เรื่องของหมอบุญ ตอนที่ 5 : The Boon Legacy

นายแพทย์บุญ วนาสิน
นายแพทย์บุญ วนาสิน
คอลัมน์ : เรื่องของหมอบุญ
ผู้เขียน : วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย

ประเทศไทยตกอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง (middle income trap) คือไม่ด้อยพัฒนาแต่ก็ไม่ได้เจริญขึ้น เพื่อนบ้านในอาเซียนที่พ้นกับดักนี้ไปแล้ว ขณะนี้มีเพียงแค่สิงคโปร์ มาเลเซีย กำลังจะพ้น ส่วนไทยเราไม่ขึ้นไม่ลงติดหล่มอยู่ตรงนี้มานานแล้ว จนเวียดนามไล่หลังมาและมีทีท่าว่าจะแซงหน้าเราไป

การพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางหมายถึงการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว นับว่าเป็นเรื่องที่ก้าวข้ามไปได้ยาก และมีอยู่สิ่งเดียวเท่านั้นที่จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนนำไปสู่ความสำเร็จก็ได้แก่เทคโนโลยี

ตัวอย่างที่น่าทึ่ง คือญี่ปุ่นกับเกาหลี 2 ประเทศนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดดและพ้นกับดักไปได้ ก็คือรัฐบาลมีการส่งเสริมให้เกิดนักวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง

ความฝันของ นายแพทย์บุญ วนาสิน หรือหมอบุญของเราก็อยู่ที่ตรงนี้

ดร.เจษฎา ธรรมวณิช อาจารย์ประจำด้านทรัพย์สินทางปัญญา ระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การส่งเสริมให้เกิดโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนวิทยาศาสตร์ขึ้นโดยเฉพาะ นับเป็นปณิธานหนึ่งที่นายแพทย์บุญ วนาสิน ทุ่มเทมากว่าครึ่งชีวิต เริ่มตั้งแต่เพาะเมล็ด เลี้ยงดูต้นกล้าจนเติบโตขึ้นเป็นต้นไม้ใหญ่

ดร.เจษฎาก็เป็นผู้หนึ่งที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้มาร่วมกับหมอบุญในสมัยที่เป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ประยุกต์และบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล “ตอนแรกเลยอาจารย์บุญอยากทำโรงเรียนสาธิตมหิดลน่ะครับ แต่ท่านไม่ศึกษาระเบียบราชการ สุดท้ายทำไม่ได้ เพราะเราไม่มีคณะศึกษาศาสตร์ หรือคณะครุศาสตร์ เราไม่มีคณะที่ผลิตครู”

ดร.เจษฎาว่า หมอบุญเป็นคนที่ไม่ชอบระเบียบราชการเอามาก ๆ พอ ๆ กับเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้ แม้ว่าจะเผชิญกับปัญหาใหญ่ แต่ก็ทำจนได้ในที่สุด

“ท่านไปคุยกับ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ก็เลยเริ่มต้นเล็ก ๆ ก่อน คือให้มหาวิทยาลัยมหิดล ทำ MOU กับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อผลิตนักเรียนชั้น ม.4-ม.6 สายวิทยาศาสตร์” ดร.เจษฎาว่า แต่ถึงอย่างไรก็ต้องไปสังกัดกรมสามัญศึกษาอยู่ดี ทั้งที่รู้ว่าระบบราชการนั้นจะผลิตคนเก่งขึ้นมาได้ยากยิ่ง

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เปิดทำการในวันที่ 8 พฤษภาคม 2534 บนที่ดินวัดไร่ขิง “สมัยนั้นท่านอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านเป็นประธานเปิดโรงเรียน ท่านนายกฯยังทึ่งที่อาจารย์บุญทำได้ขนาดนี้ เพราะอาจารย์จ่ายเงินเองทั้งนั้นเลยครับ เพื่อให้โรงเรียนเปิดให้ได้” ดร.เจษฎาเล่า

เศวต ภูภากรณ์ อดีตรองผู้อำนวยการ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เล่าถึงการดำเนินงานในช่วง 10 ปีแรก ที่อยู่ในสังกัดกรมสามัญศึกษาว่า ระยะเริ่มต้นหมอบุญทำหน้าที่สัมภาษณ์อาจารย์ที่จะมาสอนด้วยตัวเองเลย ทั้งอาจารย์คนไทยและต่างประเทศ รวมทั้งการใช้ความสัมพันธ์ของหมอบุญเองที่มีอยู่อย่างกว้างขวางเชิญอาจารย์มหาวิทยาลัย และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นมาบรรยายพิเศษให้นักเรียนฟังอยู่เสมอ

