เรื่องของหมอบุญ ตอนที่ 3 : The Boon Supremacy

หมอบุญ
คอลัมน์ : เรื่องของหมอบุญ
ผู้เขียน : วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย

โรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนเราต้องมีสักวันที่ต้องเจ็บไข้ล้มหมอนนอนเสื่อช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องให้หมอช่วย เมื่อ 50 ปีก่อนมีเพียงโรงพยาบาลศิริราชแห่งเดียวเท่านั้นที่พร้อมที่สุด เพราะเป็นที่รวมหมอในทุกสาขาที่เก่งที่สุดไว้ จึงมีผู้ป่วยจากทั่วสารทิศบ่ายหน้ามาหา เข้าคิวรอกันเหยียดยาวยิ่งกว่าขบวนรถไฟ

โรงพยาบาลธนบุรีถือกำเนิดขึ้นมาด้วยสถานการณ์สาธารณสุขเช่นนี้

นายแพทย์เหลือพร ปุณณกันต์ ศิษย์รุ่นน้องร่วมสำนัก นายแพทย์บุญ วนาสิน หรือหมอบุญเล่าถึงความเป็นมา มีความตอนหนึ่งว่า

“วันดีคืนดีอาจารย์บุญมาชวนคุยว่า ศิริราชนี่มันแน่นเหลือเกิน คนที่รอเตียงก็ต้องรอยาวเลยกว่าจะได้ อาจารย์ก็เลยมีความคิดว่า อยากทำโรงพยาบาลเอกชนสักแห่ง ตอนนั้นผมเข้าใจว่าสิ่งที่อาจารย์อยากทำคือให้คนที่รอคิวศิริราชมานอนพักรักษาตัวสัก 2-3 วัน พอได้เตียงที่ศิริราชแล้วค่อยย้ายเข้าไป ตอนแรก ๆ อาจคิดกันแค่นั้นครับ”

ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับหมอบุญก็ถือหุ้นโรงพยาบาลธนบุรี นับตั้งแต่เริ่มมาจนถึงทุกวันนี้ได้กล่าวถึงหมอบุญว่า

“บุญเป็นคนที่เพื่อนรักมาก เพื่อน ๆ ไว้ใจ แต่บอกว่าจะทำโรงพยาบาล เพื่อนก็มาลงหุ้นช่วยกัน”

หมอสมศรีบอกว่าอาจารย์หมอส่วนใหญ่ที่มาลงทุนกับหมอบุญเป็นผู้ที่มีเงินเก็บ แต่ไม่มีหัวทางธุรกิจ หมอบุญไม่ต้องอธิบายมาก ทุกคนยอมรับด้วยเชื่อในมุมมองทางธุรกิจของหมอบุญ แล้วหมอบุญผู้กล้าคิดกล้าทำ ก็ทำให้หมอทั้งหลายได้เห็นผลจริง ๆ

“ทุกคนชอบลงทุนกับอาจารย์บุญ เพราะง่ายไม่ยุ่งยาก ซึ่งท่านก็ทำได้ดีจริง ๆ เพราะมีเงินปันผลให้หุ้นส่วนในปีแรก ๆ เลย” นายแพทย์อุดม คชินทร ลูกศิษย์สายตรงของหมอบุญยืนยัน

โรงพยาบาลธนบุรีเริ่มต้นมาอย่างไร เรื่องนี้ต้องฟัง ดร.เจษฎา ธรรมวณิช อาจารย์ประจำด้านทรัพย์สินทางปัญญา ระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลเล่า

ดร.เจษฎาย้อนภาพการเกิดของโรงพยาบาลธนบุรีเมื่อเริ่มต้นว่า หลังจากที่หมอบุญได้หมายตาเล็งเห็นสถานที่ที่เห็นว่าเหมาะสมจะเป็นโรงพยาบาลแล้ว ก็ไม่ยอมรอช้าเสียเวลาในการสร้างตึกขึ้นมาใหม่ แต่มุ่งเข้าเจรจาให้เจ้าของสถานที่เห็นดีเห็นงามไปด้วยที่จะเปลี่ยนจากโรงเรียนมาเป็นโรงพยาบาล เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับหมอบุญแล้วไม่ยาก

หมอบุญสามารถเปลี่ยนใจนิตย์ แสงอุทัย กับถนอมศรีภรรยาเจ้าของโรงเรียนแสงศึกษาให้ปรับเปลี่ยนโรงเรียนมาเป็นโรงพยาบาลได้ในที่สุด

