ควรเร่งกลับช้า ควรช้ากลับเร่ง

คริปโท
บทบรรณาธิการ

เป็นกระแสร้อนแรงมาพักใหญ่ การจ่อเก็บภาษี “คริปโทเคอร์เรนซี” ซึ่งเป็นมรดกจากรัฐบาล คสช. โดยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง (ในขณะนั้น) ออกพระราชกำหนดการประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 มาบังคับใช้

เนื้อหาหลัก ๆ คือ ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซี หรือโทเค็นดิจิทัล ต้องยื่นเสียภาษีเป็นเงินได้ ตามมาตรา 40 (4) และกำหนดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายสำหรับบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ซ) และ (ฌ) ร้อยละ 15 ของเงินได้

ประเด็นแรกยังไม่เท่าไหร่ แต่ประเด็นที่ 2 เรื่องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ถูกค้านอย่างหนัก โดยระบุว่าผู้เกี่ยวข้องกับการออก พ.ร.ก.ดังกล่าว น่าจะไม่คุ้นเคยกับตลาดซื้อขายคริปโท เพราะแต่ละคนซื้อ-ขายวันละหลาย ๆ ครั้ง บางคนที่เล่นกับกระแส ในแต่ละปีอาจซื้อ-ขายเป็นร้อย ๆ ครั้งก็ได้

ด้วยเหตุนี้ทำให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะนักการเมืองรุ่นใหม่ หรือผู้ชี่ยวชาญตลาดเงิน ตลาดคริปโท ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย เพราะนอกจากเป็นความยุ่งยากของผู้เสียภาษีแล้ว กรมสรรพากรต้องทุ่มสรรพกำลังตรวจสอบผู้หลบเลี่ยง ที่สำคัญเหมือนเป็นการ “ฆ่าตัดตอน” คริปโทเคอร์เรนซี ที่ถือว่าเป็นระบบการเงินรูปแบบใหม่

อาจส่งผลเสียในระยะยาวต่อประเทศไทย ทั้งเรื่องดึงเงินทุนจากต่างชาติเข้ามา หรือภาษีที่ควรได้จากธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับคริปโทอาจหดหาย รวมถึงผลักให้คนเทรดคริปโทขนเงินไปซื้อขายกับบริษัทต่างชาติที่มีตัวเลือกมากมาย รัฐจึงควรปล่อยให้ตลาดคริปโท ในไทยเติบโตและแข็งแกร่งกว่านี้ ก่อนเข้ามาหาผลประโยชน์ทางตรงในเรื่องภาษี

อีกผลงานของรัฐบาลชุดนี้ที่สร้างความปั่นป่วนให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย คือมาตรการช่วยเหลือด้านภาษีกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี ที่รัฐบาลประกาศสนับสนุนให้คนไทยหันมาใช้รถอีวีกันมากขึ้น เพราะนอกจากเป็นเทรนด์ของโลกแล้ว ยังได้เรื่องการลดมลพิษ ลดการใช้พลังงานน้ำมัน

แต่กลับเงื้อง่าราคาแพง ไม่นำเข้า ครม.เสียที ทั้งที่เป็นข่าวมาพักใหญ่แล้ว สิ่งที่ตามมาทำให้ตลาดรถยนต์อีวี ได้รับผลกระทบ เพราะผู้ที่เตรียมซื้อรถอีวีมาใช้งาน ต่างชะลอการตัดสินใจเพื่อรอดูผลประโยชน์จากภาครัฐเสียก่อน

ทั้งกรณีภาษีคริปโท และมาตรการรถอีวี ไม่ใช่ 2 กรณีแรกที่รัฐบาลชุดปัจจุบันทำให้เกิดความปั่นป่วนในแวดวงธุรกิจ ที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุทำนองนี้หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งรัฐไม่เคยจำเป็นบทเรียน มักปล่อยให้เกิดเรื่องแล้วค่อยมาตามแก้ แถมหากเกิดความเสียหายยังไม่เข้ามารับผิดชอบ

เข้าทำนอง “สิ่งที่ควรเร่งทำกลับเชื่องช้า แต่สิ่งที่ควรรอคอยกลับเร่งทำ”