นอกจากนี้หมอบุญยังได้ช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ยากจนเป็นพิเศษด้วย เช่น การบริจาคเงินส่วนตัวปีละ 80,000 บาท การเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์ให้โรงเรียนใช้เดือนละ 92,000 บาท ตลอดจนหาหนังสือดี ๆ มาเข้าห้องสมุดของโรงเรียน เป็นต้น

“ท่านใส่ใจเรื่องการพัฒนาภาษาอังกฤษ ปีแรกเรายังไม่ได้ครูภาษาอังกฤษ ท่านก็ส่งลูกมาสอน ปีต่อ ๆ มา ท่านออกทุนจ้างครูต่างชาติปีละ 2 อัตรา เพื่อให้เด็กได้พบกับเจ้าของภาษา จนกระทั่งโรงเรียนเป็นองค์การมหาชนก็สามารถจัดจ้างเองได้” เศวต ภูภากรณ์ เล่า

ที่สำคัญหมอบุญยังพยายามปฏิวัติการศึกษาในระดับมัธยมขึ้น

อดีตรองผู้อำนวยการ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ บอกว่า หมอบุญได้ใช้เทคนิคการสอนแบบ active teaching เพื่อให้เด็กได้เรียนแบบ active learning อีกทั้งยังได้นำวิธีการสอนแบบที่แพทย์เรียน คือ PLC (professional learning community) คือ แทนที่จะสอนแบบสมัยก่อน ที่เรียกว่าแบบ passive lecture ก็สอนแบบ active learning โดยที่ครูผู้สอนต้องมาประชุมกันเป็น PLC คือเหมือนกับหมอที่มาดูเคสของคนไข้อย่างนั้น

อาจารย์บุญเป็นหมอ เป็นเจ้าของโรงพยาบาล แต่ก็ไม่เคยเชียร์ให้เด็กไปเรียนหมอเลย

“เวลาอาจารย์มาบรรยายพิเศษ ท่านจะบอกเด็ก ๆ ว่า คนที่ไปเรียนหมอน่ะ ไม่ต้องเก่งมากหรอก แค่เก่งพอสมควร พอทำงานไปสัก 200 โรค โรคมันเริ่มช้ำแล้วล่ะ มันเป็นกลไกที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่ถ้าเป็นนักวิทยาศาสตร์ต้องเก่งจริง ๆ ต้องเก่งกว่าหมอ เพราะต้องคิดสิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา”

จะเห็นว่าหมอบุญคิดนอกกรอบ ไม่เหมือนใครจริง ๆ

เศวต ภูภากรณ์ บอกว่า หมอบุญจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ ตลอดว่า ควรจะเรียนเป็นนักวิทยาศาสตร์ เพื่อที่จะค้นพบยา ค้นพบวิธีรักษาโรคใหม่ ๆ เพราะจะช่วยมวลมนุษย์ได้มากกว่าการเป็นหมอรักษาคน 1 คน แต่ถ้าหากจะเรียนหมอ หมอบุญบอกว่า ก็ขอให้ไปทางวิจัย การเรียนแพทย์ที่เป็นวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่ง ก็คือสาขาชีววิทยา

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้ปรับฐานะเป็นองค์การมหาชน เมื่อ 25 สิงหาคม 2543 ภายใต้กำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยเฉพาะ และได้ย้ายจากวัดไร่ขิงมาอยู่ศาลายาอย่างทุกวันนี้

ดร.เจษฎาเป็นผู้หนึ่งที่ได้ขับเคลื่อนโรงเรียนแห่งนี้มาร่วมกับหมอบุญบอกว่า อาจารย์บุญผูกพันกับโรงเรียนแห่งนี้มาก

“แม้แต่ผมเองซึ่งช่วยอาจารย์มาตั้งแต่ต้นก็ยังคิดว่า มันจะสู้โรงเรียนเตรียมอุดมได้อย่างไร ในที่สุดเวลานี้เราก็เห็นแล้วว่า โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ถ้าเทียบสายวิทย์แล้ว performance ดีกว่าโรงเรียนเตรียมอุดมเสียอีก เด็กนักเรียนไปสอบโอลิมปิกคณิตศาสตร์มากกว่า” ดร.เจษฎาอวด

