เรื่องของหมอบุญ ตอนที่ 1 : Think outside the Box

เรื่องของหมอบุญ ตอน 1 Think outside the Box
คอลัมน์ : เรื่องของหมอบุญ 
ผู้เขียน : วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย

ตอนที่ 1

นายแพทย์บุญ วนาสิน เป็นหมอผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหาร และเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งโรงพยาบาลธนบุรีที่มีอายุมานานเกือบครึ่งศตวรรษแล้ว

นายแพทย์บุญหรือหมอบุญ ในวันนี้มีอายุย่าง 84 ปี สำหรับสังคมวงกว้าง เมื่อก่อนหน้านี้อาจจะไม่มีใครรู้จักหมอบุญมากนัก ต่างจากทุกวันนี้ที่เชื่อว่า แม้แต่ลูกเล็กเด็กแดงก็คงจะคุ้นชื่อหมอบุญดีพอ ๆ กับชื่อโควิด-19

เหตุก็เพราะหมอบุญมักจะตกเป็นข่าวอยู่เสมอ และล่าสุดเมื่อหมอบุญออกมาคุยว่า สามารถนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิดบางชนิด เข้ามาช่วยคนไทยและรัฐบาลไทยได้ แต่เมื่อเรื่องไม่คืบหน้า หมอบุญจึงถูกวิจารณ์หนัก

เรื่องวัคซีนเป็นเรื่องยาว และคนอย่างหมอบุญก็หาได้ยอมแพ้ไม่

คนที่รู้จักหมอบุญดีก็คงจะพูดว่า นี่ละหมอบุญละ ธาตุแท้ของหมอบุญก็คือคนที่ไม่ยอมแพ้ ชอบคิดนอกกรอบและคิดเร็ว

นายแพทย์บุญ วนาสิน มีความเป็นหมอ เป็นครู และเป็นนักธุรกิจรวมอยู่ในตัวคนเดียวกัน เปรียบดังยอดดาราฟุตบอลที่เล่นได้สารพัดหน้าที่ และในหลายตำแหน่ง นอกจากจะเป็นคนคิดเร็ว คิดนอกกรอบแล้ว ที่สำคัญหมอบุญเป็นคนกล้าคิดกล้าทำ เดินหน้าไม่มีถอย

สหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเวียดนามได้เกิดภาวะขาดแคลนแพทย์หลายสาขา มหาวิทยาลัยด้านการแพทย์ต่าง ๆ จึงเกิดแนวคิดเปิดกว้าง เปิดโอกาสให้แพทย์จากทั่วโลกเข้าศึกษาต่อที่อเมริกาได้มากขึ้นกว่าปกติ

หลังจากจบคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หมอบุญเดินทางไปศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มจากการเป็นอินเทิร์นที่ School of Medicine ของ Virginia Commonweath University ในรัฐ Virginia 1 ปี ต่อด้วยเป็นแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาล Sinai Hospital ในรัฐ Maryland อีก 2 ปี หลังจากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ โดยเลือกเรียนในสาขาระบบทางเดินอาหาร

มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ ก่อตั้งโดยจอนส์ ฮอปกินส์ ในปี พ.ศ. 2419 นับเป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยในด้านการวิจัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา มีชื่อเสียงโดยเฉพาะด้านการแพทย์ การสาธารณสุข และการพยาบาล

จอนส์ ฮอปกินส์ ใช้ระบบการคัดเลือกนักเรียนแพทย์ในรูปแบบพีระมิด เป็นหลักสูตรที่เข้มข้น และจะค่อย ๆ คัดเลือกเอาผู้ที่ไม่เก่งจริงในระดับฐานล่างออกไปเรื่อย ๆ จนเหลือระดับพวก “หัวกะทิ” เพียงคนเดียว

หมอบุญจากประเทศไทย ผ่านมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์มาด้วยระบบการคัดเลือกแบบนี้

นายแพทย์เหลือพร ปุณณกันต์ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ กรรมการผู้จัดการศิริราชมูลนิธิ ซึ่งเป็นศิษย์ผู้น้องร่วมมหาวิทยาลัยมหิดลกับหมอบุญบอกว่า

“จอนส์ ฮอปกินส์ เป็นมหาวิทยาลัยด้านการแพทย์ที่คนแย่งกันไปเรียน เพราะติดระดับ top 5 ของสหรัฐอเมริกา ปกติจะเปิดรับจำนวนจำกัดมาก เพราะส่วนใหญ่ก็จะรับคนที่เป็น American citizen”