“คุณนิตย์กับคุณถนอมศรีท่านทำโรงเรียนอยู่ อาจารย์บอกเลิกทำโรงเรียนเถอะ มาทำโรงพยาบาลดีกว่า ได้ช่วยคน ช่วยเหลือสังคมที่ลำบาก คือแทนที่อาจารย์จะไปเจรจาขอซื้อที่ดิน ท่านใช้วิธีชวนเจ้าของที่ให้มาเป็นหุ้นส่วนด้วย”

ดร.เจษฎาสรุปว่า หมอบุญได้ทั้งสถานที่และตึกมาโดยที่เจ้าของเต็มใจ นี่จะเรียกว่าอภินิหารของหมอบุญที่มีมานับแต่แรกตั้งโรงพยาบาลก็ว่าได้

การได้สถานที่ที่อยู่ใกล้กับโรงพยาบาลศิริราช นายแพทย์อุดม คชินทร บอกว่า ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญในการปูทางไปสู่ความสำเร็จ เพราะหมอจากศิริราชสามารถเดินทางไปมาสะดวก “สิบนาทีก็ถึงแล้วครับ ตอนหลังมีโรงพยาบาลเอกชนที่อื่น ๆ มาขอให้ไปช่วย ก็ไม่มีใครไป เพราะไม่อยากเดินทางไกล” หมออุดมว่า

โรงพยาบาลธนบุรีได้หมอจากศิริราชมาเกือบทุกสาขา จึงได้ชื่อว่าเป็น “ศิริราช 2” ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

สิ่งที่หมอบุญทำเป็นธุรกิจแบบ win-win คือต่างฝ่ายต่างได้ หมอมีรายได้เพิ่มโดยไม่ต้องไปเปิดคลินิกให้เหนื่อย หลังเลิกงานตอนเย็นก็ย่างเท้าก้าวเข้ามาที่นี่ ในขณะที่โรงพยาบาลธนบุรีก็ได้หมอเก่งเกือบทุกสาขามาดูแลคนไข้ ถึงแม้ว่าจะเปิดใหม่แต่ก็มีความพร้อมครบในแทบทุกด้าน นายแพทย์เหลือพรก็เป็นหนึ่งในอาจารย์หมอ และอีกหลาย ๆ คนที่มาช่วยงานอยู่ที่โรงพยาบาลธนบุรีนานถึง 30 ปี

เมื่อแรกเริ่มเปิดตัวโรงพยาบาลธนบุรีได้รับเสียงวิจารณ์ว่า ไม่น่าจะอยู่รอดได้เพราะพื้นที่ฝั่งธนบุรีในยุคนั้นไม่ใช่พื้นที่ทำธุรกิจ พื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาในขณะนั้นเป็น “บ้านนอก” ตามสายตาของคนกรุงเทพฯ ผู้มีฐานะและธุรกิจสำคัญ ๆ ล้วนอยู่ฝั่งพระนคร

แต่หมอบุญว่าอย่างไร

หมอบุญเชื่อว่า “คนไข้จะติดหมอ” เพราะ “คุณมาที่นี่ได้เจอหมอศิริราชแน่นอน ไม่ต้องรอคิวนานอีกด้วย” นายแพทย์อุดม คชินทร บอกว่า หมอบุญเป็นคนอ่านขาด เล็งเห็นการณ์ไกล และนี่คือ mindset ของคนไทยคนหนึ่ง

นายแพทย์อุดม คชินทร ช่วยดูแลคนไข้ด้านระบบทางเดินอาหารให้โรงพยาบาลธนบุรีอยู่ถึง 15 ปี จนเมื่อขึ้นมาเป็นผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ถึงได้ยุติบทบาทที่นี่ไป

โรงพยาบาลธนบุรีตั้งขึ้นในปี 2519 นับเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่ผงาดขึ้นในย่านฝั่งธนฯ และมีความพร้อมที่สุด ในขณะที่ฝั่งพระนครนั้นโรงพยาบาลกรุงเทพของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ได้ลงหลักปักฐานเป็นเจ้าแรกขึ้นที่ซอยศูนย์วิจัย

