เรื่องของหมอบุญ ตอนที่ 4 : The Good Doctor

หมอบุญ
คอลัมน์ : เรื่องของหมอบุญ
ผู้เขียน : วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย

สถานการณ์โควิด-19 กับวัคซีน ทำให้ภาพของ นายแพทย์บุญ วนาสิน หรือหมอบุญ เป็นหมอธุรกิจที่มุ่งแต่จะหาเงินเท่านั้น แต่จะมีใครสักกี่คนที่รู้เรื่องความเป็นมาของหมอบุญดี นอกจากผู้ที่ได้เคยร่วมงาน เคยทำงานกับหมอบุญมาก่อน

ผู้ที่เคยร่วมงานได้เคยทำงานกับหมอบุญอย่างใกล้ชิดต่างก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า หมอบุญคือ the good doctor คนหนึ่งของเมืองไทย

ถึงเรื่องโควิด-19 ก็เถิด

สุดจิตร เมืองเกษม อดีตพยาบาลจากโรงพยาบาลราชวิถี หลังจากที่ลาออกจากราชการแล้วไปเรียนต่อต่างประเทศ กลับมาเข้าทำงานอยู่กับโรงพยาบาลธนบุรีมานับตั้งแต่แรกตั้ง ปัจจุบันเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์โรงพยาบาลธนบุรี ได้กล่าวถึงหมอบุญว่ามีบทบาทที่สำคัญอย่างไรบ้าง สำหรับสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นในประเทศนี้

สุดจิตรบอกว่า หมอบุญนี่แหละ ที่เป็นผู้สั่งการให้เปิดโรงพยาบาลสนามขึ้นเป็นการด่วนถึง 3 แห่ง เพื่อรองรับผู้ป่วยทั้งอาการปานกลางและอาการหนัก เมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในไทยเข้าสู่เวฟที่ 3 ในการนี้หมอบุญได้ดึงเอาบุคลากรในเครือ THG กว่า 300 คน เข้ามาร่วมดูแลผู้ป่วยด้วย

“พอมีข่าวคนเสียชีวิตข้างถนน อาจารย์ก็บอกว่า เราต้องทำเรื่องนี้แล้ว” สุดจิตรว่า หมอบุญได้สั่งการอย่างเร่งด่วน และหมอทุกคนในโรงพยาบาลก็เห็นว่าอาจารย์ได้ตัดสินใจถูกแล้ว เพราะโควิด-19 กำลังอยู่ในขั้นพีก และอาจารย์บอกว่าเราต้องเข้าไปช่วยคนไข้ โดยไม่ต้องมีข้อแม้ใด ๆ

เดือนกรกฎาคม 2564 โรงพยาบาลสนาม มทบ.11 ที่อาจารย์บุญสร้างขึ้นได้ชื่อว่าเป็น ICU สนามแห่งแรกของประเทศ

โรงพยาบาลสนามแห่งนี้เมื่อเปิดตัวสามารถรองรับผู้ป่วยระดับเหลือง-แดงได้ 494 เตียง ตามมาด้วยโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน 2 แห่งนี้รองรับผู้ป่วยรวมกันได้ 345 เตียง

จะเห็นว่าหมอบุญทำอะไรไม่ธรรมดา

สุดจิตร เมืองเกษม เป็นผู้หนึ่งในแกนหลักของทีมสร้าง ICU นี้ขึ้นเล่าว่า เฉพาะ ICU ที่สนาม มทบ.11 สร้างขึ้นเสร็จแค่ภายใน 2 เดือน ใช้งบประมาณไปประมาณ 200 ล้านบาท เน้นการใช้นวัตกรรมเข้ามาบริหารจัดการ โดยเฉพาะจนได้รับคำชมเชยจากองค์กรต่างประเทศ

