เก็บภาษีคริปโท The devil is in the details.

คอลัมน์ : ระดมสมอง
ผู้เขียน : ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย
ประวัติผู้เขียนโดยย่อ : นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ 
กองกฎหมายการเงินการคลังและกองพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 
ปริญญาเอกด้านกฎหมายการเงินจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

ประเด็นภาษีเป็นเรื่องที่มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางตั้งแต่ในสมัยยกร่างพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเมื่อสามปีที่แล้ว นอกจากนั้น ที่ผ่านมา ผมได้แลกเปลี่ยนความเห็น ข้อมูล ในเรื่องนี้กับผู้มากประสบการณ์หลาย ๆ ท่าน ดังนั้น แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้เป็นนักกฎหมายภาษีโดยตรง แต่อยากจะขอเสนอประเด็นเพื่อช่วยกันคิดหาทางออกดังนี้ครับ

ประเด็นแรก ควรเก็บภาษีหรือไม่ ?

ถ้ามีรายได้ก็ต้องเสียภาษี ประเด็นนี้ไม่น่าจะ controversial นะครับ หากเราเป็นผู้มีรายได้พึงประเมินตามกฎหมาย ในฐานะประชาชนคนไทย เราก็มีหน้าที่เสียภาษีตามอัตราที่กฎหมายกำหนด นอกจากนั้น ในขั้นตอนยกร่างกฎหมายกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

ก็มีการเสนอแก้ไขประมวลรัษฎากรให้ชัดเจน โดยมีการเพิ่ม มาตรา 40(4)(ฌ) กำหนดให้รายได้ที่เกิดจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและดอกผลต่าง ๆ จากการถือโทเค็น เป็นรายได้พึงประเมินทั้งสิ้น ดังนั้น แม้ว่าในปี’61-63 กรมสรรพากรไม่ได้จริงจังกับการตามเก็บภาษีเรื่องนี้ ก็ไม่ได้แปลว่าคนที่มีรายได้ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมาย ถ้าเค้าจะตามเก็บย้อนหลังก็ย่อมทำได้ (แต่อย่าทำเลย มันจะทำลายความเชื่อมั่นในระบบภาษีจนสิ้นเลยครับ)

ประเด็นที่สอง ถ้าต้องเสียภาษี แล้วจะเก็บอย่างไร ?

นี่แหละครับ ประเด็นปัญหา ผมขอเริ่มจากเรื่องง่ายก่อน คือ ในส่วนของดอกผลจากการถือครองโทเค็นอาจจะไม่มีปัญหามากนักเพราะเคสยังน้อย และการคำนวณรายได้ค่อนข้างชัดเจน เช่น ถ้าถือโทเค็นแล้วได้ปันผลหรือได้ผลตอบแทนอย่างหนึ่งอย่างใด

ก็ให้ตีราคาเป็นเงินบาท ณ วันที่ได้รับ (หากได้รับในรูปแบบอื่น) แล้วก็รายงานเป็นส่วนหนึ่งของเงินได้พึงประเมินตามนั้น ซึ่งจะเป็นไปในลักษณะเดียวกับรายได้ที่ได้รับจากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารหรือปันผลจากการถือหุ้น

เรื่องยาก คือ รายได้ในลักษณะที่เป็น capital gain หรือจากการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลบนกระดาน trade ในราคาถูกและขายต่อในราคาแพงกว่าทุน ในลักษณะเพื่อการลงทุนนั้น จะเก็บอย่างไร ในเรื่องนี้ ภาษากฎหมายในมาตรา 40(4)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร เรียกว่า

“ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซี หรือโทเค็นดิจิทัลเฉพาะ ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนเป็นเงินได้พึงประเมิน” อย่างไรก็ดี เนื่องจากกฎหมายมาตราดังกล่าวบัญญัติไว้อย่างกว้าง จึงทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติทั้งผู้มีรายได้และผู้บังคับใช้กฎหมาย

แล้วถ้ากฎหมายกำหนดไว้กว้าง ใครมีหน้าที่ตีความ ? จริง ๆ เมื่อกฎหมายกำหนดไว้อย่างกว้างเช่นนี้ก็ควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานในการกำหนดแนวปฏิบัติ ซึ่งก็คือ กรมสรรพากร นั่นเอง จากการตามอ่านจากข่าวพบว่า ทางกรม
จะใช้แนวการเก็บภาษีจากกำไรที่เกิดขึ้นจากแต่ละธุรกรรม กล่าวคือ ให้ผู้มีรายได้รายงานรายได้ที่เกิดจากส่วนต่างระหว่างราคาขายและราคาทุนเป็นรายธุรกรรม