นายแพทย์อุดม คชินทร บอกว่าข้าราชการสมัยก่อนถูกปลูกฝังมาว่าจะคิดแบบเอกชนไม่ได้ นับเป็นเรื่องต้องห้าม เหมือนมีกำแพงกั้น ทำได้ก็แค่ตั้งคลินิกเล็ก ๆ หลังเลิกงานประจำ คิดทำอย่างอื่นนับเป็นเรื่องไกลตัว แต่หมอบุญไม่ใช่อย่างนั้น หมอบุญก็คิดไม่เหมือนใคร และกล้าคิดกล้าทำ

แนวคิดในการตั้งโรงพยาบาลเอกชนเมื่อกว่า 50 ปีก่อน นับเป็นเรื่องยากมากเป็นไปไม่ได้ ทั้งโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลธนบุรีต่างเกิดขึ้นมาจากคนคิดนอกกรอบ แต่อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ก็ยังมี นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วิทยากร เป็น “คู่หูดูโอ” ช่วยกันคิดตั้งโรงพยาบาลกรุงเทพขึ้นมาเพราะเป็นเพื่อนรักกัน ในขณะที่หมอบุญของเราทำโรงพยาบาลธนบุรีแบบลุยแหลกคนเดียว ไม่ต่างไปจาก “ศิลปินเดี่ยว” เท่าไรนัก

นายแพทย์บุญ วนาสิน ไม่ได้จับเรื่องธุรกิจแค่โรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังได้จับทำธุรกิจจัดสรรที่ดินขึ้นมาด้วยในหลายแห่ง

45 ปีผ่านมาด้วย “อภินิหารของหมอบุญ” โรงพยาบาลธนบุรีไม่เพียงแต่เติบโตขึ้นมาด้วยทุนจดทะเบียนมากกว่า 840 ล้านบาท แต่ยังได้กลายเป็นอาณาจักรสุขภาพที่มีเครือข่ายกว้างขวาง เช่นว่ามีโรงพยาบาลในประเทศ 8 แห่ง กับมีที่ประเทศเมียนมาอีก 1 แห่ง นอกเหนือไปจากทำธุรกิจรักษาพยาบาล รับบริหารจัดการโรงพยาบาลผ่านบริษัทย่อยและบริษัทร่วม รวมไปถึงการทำธุรกิจดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุอันเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่อง และที่สุดก็ได้แก่การทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

อาณาจักรของหมอบุญได้เดินเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯในปี 2560 ภายใต้ชื่อ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG

นายแพทย์บุญ วนาสิน จำต้องอำลาชีวิตราชการจากโรงพยาบาลศิริราชไปหลังจากที่ทำโรงพยาบาลธนบุรีได้ประมาณ 5 ปี ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลดังที่นายแพทย์อุดม คชินทร ได้กล่าวถึงไว้ ดังนี้

“การที่หมอจากศิริราชไปช่วยงานที่โรงพยาบาลธนบุรีกันมาก คนก็เริ่มมองว่าอาจารย์บุญใช้ประโยชน์จากศิริราช คือ ตอนที่โรงพยาบาลธนบุรีเปิดใหม่ ๆ เวลาหมอไปดูคนไข้ก็อาจเอาเครื่องมือเล็ก ๆ น้อย ๆ จากศิริราชติดไปด้วยตอนเย็น เพราะอยากให้คนไข้ได้รับการรักษาที่ดี แต่เช้าก็เอามาคืน พอมีเคสผ่าตัดก็ชวนพยาบาลที่ทำงานเข้ากันไปช่วยด้วย เป็น part time หลังเวลาราชการ ก็เลยเกิดการไปในแบบแพ็กเกจ หมออีกกลุ่มหนึ่งก็เริ่มไม่พอใจ”

หมอบุญก็เลยตัดสินใจลาออก เพื่อไม่ให้เกิดการครหา

หมอบุญออกจากศิริราชไปแล้ว แต่กระนั้นก็ยังแวะเวียนมาเป็นอาจารย์สอนพิเศษอยู่อีกหลายปี ด้วยเพราะมีใจรักในการสอนหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ

ย้อนมองไปแล้วนายแพทย์บุญ วนาสิน เหมือนว่าถูกกดดันให้ต้องลาออกจากชีวิตราชการในวัยเพียงแค่ 40 ปี


มีคำกล่าวว่า ชีวิตคนเราเริ่มต้นเมื่ออายุ 40 หมอบุญก็คงเป็นเช่นนั้นนับต่อจากนี้ไป