“ICU สนาม มทบ.11 ใช้นวัตกรรม 2 เรื่อง หนึ่ง ติดตั้งระบบ telemedicine ในการติดต่อผู้ป่วย สอง ใช้ robot ทำหน้าที่ส่งอาหาร ส่งยา ถ้าให้บุคลากรการแพทย์สวมชุด PPE เข้าไปหาผู้ป่วยจะเสียเวลามาก อาจารย์บอกว่าใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยดีกว่า แล้วก็ช่วยป้องกันบุคลากรของแพทย์ด้วยค่ะ” สุดจิตร เมืองเกษม บอกว่า การใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยงาน เกิดจากความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เป็นการป้องกันบุคลากรการแพทย์ เป็นหัวใจสำคัญ เนื่องจากว่าในบางประเทศ ต้องขาดหมอ ขาดพยาบาลทำงานก็เพราะติดเชื้อกันหมด

และนี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่อาจารย์บุญสั่งการด่วน แบบคิดเร็ว ทำเร็วอย่างนี้

“ตอนเกิดเหตุการณ์สึนามิ เมื่อปี 2547 อาจารย์ก็สั่งให้รถพยาบาลธนบุรี 3 คัน พร้อมกับหมอ พยาบาล จำนวนหนึ่งลงไปช่วยเรื่องปฐมพยาบาล ช่วยขนศพ ช่วยพิสูจน์อัตลักษณ์ศพ ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีหน่วยงานใดลงไป” สุดจิตรว่า ในขณะนั้นเป็นพยาบาลก็อยู่ในทีมจิตอาสานี้ด้วย

หมอบุญไม่เคยนิ่งดูดายทุกข์ยากของสังคมไทยคนไทย แม้จะได้ชื่อว่าเป็นหมอธุรกิจ หมอบุญก็ยังเป็นหมอบุญที่ใจบุญในเรื่องนี้ และพร้อมที่จะเยียวยาคนไข้ทุกลมหายใจเข้าออก

หมอบุญทำอะไร ก็มักจะมองไกลอยู่เสมอ สถานการณ์โควิด-19 แนวคิด hospitel ที่ภาคธุรกิจโรงแรม รพ.เอกชน เข้าร่วมกับภาครัฐเกิดขึ้นแห่งแรกที่โรงแรมพูลแมน ก็มาจากฝีมือของหมอบุญ hospitel ต่อมาสร้างขึ้นที่กรุงเทพฯ มากถึง 9 แห่ง เพื่อรองรับผู้ป่วยระดับสีเขียว ได้มากกว่า 2,300 เตียง นอกเหนือไปจากที่หมอบุญทำสนามฉีดวัคซีนร่วมกับ กทม. ที่ Thai PBS กระจายภูมิคุ้มกันได้อีกวันละ 500-1,000 คน

ไม่มีใครรู้ว่าหมอบุญทำอะไรมาก่อนหน้านี้หรอก จนกระทั่งหมอบุญพูดถึงเรื่องการซื้อวัคซีน

เรื่องนี้หมอบุญยืนกรานเล่าถึงความหลังย้อนให้ฟังว่า เนื่องจากกลุ่ม THG นั้นเคยมีโรงพยาบาลอยู่ที่จีน และมีความสนิทกันกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง จึงได้รู้ว่าก่อนเดือนธันวาคม 2562 นั้น ได้มีรายงานว่าพบไวรัสตัวใหม่ในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งติดต่อและกลายพันธุ์ได้รวดเร็วมาก ด้วยความเป็นห่วงและคิดเร็วทำเร็ว หมอบุญจึงเริ่มต้นพูดเรื่องวัคซีนและการหาวัคซีนมาป้องกัน

“เมื่อโควิด-19 รักษาไม่ได้ ตัวสำคัญที่สุดคือ วัคซีนครับ ผมยืนยันมาตลอดว่าเราจะต้องฉีดให้ได้ 85-90% ประชาชนที่ได้รับวัคซีนก็จะมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อไปด้วย แต่ที่น่าห่วงที่สุดคือ เด็ก เพราะเด็กไม่มีภูมิ และก็ไม่ได้วัคซีน” หมอบุญกล่าวถึงเหตุการณ์ในขณะนั้น

