ้นให้ผู้ประกอบการเริ่มหันมาลงทุนพัฒนาคลังสินค้าอัจฉริยะอย่างต่อเนื่อง

สะท้อนได้จากมูลค่าการนำเข้ารถลำเลียงสินค้าอัตโนมัติ (AGVs) ที่ส่วนมากถูกใช้ในพื้นที่คลังสินค้าอัจฉริยะ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2021 อยู่ที่ราว 2.4 พันล้านบาท เติบโตราว 9% YOY ซึ่งสูงกว่าการเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี 2015-2020 ที่อยู่ที่ราว 2.7% ต่อปี

ซึ่งการลงทุนดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการมีระบบการจัดการสินค้าที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังลดการพึ่งพาแรงงานคนได้อีกด้วย ตัวอย่าง เช่น คลังสินค้าอัจฉริยะของบริษัทค้าปลีกโฮมโปร ที่วังน้อย ได้นำเทคโนโลยีระบบคลังสินค้าอัตโนมัติมาใช้ในระบบจัดเก็บสินค้า และระบบเบิกจ่ายสินค้า ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่จัดเก็บสินค้า และลดเวลาจัดเก็บและเบิกจ่ายสินค้า อีกทั้งยังช่วยลดการเกิดสินค้าชำรุดเสียหาย

ขณะที่คลังสินค้าของ SCG Logistics ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจรแก่ผู้ประกอบการค้าปลีก ตั้งแต่การจัดเก็บสินค้า แพ็กสินค้า รวมถึงการจัดส่งสินค้า โดยในคลังสินค้าได้มีการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยในขั้นตอนและกระบวนการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบจัดเก็บ หยิบสินค้าอัตโนมัติ รวมถึงระบบซอฟต์แวร์การจัดการคลังสินค้าที่ใช้ควบคุมการจัดเก็บและการจ่ายสินค้า ส่งผลให้การจัดเก็บสินค้าเป็นไปอย่างเหมาะสมตามชนิดของสินค้า อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ประกอบการค้าปลีกที่ใช้บริการสามารถตรวจสอบและติดตามสต๊อกสินค้าได้แบบเรียลไทม์

ด้วยเหตุนี้ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเห็นประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยี ควบคู่กับการลดภาระการลงทุน จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนคลังสินค้าอัจฉริยะอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้เห็นประโยชน์ของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคลังสินค้า ยังต้องอาศัยการผลักดันของภาครัฐ

รวมถึงการสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบคลังสินค้าอัจฉริยะฝีมือคนไทย เพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ จะเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยที่สนใจในการพัฒนาคลังสินค้าของตนเองให้เข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น ในราคาเหมาะสม และสามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้งานในทุกรูปแบบ

อีกทั้งยังสามารถยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจ ในยุคที่เทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ในอนาคต