เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (4)

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด
โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

เรื่องราวบริษัทศตวรรษ ได้รับความสนใจมากขึ้น ๆ เมื่อกำลังปรับโฉมหน้าครั้งสำคัญ

ขั้นตอนที่สำคัญเริ่มต้นเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว (เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2560) เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BigC) มีมตเห็นชอบ “ให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท เพื่อพิจารณาอนุมัติการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อเสนอจากกลุ่มบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่โดยถือหุ้นในสัดส่วนถึง 97.94%

ในเวลาเดียวกันเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ในฐานะหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเช่นกัน ได้มีคำชี้แจงแสดงความเชื่อมโยงกัน โดยมีรายละเอียดแตกต่างออกไปบ้าง “คำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เพื่อการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัท บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย”

จากนั้นดำเนินไปตามขั้นตอน โดยจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน จัดทำเอกสาร “รายงานความเห็นของที่ปรึกษาการเงินอิสระเกี่ยวกับการเพิกถอนหลักทรัพย์” เพื่อเสนอต่อผู้ถือหุ้น (ในกรณีนี้ จัดทำโดยบริษัทหลักทรัพย์เมย์แบงก์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2560) พร้อม ๆ กับ มีการนัดประชุมผู้ถือหุ้น และจบลงตามกรอบเวลาเมื่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น มีมติเห็นชอบอย่างล้นหลามอย่างที่ควรจะเป็นไป (ประชุมเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560)

ว่าไปแล้ว เป็นระลอกคลื่นมาจากดีลใหญ่ กรณีขายกิจการเครือข่ายค้าปลีก Big C ในไทย ระหว่าง Casino Group แห่งฝรั่งเศส กับเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ถือเป็นดีลสายฟ้าแลบ (กำหนดให้จบภายใน 53 วัน แต่จบลงจริงเพียง 14 วัน) เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559 ตามเวลาในปารีส ฝรั่งเศส หรือ 22 มีนาคม ในเมืองไทย) Big C เข้าสู่ยุคใหม่เปลี่ยนเป็นกิจการของคนไทย

ADVERTISMENT

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นตอน อย่างรวดเร็วตามแผนการที่กำหนดไว้ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์เข้าครอบหุ้นข้างมาก Big C (บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์) ประมาณ 58% รวมกับซื้อกิจการย่อยเกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ เบอร์ลี่ยุคเกอร์จ่ายเงินเฉพาะในวันนั้น รวมทั้งสิ้นถึง 123,000 ล้านบาท

การเปลี่ยนแปลงที่ Big C เกิดทันทีทันใด เริ่มด้วยการเปลี่ยนตัวคณะกรรมการบริษัทรวดเดียว 7 คน ส่วนใหญ่เข้ามาแทนชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นตัวแทนของ Casino Group แต่ยังคงเหลือผู้บริหารคนสำคัญ ๆ ไว้ (ปัจจุบันไม่มีตัวแทน Casino เหลืออยู่แล้ว) กรรมการเข้ามาใหม่ ย่อมมาจากฝ่ายกลุ่มทีซีซี

ADVERTISMENT

ตามมาอย่างกระชั้นชิด (28 มีนาคม 2559) เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จัดทำคำเสนอหลักทรัพย์ (Tender offer) ซื้อหุ้น Big Cส่วนที่เหลือทั้งหมดอีกประมาณ 41% โดยกำหนดวันให้ผู้ถือหุ้นเสนอขายไว้ช่วงหนึ่ง (ระหว่าง 29 มีนาคม-11 พฤษภาคม 2559) ใช้เงินอีก ประมาณ 88,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น ดีลนี้จึงเป็นดีลธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย มีมูลค่าถึงกว่า 200,000 ล้านบาท

การเปลี่ยนผ่านโครงสร้างการบริหาร Big C เข้าสู่ขั้นใหม่ ใช้เวลาเพียงเดือนเศษ (22 มีนาคม-3 พฤษภาคม 2559) ได้เวลาเปลี่ยนชุดคณะกรรมการบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ได้เปลี่ยนจากตัวแทน Casino Group (โรเบิร์ต เจมส์ ซิสเซล) มาเป็น อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารและผู้จัดการใหญ่ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ โดยดำรงตำแหน่งควบกันไป

“ปัจจุบันบริษัทมีผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่เป็นไปตามเกณฑ์ดำรงสถานะ สำหรับรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท ที่มีชื่อปรากฏตามทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 4 พฤษภาคม 2560 (ครั้งหลังสุด) มีผู้ถือหุ้นรายย่อยถือหุ้นรวมกันคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 2.06 ของหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท ซึ่งน้อยกว่าร้อยละ 15 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทจึงไม่เป็นไปตามเกณฑ์ดำรงสถานะ อีกทั้ง BJC ไม่มีนโยบายที่จะลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทในเครือที่ถือหุ้นในบริษัททำให้บริษัทไม่สามารถแก้ไขสัดส่วนการกระจายการถือหุ้นรายย่อยให้เป็นไปตามเกณฑ์ดำรงสถานะ บริษัทจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมส่วนเพิ่มในอัตรา 2.0 เท่า ซึ่งจะเพิ่มขึ้นทุกปี ในอัตราปีละ 0.5 เท่าจากอัตราเท่าของปีก่อนหน้านอกเหนือจากค่าธรรมเนียมรายปี ตามแนวทางดำเนินการกรณีบริษัทจดทะเบียนกระจายการถือหุ้นรายย่อยไม่ครบถ้วน และตามประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง อัตราค่าธรรมเนียมในการรับหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน พ.ศ. 2558”

ข้างต้นคือ เหตุผลการเพิกถอนสำคัญอ้างจากความเห็นที่ปรึกษาการเงินอิสระผมเชื่อว่าในภาพที่กว้างกว่านั้น มีเหตุผลที่น่าสนใจกว่านั้นอันที่จริงเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ธุรกิจ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์โดยตรง “ในปี 2559 บีเจซีได้มีการขยายธุรกิจในส่วนของปลายน้ำ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคให้มากขึ้น รุกตลาดค้าปลีก โดยการเข้าซื้อธุรกิจค้าปลีก บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ในประเทศไทย ก็เป็นอีกก้าวสำคัญที่ยิ่งใหญ่ของบีเจซี” ดังคำกล่าวอย่างจริงจังของ อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทั้งเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ และบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (อ้างจาก http://www.bjc.co.th)

เมื่อพิจารณารายงานผลประกอบการประจำปี 2559 เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จะพบว่ามีการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ (โปรดพิจารณาข้อมูลทางการเงิน –ได้นำเสนอในตอนก่อน ๆ อีกครั้ง) อันเนื่องมาจากได้รวมผลประกอบการของบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์เข้ามา ตั้งแต่ 21 มีนาคม 2559 เฉพาะรายได้เติบโตขึ้นอย่างมาก จากระดับ 40,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 3 เท่า ทะลุกว่าหนึ่งแสนล้านบาท หรือกล่าวในมิติหนึ่งรายได้หลักประมาณ 2 ใน 3 ของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์มาจาก Big Cเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ มีฐานะเป็นบริษัทสำคัญของกลุ่มทีซีซี เป็นบริษัทแกนของกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมและการค้า

1 ใน 5 กลุ่มธุรกิจหลักในเครือข่ายธุรกิจกลุ่มทีซีซี (อ้างจาก http://www.tccholding.com/index.php?controller=business) ภาพนั้นได้เปลี่ยนไปพอสมควร เป็นการก้าวเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกอย่างเต็มตัว

อีกมิติหนึ่งเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ได้กลายบริษัทหลักของกลุ่มทีซีซี มีการพัฒนา มีการปรับโครงสร้างธุรกิจ และโครงสร้างการบริหารอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และดูลงตัวมากขึ้น โดยเฉพาะได้กลายเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยดูโดดเด่นที่สุดของกลุ่มทีซีซีก็ว่าได้ สามารถเทียบเคียงกับกิจการหลักในเครือข่าย ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ โดยเฉพาะ ไทยเบฟเวอเรจ Fraser and Neave และ Frasers Centrepoint พิจารณาเฉพาะความสามารถในการแสวงรายได้ (ดูจากงบการเงิน) เบอร์ลี่ ยุคเกอร์เป็นรองแค่ไทยเบฟเวอเรจ ทั้งนี้มีรายได้ (เปรียบเทียบ ณ สิ้นปี 2559) มากกว่าทั้ง Fraser and Neave และ Frasers Centrepoint ด้วย เท่าที่มีข้อมูลกิจการหลักอื่น ๆ โดยเฉพาะ กลุ่มอาคเนย์ (บริษัทหลักของกลุ่มธุรกิจประกันและการเงิน) ถือว่ามีรายได้ยังอยู่ในระดับพันล้านบาท

ขณะที่มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกจำนวนหนึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ อย่างกระจัดกระจายมีเป็นกลุ่มก้อนบ้างในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะบริษัทแผ่นดินทองพรอพเพอร์ตี้และบริษัทยูนิเวนเจอร์ จากรายงานผลประกอบการมีรายได้ในระดับเพียงหมื่นล้านบาท

ในเชิงประวัติศาสตร์ในฐานะบริษัทศตวรรษซึ่งกลุ่มทีซีซีภาคภูมิใจ เบอร์ลี่ยุคเกอร์ ถือว่ามีฐานะทัดเทียมกับ Fraser and Neave เครือข่ายธุรกิจชั้นนำของสิงคโปร์ ทั้งสองกิจการมีตำนานคล้าย ๆ กัน ก่อตั้งขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน (เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ก่อตั้งปี 2425 ก่อน Fraser and Neave เพียงปีเดียว) ในยุคเดียวกัน ยุคอาณานิคม