“เมืองไทยต้องพึ่งต่างประเทศถึง 95% ตั้งแต่ท่องเที่ยว 12% การนำเข้า-ส่งออก 51% แรงงานต่างประเทศอีก เมื่อรวม ๆ กันแล้วก็คือ เราต้องพึ่งต่างประเทศกว่า 90%” หมอบุญอธิบายว่า ในเมื่อเมืองไทยในขณะนั้นมีคนจีนที่เข้าออกอยู่มากมาย “โอกาสที่เราจะหลุดจากไวรัสตัวนี้คงยาก เพราะฉะนั้นถ้าเราป้องกันไม่ดี มันจะกระทบหมดเลยนะครับ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม” หมอบุญว่านี่คือ จุดเริ่มต้นของที่มาที่ไปว่าด้วยเรื่องวัคซีน ที่ทำให้หมอบุญกลายเป็นคนดังของประเทศในชั่ววันข้ามคืน

หมอบุญเห็นว่า รัฐบาลขยับตัวช้ามาก ทั้งที่โรคร้ายปรากฏเงาทะมึนอยู่เบื้องหน้า และเมื่อประเมินความรุนแรงที่เกิดในจีนขณะนั้นแล้ว คิดว่าถ้าเข้ามาเมืองไทยคงจะเอาไม่อยู่ ทั้งผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต เศรษฐกิจทั่วประเทศจะได้รับผลกระทบ

“การเห็นคนไข้ตายต่อหน้าโดยที่เราช่วยไม่ได้ในทางการแพทย์ เรารับไม่ได้นะครับ” หมอบุญย้ำ

“วัคซีนที่ดีที่สุดคือ mRNA รัฐบาลช้าเราก็อยากจะนำเข้ามา เพื่อช่วยเหลือคน ประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ ถ้าเขาไม่ออกไปทำงาน เขาก็อดตาย เราก็ต้องฉีดให้เขาด้วย แต่ปัญหาคือ เราสั่งซื้อไป 30 ล้านโดส เมื่อเดือนมีนาคม 2564 แต่รัฐบาลบอกว่าเราสั่งไม่ได้ เพราะเป็นเอกชน เขาไม่ยอมออกหนังสือรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งบริษัทผู้ผลิตวัคซีนขอ ตามธรรมเนียมการซื้อขายวัคซีนที่ได้อนุมัติแบบเร่งด่วน หลังจากยอดผู้เสียชีวิตมากขึ้น รัฐบาลก็บอกโอเค ให้เอกชนนำเข้ามาผ่านองค์การเภสัชกรรม เราก็สั่งโมเดอร์นา”

หมอบุญร่ายยาวย้อนความหลังแบบที่รู้ดีว่า ตนเองถูก “เตะตัดขา” จึงไม่สามารถนำเข้าวัคซีนได้ หมอบุญถูกมองว่า ขยับเรื่องนี้เพราะธุรกิจล้วน ๆ

“ผมกลายเป็นคน 0.1% ของประเทศ สังคมเกิดคำถามว่าคุณทำมาหากินหรือเปล่า พูดอะไรออกไปก็ยากแล้ว แต่จะว่าเขาไม่ได้ เพราะเมืองไทยเวลานี้ ที่เราขาดมากคือ ผู้นำที่คนให้ความเคารพ เชื่อฟัง อยากทำตาม นี่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ผมไม่ได้อยู่ในฐานะผู้นำทางความคิดอะไร ผมทำในสิ่งที่คิดว่าต้องทำ และเรื่องบางเรื่อง ถึงพูดไปคนก็ไม่เชื่ออยู่ดี”

หมอบุญพูดถึงเรื่องนี้คล้ายว่าปลงแล้ว

อดีตเมื่อครั้งที่ยังสวมชุดกาวน์รักษาคนไข้ นายแพทย์บุญ วนาสิน หรือ “หมอบุญ” ได้ชื่อว่าเป็นหมอที่ดีจนคนไข้ติด เพราะหมอบุญไม่เพียงแต่เป็นหมอที่เก่ง ยังดูแลเอาใจใส่พูดจากับคนไข้อย่างดี และเป็นกันเอง

