
บทบรรณาธิการ
คดีค้ามนุษย์โรฮีนจา ซึ่งเกิดขึ้นทางภาคใต้เมื่อสองปีก่อนใกล้ถึงบทสรุปสุดท้ายเข้าทุกขณะ 19 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา องค์คณะผู้พิพากษาแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญาอ่านคำพิพากษา 11 สำนวน ที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลย 103 คน ก่อนพิพากษาลงโทษจำเลยที่กระทำผิดหนักเบาแตกต่างกัน
- สินมั่นคงฯ : คปภ.เกาะติดกระบวนการฟื้นฟูกิจการ-ส่งสัญญาณเตือน ปชช.
- ครม.เคาะแล้ว ซื้อสินค้าลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท เริ่ม 1 ม.ค. 67
- ญี่ปุ่นสู้ศึก EV จีน-ลุยส่งออก โตโยต้ายอดพุ่ง “BYD-เทสลา” แรง
แม้จะเป็นการชี้ขาดของศาลชั้นต้น ขั้นตอนต่อไปจะเข้าสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา แต่ที่ศาลวินิจฉัยลงโทษสถานหนักกับจำเลยโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากจะส่งผลด้านการป้องปรามทำให้ผู้ที่คิดจะกระทำผิดเกรงกลัวกฎหมายแล้ว ยังชี้ให้เห็นว่าไทยดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ทั้งยังนำมาตรการทางกฎหมายมาบังคับใช้กับผู้ฝ่าฝืนอย่างเฉียบขาด
ขณะเดียวกันก็พิสูจน์ให้เห็นว่าบทบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องของไทยมีความศักดิ์สิทธิ์ได้มาตรฐาน สอดคล้องทัดเทียมกับกฎกติกาสากล สวนทางกับข้อกล่าวหาที่สหรัฐ สหภาพยุโรป(EU) หยิบยกปัญหาการค้ามนุษย์ขึ้นมากล่าวอ้างกีดกันการส่งออกสินค้าไทย
ดังนั้น นอกจากคดีโรฮีนจาที่ดำเนินการมาใกล้สิ้นสุดตามกระบวนการยุติธรรมแล้ว รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเดินหน้าปราบปรามการค้ามนุษย์ ค้าแรงงานเด็ก แรงงานทาสต่อเนื่อง ไม่ทำแบบไฟไหม้ฟาง ด้วยการบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดเข้มข้น ให้เกิดผลในทางปฏิบัติเป็นรูปธรรม ฟื้นภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นให้ประจักษ์แก่สายตานานาประเทศ
แนวทางหนึ่งคือนำคดีดังกล่าวมาใช้เป็นกรณีตัวอย่างในการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยหลายหน่วยงานร่วมบูรณาการการทำงาน ขณะที่รัฐต้องสนับสนุนเงินงบประมาณ เครื่องมือกลไก ให้การปฏิบัติภารกิจบรรลุผล พร้อมสร้างขวัญกำลังใจให้สามารถรับมือผู้มีอิทธิพล นักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการนอกรีต ฯลฯ
ที่สำคัญอย่าคาดหวังว่าความพยายามป้องกันแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ ที่ดำเนินการมาต่อเนื่อง จะทำให้สหรัฐ EU พอใจ ช่วยปลดล็อกสินค้าส่งออก เพราะมีข้อพิสูจน์แล้วว่าแก้ปัญหาเดิมเสร็จเรียบร้อยไม่ทันไร ข้อท้วงติง เสนอแนะใหม่ ๆ ก็มีเข้ามาเพิ่ม
ภาครัฐจึงถูกมองว่าปล่อยให้ต่างชาติทำตามอำเภอใจ เนื่องจากหลายมาตรการที่ถูกเร่งรัดกดดันประกาศบังคับใช้ ส่งผลกระทบภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ภาคการประมงของไทยรุนแรง เกิดความสูญเสียในเชิงเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ามหาศาล
ถึงวันนี้การป้องปรามการค้ามนุษย์จึงต้องมุ่งดำเนินการเพื่อหลักมนุษยธรรม ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และรักษาไว้ซึ่งชื่อเสียงภาพลักษณ์ประเทศ เพราะหากยังมุ่งตอบสนองข้อเรียกร้องที่ไม่จบสิ้น นอกจากไม่คุ้มค่าแล้ว ความเสียหายก็จะยิ่งมีเพิ่ม