ปัญหาที่จะเกิดขึ้นแน่นอนเลยคือ แล้วจะคำนวณต้นทุนอย่างไร เพราะนักลงทุนหลายท่านเทรดกันปีหนึ่งหลายร้อยหลายพันครั้ง จะเก็บแบบเอาธุรกรรมทุนแรกไปหักธุรกรรมขายแรก (first in first out (FIFO)) หรือใช้หลักต้นทุนเฉลี่ย (average cost)

หรือจะใช้หลักธุรกรรมทุนสุดท้ายไปหักกับธุรกรรมขายแรก (last in first out (LIFO) หรือจะใช้วิธีคำนวณแบบอื่น จะใช้แบบไหนก็ได้ครับ แต่กรมสรรพากรควรต้องมีความแน่นอนให้ประชาชน เพราะหากให้ประชาชนคิดเองแล้วคิดไม่ตรงกับเจ้าหน้าที่สรรพากรที่พิจารณาแบบยื่นภาษี ก็ต้องมานั่งชี้แจงเพิ่มเติม และอาจจะโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง เสียดอกเบี้ยให้สรรพากรอีกเกือบร้อยละ 20

ผมมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลาย ๆ ท่าน รวมทั้งพี่ร่วมงาน โดยเห็นตรงกันว่า ปัญหาของการเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการพูดคุยกันอยู่นี้ จะทำให้สรรพากรกลายเป็นจำเลยสังคม เพราะหากสรรพากรไปตั้งป้อมจะเก็บจาก “กำไร” ของการเทรดแต่ละครั้ง จะหากำไรได้ แปลว่าต้องรู้ราคาทุน

และรู้ราคาขายใช่มั้ยครับ ? ราคาขายหาได้ไม่ยาก แต่จะหาราคาทุน และต้องคำนวณเป็นรายธุรกรรมนี่ ยากแน่นอน อย่าลืมว่ากรณีนี้เป็นภาษีบุคคลธรรมดานะครับ ไม่ใช่ภาษีเงินได้นิติบุคคล บุคคลธรรมดาไม่ได้มีหน้าที่ตามกฎหมายในการทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้ได้ตามมาตรฐานการบัญชี

จะให้เก็บข้อมูลการเทรดและหักลบกลบหนี้เสมือนเป็นบริษัทเนี่ย รับรองว่าร้อยละ 99.99 ไม่ได้ทำแน่ และสุดท้ายก็จะรายงานไม่ตรงกับความเป็นจริง เกิดปัญหาที่ไม่ควรเกิดระหว่างรัฐกับประชาชน

แล้วทางออกอาจเป็นอย่างไรได้บ้าง ในเรื่องนี้ผมอยากจะเสนอกรมสรรพากร เผื่อมีผู้เกี่ยวข้องได้อ่านบทความนี้นะครับ คือ เนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้อย่างกว้าง เราตีความและลองเก็บแบบอื่นที่สะดวกกับทั้งกรม กับประชาชน และกับผู้ประกอบธุรกิจด้วย จะดีกว่ามั้ยครับ ?

วิธีหนึ่งที่อยากเสนอเป็นวิธีที่ผมได้รับฟังมาจากผู้มากประสบการณ์ในเรื่องภาษี และผมเห็นว่าน่าจะเป็นไปได้ คือ แทนที่จะคิดจากกำไรรายธุรกรรมและให้ประชาชนรายงานรวมกับรายได้พึงประเมินเมื่อยื่นภาษี เปลี่ยนเป็นเก็บภาษีในอัตราคงที่ (fixed rate) จากราคาขายและเก็บจากผู้ขายเมื่อมีธุรกรรมเกิดขึ้นเลยดีมั้ยครับ

เช่น หากเลือกจะเก็บในอัตราร้อยละ 0.1 และมีธุรกรรมซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลบนกระดานที่มีมูลค่า 
1 แสนบาท ผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายมีหน้าที่เก็บภาษีเพิ่ม 100 บาทจากผู้ขาย และนำส่งสรรพากรทุกเดือน ผู้เสียภาษีก็ไม่ต้องเอารายได้จากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลไปคำนวณอีก

เพียงแต่รายงานไปในแบรายงานว่า ตนโดนหักไปเท่าไหร่ (final taxation) สรรพากรก็ได้ภาษีเต็ม ๆ ไม่ขาดตกเลยซักเม็ด ผู้ลงทุนก็สบายใจว่าได้จ่ายภาษี ทำหน้าที่ประชาชนอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว และศูนย์ซื้อขายก็ทราบว่า หน้าที่ของตนคืออะไร แบบนี้จะ win win win กับทุกฝ่ายหรือไม่


เห็นกรมสรรพากรประกาศออกมาเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมาว่า กำลังศึกษาแนวทางการเก็บภาษีและรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและได้สัดส่วน ก็หวังว่าพวกเราจะได้รับความกระจ่างในเร็ววันครับ