“อาจารย์จะใช้เวลากับคนไข้รายหนึ่งบางทีเป็นชั่วโมงค่ะ เวลาอาจารย์คุยกับคนไข้รายหนึ่งก็จะมีญาติ ๆ เข้ามากันเต็มห้อง เพราะอาจารย์ชอบให้ความรู้ อาจารย์บอกเสมอว่า ยาเป็นส่วนหนึ่ง แต่ความเข้าใจในโรคมีส่วนทำให้ผลการรักษาดีขึ้น คนไข้ไม่ได้จำทุกอย่างที่หมอพูด แต่ญาติจะเป็นคนเตือนความจำว่า อาจารย์เคยบอกอะไรไว้” สุดจิตร เมืองเกษม เล่าถึงเมื่อสมัยทำหน้าที่จัดตารางการตรวจให้หมอบุญ

ส่วน นายแพทย์อุดม คชินทร ลูกศิษย์ที่เคยทำงานร่วมกับหมอบุญมาทั้งที่ศิริราช และโรงพยาบาลธนบุรี บอกว่า “คนไข้จะติดหมอบุญ” ตามมารักษาที่โรงพยาบาลธนบุรีก็ยังเรียกชื่อว่า “โรงพยาบาลหมอบุญ”

“อาจารย์ทั้งฝีมือดี และคุยเก่ง คนไข้ติดอาจารย์กันทั้งนั้นล่ะครับ ถึงช่วงปีใหม่ ตรุษจีน คนไข้เอาของมาฝากเยอะแยะไปหมด” นายแพทย์อุดมเล่า

นายแพทย์อุดมบอกว่า หมอบุญจะสอนเสมอว่า มีสองเรื่องที่สำคัญสำหรับประเทศคือ การศึกษากับการสาธารณสุข เมื่อสมัยเป็นอาจารย์แพทย์สิ่งที่หมอบุญได้สร้างคุณูปการไว้กับประเทศนี้ก็คือ เรื่องการรักษาโรคท้องเสีย

เป็นที่รู้จักกันดีในวงการแพทย์ว่า จุดเด่นของอาจารย์บุญก็คือ เรื่องท้องเสีย

โรคท้องเสียเป็นโรคที่พบมากในประเทศไทย เมื่อครึ่งศตวรรษก่อน นายแพทย์อุดมว่า สมัยที่ระบบสาธารณสุขยังไม่ดีพอ หมอบุญเป็นคนแรกที่ได้ใช้แนวคิดการรักษาโรคท้องเสียแบบสมัยใหม่ ด้วยการใช้น้ำเกลือแร่ ซึ่งเป็นวิธีการจากต่างประเทศ ที่หมอบุญนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับเมืองไทย

“แต่ก่อนนี้เวลาท้องเสียก็รักษากันตามมีตามเกิดล่ะครับ อาจารย์บุญใช้วิธีการเพาะเชื้อขึ้นมาเพื่อให้รู้ว่าเป็นแบคทีเรียหรือเป็นไวรัส ถ้าแบคทีเรียก็กินยาปฏิชีวนะ ถ้าเป็นไวรัสก็รักษาตามอาการ ท่านเป็นคนเปิดศักราชใหม่ทั้งการสอน การรักษา จนได้ชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อไดอะเรีย (diarrhea)”

นายแพทย์อุดม คชินทร กล่าวว่า งานวิจัยเรื่องโรคท้องเสียของหมอบุญ ยังคงเป็นตำราเรียนของศิริราชจนทุกวันนี้

นี่คือภาพที่จริงแท้ของนายแพทย์บุญ วนาสิน หรือหมอบุญ ที่คนรักหมอบุญอยากจะให้จดจำ

นายแพทย์บุญเคยวิเคราะห์ว่า การสาธารณสุขของประเทศไทยนั้น “ดีเกือบที่สุด” มีข้อผิดพลาดอยู่นิดเดียวเท่านั้นคือ การสอนที่ไม่ถูกต้องของโรงเรียนแพทย์