นายแพทย์เหลือพรกล่าวว่า “พี่บุญ” ต้องสอบบอร์ดการเป็นแพทย์ และการสอบบอร์ดแพทย์ระบบทางเดินอาหารนั้นจะต้องเก่งมากถึงอยู่ได้จนจบ จะต้องเก่งกว่าคนที่เป็น American citizen เพราะคนสัญชาติอเมริกันบางคนยังอยู่ที่นี่ได้แค่ปีหนึ่ง จะขึ้นปีสองไม่ผ่านก็ต้องออกไปอยู่ที่อื่น

หมอบุญเรียนด้านระบบทางเดินอาหารอยู่ที่มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ 3 ปี เป็น fellow อีก 2 ปี จบการศึกษาภายใน 5 ปี ในขณะที่คนอื่นใช้เวลาเรียนอยู่ถึง 6 ปี นายแพทย์เหลือพรกล่าวว่า “จบเร็วกว่าชาวบ้าน เพราะความเก่งบวกนิสัยไม่ยอมแพ้”

นี่ต้องเรียกว่า เก่งจริง นักเลงจริง

หมอบุญตั้งโรงพยาบาลธนบุรีขึ้นปี 2519 ก็ด้วยแนวคิดเพื่อใช้เป็นที่รองรับคนไข้ที่ล้นมาจากโรงพยาบาลศิริราช ในสมัยนั้น โรงพยาบาลธนบุรีได้ชื่อว่าเป็น “ศิริราช 2” ก็เพราะได้ “อาจารย์หมอ” จากศิริราชมาประจำอยู่ครบแทบทุกสาขา

อดีตของหมอบุญก็เคยเป็น “อาจารย์หมอ” ของโรงพยาบาลศิริราชมาก่อน และในชีวิตรักษาคนไข้นานนับ 10 ปี ก่อนที่จะอำลาชีวิตราชการมา หมอบุญมี “หมอลูกศิษย์” หลายร้อยคน

หมอบุญนับเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกโรงพยาบาลเอกชนในยุคต้น ๆ โรงพยาบาลธนบุรี ถึงวันนี้ก่อตั้งมาได้ 45 ปีแล้ว และได้เติบโตเป็นอาณาจักรสุขภาพ ภายใต้การบริหารงานของ THG หรือว่า บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ด้วยความที่เป็นครู เป็นหมอ และเป็นนักธุรกิจ หมอบุญยังได้สร้างคุณูปการที่สำคัญขึ้นให้กับวงการศึกษาวิทยาศาสตร์ นั่นก็คือเป็นผู้คิดริเริ่มตั้งโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ขึ้นในปี 2534 ในขณะที่มีแต่เสียงวิจารณ์ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะขัดต่อระเบียบราชการ แต่หมอบุญก็สู้จนกระทั่งได้ทำ MOU ขึ้นระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลกับกรมสามัญศึกษาในที่สุด

หมอบุญ “ทำคลอด” โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และดูแลจนเติบโตได้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์อันดับหนึ่งของประเทศ และมีฐานะปัจจุบันเป็นองค์การมหาชน โดยที่หมอบุญนั่งตำแหน่งนายกสมาคมผู้ปกครองและครูของโรงเรียนคนแรก และยังเป็นอยู่จนถึงทุกวันนี้

เมื่อมหาวิทยาลัยมหิดลตั้งศูนย์ประยุกต์และบริการวิชาการขึ้นในปี 2528 เป็นหน่วยงานเพื่อหารายได้เข้ามหาวิทยาลัย แทนที่จะรอแต่งบประมาณจากรัฐอย่างเดียวนั้น นายแพทย์ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ อธิการบดีในขณะนั้น ยังได้เจาะจงขอหมอบุญไปดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิชาการแห่งนี้โดยเฉพาะ

หมอบุญผู้คิดนอกกรอบและทำเร็ว ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์คนแรกของศูนย์ประยุกต์และบริการวิชาการ สามารถทำรายได้เข้ามหาวิทยาลัยได้ปีละประมาณ 100 ล้านบาท และเคยสร้างอภินิหารสามารถทำรายได้ถึง 500 ล้านบาทในบางปี ศูนย์แห่งนี้มีบริการทางวิชาการที่หลากหลายในสาขาต่าง ๆ กัน รวมทั้งการรับทำงานวิจัยและงานห้องปฏิบัติการด้วย

ทั้งหมดนี่ละคือหมอบุญ หรือนายแพทย์บุญ วนาสิน ผู้คิดนอกกรอบ คิดเร็วและไม่ยอมแพ้ ประเภทเก่งจริงนักเลงจริงอย่างที่ว่า

ในยุคโควิด-19 นี้ เชื่อว่าชื่อของหมอบุญคงจะคุ้นหูคนไทยและสังคมไทยไปอีกนาน