อำนาจในการตีความ

บทบรรณาธิการ

การร้องเรียนและต่อต้านโครงการก่อสร้างตึกสูงในเขตใจกลางกรุงผุดขึ้นอีกครั้ง หลังจากเคยเกิดกรณีต่อต้านอย่างครึกโครมที่ซอยร่วมฤดี ตามด้วยโครงการแอชตัน อโศก ครั้งนี้เป็นโครงการก่อสร้างโรงแรมที่ตั้งระหว่างถนนพระราม 4 กับถนนงามดูพลี ชุมชนซอยเกอเธ่ ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยของคนดังและมีฐานะดีหลายคน

ประเด็นที่ผู้ร้องเรียนหยิบยกมาต่อต้านกรณีล่าสุด คือ ความสูงของอาคารและระยะถอยร่นจากถนนสาธารณะ ไม่ตรงตามที่กฎหมายกำหนด จึงขอให้ระงับการก่อสร้าง หากการร้องเรียนมีผล คำถามคือโครงการที่ผ่านการพิจารณาและได้รับใบอนุญาตก่อสร้างจาก กทม.มาแล้ว จะทำอย่างไรต่อไป

สำหรับเอกชนผู้ลงทุน การออกแบบอาคารต้องใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่าที่สุด โดยเฉพาะในเขตที่มีราคาสูงมาก อาคารจึงมักสูงตาม การออกแบบก่อสร้างต้องทำอย่างรอบคอบเพราะมีหลายตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า ถ้าผิดข้อบัญญัติจะเป็นปัญหาที่ลุกลามใหญ่โต

โดยเฉพาะเมื่อมีแรงต้านจากผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ ซึ่งมักวิตกกับผลกระทบจากการก่อสร้าง เช่น มลพิษทางเสียง ทางอากาศ ไปจนถึงการจราจร อย่างไรก็ตาม ปัญหาของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มไฮโซกับบริษัทเจ้าของโครงการ แต่มาจากตัวกฎหมายก่อสร้างและผู้บังคับใช้

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาคารและกฎหมายอื่นที่บัญญัติถึงเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินกว่า 20 ฉบับ แต่ละฉบับยังมีกฎกระทรวงที่ออกตามอำนาจแห่งพระราชบัญญัติอีกมากมายรวมแล้วกว่าหมื่นหัวข้อ

ข้อกำหนดเหล่านี้แม้จะมีส่วนที่เสริมกัน แต่จำนวนมากกลับซ้ำซ้อนกันและขัดแย้งกันเอง รวมถึงวัตถุประสงค์ของการบังคับใช้ไม่ชัดเจน ความยุ่งเหยิงนี้จึงทำให้ต้องตีความ และอำนาจในการตีความนั้นตกแก่เจ้าพนักงาน

อำนาจในการตีความกฎหมายไม่เพียงเสี่ยงให้เกิดข้อขัดแย้ง ยังอาจเป็นช่องทางการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วย ไม่ว่าจะเรียกว่า ค่าน้ำร้อนน้ำชา เงินทอน ค่าอำนวยความสะดวก ติดสินบน หรือทุจริตคอร์รัปชั่น เรื่องเหล่านี้เป็นที่รับรู้กันทั่วไป แต่ผู้ลงทุนหลายเจ้าเลือกหนทางตัดปัญหาให้ทุกอย่างสั้นลง เพราะทุกการก่อสร้างนั้น “เวลา” คือต้นทุนสำคัญ วงจรลักษณะนี้ล้วนเป็นปัญหามานาน ไม่เฉพาะกับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เป็นข่าว

ทางออกอย่างยั่งยืนของเรื่องนี้จึงต้องอาศัยการสะสาง ปรับปรุงพัฒนาด้านกฎหมายทั้งหมด เพื่อประโยชน์ทั้งกับผู้ประกอบการ ผู้ลงทุน และผู้บริโภคที่จะไม่ต้องหวาดผวาว่าโครงการที่ตอกเสาเข็มไปแล้ว หรือสร้างเสร็จแล้วไปต่อไม่ได้ หรือต้องขึ้นโรงขึ้นศาลถึงขั้นต้องรื้อถอน หากการแก้ไขกฎหมายการก่อสร้างตัดวงจรความขัดแย้งและความไม่ชอบมาพากลได้ ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกเป็นของประเทศและประชาชน อย่างที่ควรจะเป็น