“ไฮโซ-ตระกูลดัง” ร้อง กทม. เบรกโรงแรมสูง 41 ชั้น ซอยงามดูพลี

งามดูพลี

 

กลุ่มไฮโซ-ชุมชนเกอเธ่ รวมตัวร้องบิ๊ก กทม. สั่งระงับก่อสร้างโรงแรมใหม่สูง 41 ชั้น ใจกลางกรุง ย่านงามดูพลี-พระราม 4 ชี้อาจเข้าข่ายผิดกฎควบคุมอาคาร เว้นระยะถอยร่นและสิ่งแวดล้อม เพราะตึกสูง 194 เมตร แต่ซอยแคบเกิน ด้าน ผอ.เขตสาทร ยังเงียบ ส่วนเอกชนเจ้าของโครงการไม่ขอพูด รอราชการแจงรายละเอียด จับตาสรุปผลเร็ว ๆ นี้ นักวิชาการจี้รัฐต้องเคร่งครัดออกใบอนุญาตสร้างอาคารชอบด้วยกฎหมาย ไม่ให้เกิดปมปัญหาสังคม

นายต่อ สันติศิริ และหม่อมหลวงภาวิณี ศุขสวัสดิ์ สันติศิริ ในฐานะตัวแทนชุมชนซอยเกอเธ่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโครงการใหม่ ๆ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ในซอยสาทร 1 แยก 2 ถนนสาทรใต้ เพราะบ้านพักอาศัยอยู่ในย่านชุมชนดังกล่าว ซึ่งเป็นซอยแคบ เกรงว่าจะมีปัญหาการสัญจรในภายหลัง จึงทำหนังสือถึงผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร (กทม.) ผู้อำนวยการสำนักการโยธา และผู้อำนวยการเขตสาทร เพื่อขอให้สั่งระงับการก่อสร้างที่ผิดกฎหมาย ตามเอกสารหมาย 1-5 โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงแรมใหม่แห่งหนึ่งที่กำลังก่อสร้างอยู่

ชุมชนซอยเกอเธ่ขอค้าน

ทั้งนี้ ได้ร่วมกับชาวชุมชนในซอยดังกล่าวอีก 19 คน ลงชื่อขอคัดค้าน ประกอบด้วย ม.ล.สุธานิธิ จิตรพงศ์, นางสาวมัลลิกา จันทร์หอม, นางสาวธัญญพัทธ์ ปฐมพงศ์โกสิน, นางสาวรวิพรรณ นิลพาทย์, นายทองปอนด์ คุณหาวงศ์, ม.ล.จิตตรส จิตรพงษ์, ม.ร.ว.พันธุ์เพ็ญ สนิทวงศ์, นางศิริธนว์ เจียมศิริเลิศ,

นางสุดแสวง พูลภักดี, นางทิพยกมล เหมาะสม,นางพิสันธนีย์ ศรีดุรงฤทธ์, คุณต้องหทัย สุธีวงศ์, คุณเสริมศรี สุธีวงศ์, คุณวรณัฐ วรพิทักษ์, นายศุภกร กิจครากร, นายณัฐชัย สุวรรณฤกษ์, นายประเสริฐ จงอุดมทรัพย์, นายภูมิพัฒน์ พรรณกิจ และนายเจน วองอิสริยะกุล

เนื่องจากเห็นว่า โรงแรมสร้างใหม่ย่านถนนพระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่ง ที่กำลังเริ่มตอกเสาเข็มตามแบบแปลน โดยอ้างสิทธิตามใบรับแจ้งการก่อสร้างของ กทม. มีการกำหนดความสูงของอาคารขัดต่อกฎหมาย จึงขอยื่นคำร้องนี้ต่อผู้รับผิดชอบให้ตรวจสอบ และสั่งให้บริษัทระงับการก่อสร้างโดยด่วนที่สุด

ผังอาคาร-ฐานความสูงวัดจากไหน

นายต่อกล่าวว่า กรณีที่ถือถนนซอยเกอเธ่เป็นหลัก เมื่ออาคารห่างจากขอบถนนตรงข้าม 13 เมตร (ถนนกว้าง 6 ม.+7 ม.ที่เว้นห่างถนน) ตัวอาคารก็จะสูงได้เพียง 2 เท่าคือ 26 เมตรเท่านั้น จะสูงตามแบบเกือบ 200 เมตรคงไม่ได้ หรืออาจเป็นเพราะบริษัทถือเอาถนนงามดูพลีเป็นหลัก ดังนั้นเมื่อผนังอาคารห่างขอบถนนตรงข้ามของงามดูพลี 78 เมตรแล้วกว้างต่อไปอีก 57 เมตร ความสูง 2 เท่าจึงขึ้นสูงสุดได้เกิน 200 เมตร

ซึ่งเรื่องนี้ทาง กทม.ชี้ว่า ได้ยึดถนนงามดูพลี ตลอดจนการวางตัวอาคารนั้นถูกต้องตามกฎหมายแล้ว และที่ดินของเจ้าของโครงการมีส่วนที่อยู่มุมถนนงามดูพลี และซอยเกอเธ่ด้วย จึงถือเอาถนนงามดูพลีเป็นตัวกำหนดความสูง ซึ่งเมื่อถอยตัวอาคารออกห่างจากถนนงามดูพลีมา 77 เมตรก็จะเข้าเขตที่ดินของโครงการ อาคารจึงเริ่มสูง 2 เท่าได้นับแต่จุดนั้น ไปจนถึงผนังอีกด้านหนึ่ง ส่วนถนนซอยเกอเธ่ กว้าง 6 เมตรนั้น ไม่มีสิทธิกำหนดความสูง แต่ปรับระยะประชิดของตัวอาคารที่สูงเกือบ 200 เมตร เป็นทางยาวไม่เกิน 6 เมตร

แย้งยิบในรายละเอียด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อกฎหมายเรื่องผนังบริเวณอาคารและฐานความสูงว่า ได้วัดจากถนนไหนเป็นหลัก ระหว่างถนนหรือซอยงามดูพลี และถนนพระราม 4 กับซอยแยกชุมชนเกอเธ่ ซึ่งปรากฏว่า เอกชนเจ้าของโครงการได้ยึดหลักถนนหรือซอยงามดูพลีเป็นหลักของการพัฒนาอาคารสูง โดยเป็นแนวตั้งฉากสามารถก่อสร้างอาคารได้ตามที่ขออนุญาตจากราชการ

แต่จุดนี้มีรายละเอียดเชิงข้อกำหนดหลายส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วแต่เหตุผลประกอบการของตีความในแต่ละฝ่าย เช่น ข้อกำหนดข้อที่ 44 ข้อที่ 45 และข้อที่ 46 ทำให้เกิดข้อโต้แย้งในเรื่องข้อบังคับระยะถอยร่น และการใช้สิทธิถอยร่นจากมุมถนนที่ยึดเป็นหลัก

ซึ่งชาวชุมชนยืนยันว่า การใช้สิทธิถอยร่นของเอกชนต้องไม่ใช่ “การใช้สิทธิเกินส่วน” คือ ตัวอาคารต้องถอยไป โดยมีความกว้างอาคารไม่เกินหน้าที่ดินที่ติดถนนงามดูพลีไปตลอด จะมีที่ดินแปลงใหญ่อยู่ห่างจากถนนงามดูพลี 70 เมตร แล้วซื้อที่ดินยื่นไปติดถนนงามดูพลีเพียง 25 เมตร แล้วอาศัยหน้าที่ดินจำนวนดังกล่าวเป็นสิทธิสร้างอาคารติดมุมถนน จึงเป็นการถอยร่นไม่แท้จริง จึงขอให้อยู่ในกรอบของข้อ 46 ที่บัญญัติว่า อาคารมุมถนนจะยาวจากหัวมุมไปตามถนนที่แคบกว่าได้ไม่เกิน 60 เมตร หาใช่จากงามดูพลีไป 70 เมตร แล้ววางอาคารติดซอยเกอเธ่ 57 เมตร

ข้อโต้แย้งดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้ข้อยุติ ทำให้กลุ่มชุมชนและคนชั้นสูงรวมตัวร้องเรียนกันอีกครั้ง โดยเฉพาะการรับทราบว่าการก่อสร้างสามารถดำเนินต่อไปได้ หลังจากรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านการพิจารณาแล้ว โดยจะเริ่มลงมือก่อสร้าง ด้วยการล้อมรั้ว ล่าสุดโครงการได้ก่อสร้างมาเป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้ว

นักวิชาการออกโรง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตสมาชิกวุฒิสมาชิกกรุงเทพมหานคร และที่ปรึกษากฎหมาย พร้อมชาวชุมชนเกอเธ่ ได้เปิดแถลงข่าวขอระงับการก่อสร้างผิดกฎหมายของโครงการดังกล่าวที่กำลังก่อสร้างตอกเสาเข็มตามแบบแปลน โดยอ้างสิทธิใบรับแจ้งการก่อสร้างของ กทม. โดยมีนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ซึ่งมีบ้านพักอาศัยอยู่ในละแวกชุมชนเกอเธ่ เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

นายแก้วสรรชี้ว่า อาคารดังกล่าวมีทั้งหมด 41 ชั้น ความสูง 194 เมตร ตั้งอยู่ในซอยเกอเธ่ และอยู่ระหว่างถนนพระราม 4 กับถนนงามดูพลี ซึ่งวิธีคำนวณความสูงตามกฎหมาย อาคารจะสูงจากจุดหนึ่งจุดใด ต้องไม่เกิน 2 เท่าของระยะราบ

แต่กรณีดังกล่าวตามกฎหมายอาคารจะสูงได้เพียง 2 เท่า คือ 26 เมตรเท่านั้น แต่ข้อมูลกลับอ้างเอาถนนงามดูพลีเป็นหลัก จึงอ้างความสูง 2 เท่า โดยสร้างสูงสุดได้ถึง 200 เมตร

ผอ.เขตสาทรยังเงียบ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังผู้อำนวยการเขตสาทร เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ได้รับคำตอบว่า จะติดต่อกลับอีกครั้ง เพราะติดภารกิจ

เช่นเดียวกับบริษัทเอกชนเจ้าของโครงการที่ไม่ขอชี้แจงใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ขอให้รอหน่วยราชการที่รับผิดชอบเป็นผู้ชี้แจงเรื่องทั้งหมด