นายแพทย์บุญ วนาสิน หรือหมอบุญของเราดำรงตำแหน่งนายกสมาคมผู้ปกครองโรงเรียนมาตั้งแต่วันแรกจนถึงทุกวันนี้ ที่บอกว่าหมอบุญรักโรงเรียนแห่งนี้จริง คงจะไม่ต้องอธิบายอะไรอีก

นอกจากนี้ ดร.เจษฎา ธรรมวณิช ยังได้กล่าวถึงศิริราชมูลนิธิที่ นายแพทย์บุญ วนาสิน เป็นกรรมการผู้จัดการคนที่สองด้วย

ศิริราชมูลนิธิ ก่อตั้งขึ้นมาเป็นองค์กรนิติบุคคล เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2512 เพื่อช่วยเหลือเรื่องการเงินให้แก่โรงพยาบาลศิริราช โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยากจน

หมอบุญหรือนายแพทย์บุญ วนาสิน เป็นกรรมการผู้จัดการมูลนิธิคนที่ 2 ถัดจาก นายแพทย์ดิเรก พงศ์พิพัฒน์ ศิริราชมูลนิธิยุคหมอบุญนี่แหละที่กรอบการช่วยเหลือได้ขยายออกไปไกล

ดร.เจษฎาซึ่งทำงานร่วมกับหมอบุญในช่วงที่เข้าบริหารมูลนิธิว่า หมอบุญเป็นคนเดียวที่ไม่ใช่คณบดีคณะแพทยศาสตร์ และไม่ได้เป็นผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ที่ได้เข้ามานั่งตำแหน่งนี้ แต่นี่ไม่สำคัญนัก ในเมื่อหมอบุญได้แสดงอภินิหาร หารายได้หาเงินให้กับมูลนิธิได้เป็นจำนวนมาก

“10 ปีในตำแหน่งอาจารย์หาเงินเข้ามูลนิธิได้มาก และก็เป็นคนแรกที่ใช้เงินมูลนิธิแบบที่เขาไม่เคยใช้กันมาก่อน คือส่งหมอที่จะขึ้นเป็นผู้บริหารให้ไปเรียนเรื่องการบริหาร ท่านบอกว่า หมอต้องเข้าใจธุรกิจ”

ดร.เจษฎาว่า ด้วยสายตาของคนที่เข้าใจธุรกิจ ศิริราชมูลนิธิจึงเข้าสู่ยุคใหม่

นายแพทย์เหลือพร ปุณณกันต์ กรรมการผู้จัดการศิริราชมูลนิธิคนปัจจุบัน ที่รับช่วงต่อจากหมอบุญที่ลาออก และหมอบุญเป็นผู้เสนอชื่อนายแพทย์เหลือพรต่อที่ประชุมกรรมการ โดยที่ไม่ต้องเลือก ก็เพราะด้วยความเชื่อมั่นนายแพทย์เหลือพร

“อาจารย์ไม่ถามผมสักคำว่า ต้องการเป็นหรือเปล่า ตอนแรก ๆ ผมบอกว่า ผมเป็นหมอนะ ผมไม่เป็นนะเรื่องหาเงิน” นายแพทย์เหลือพรเล่า

และเรื่องที่เล่าต่อมาน่าสนใจยิ่ง เมื่อนายแพทย์เหลือพรว่า ตอนที่เริ่มงานใหม่ ๆ เป็นช่วงที่เกิดสงครามอ่าว (2 สิงหาคม 2533-17 มกราคม 2534) น้ำมันดิบราคาแพงมาก ตอนนั้นราคาทองคำบาทละประมาณ 2,000 บาท นายแพทย์เหลือพรจึงได้คุยกับหมอบุญขอความเห็นว่า ถ้าเอาเงินจากมูลนิธิไปซื้อทอง 100 ล้านบาท จะเป็นอย่างไร

“อาจารย์บุญสนับสนุนผม 100 เปอร์เซ็นต์” นายแพทย์เหลือพรว่า ไม่แค่นั้น หมอบุญยังบอกวิธีการซื้อให้อีกด้วย แต่พอเอาเข้าที่ประชุมไม่มีกรรมการคนไหนยอม “ตอนนี้ทองขึ้นมา 30,000 บาท ถ้าซื้อร้อยล้าน ตอนนี้มูลนิธิมีเงินเป็นพันล้านแล้วครับ” นายแพทย์เหลือพรเล่าด้วยความเสียดาย และว่า ความคิดนอกกรอบแบบนี้ของตนก็มาจากหมอบุญสอนนั่นแหละ

ก็ให้น่าเสียดายอีก เมื่อคิดว่าถ้าหากหมอบุญยังไม่ลุกจากตำแหน่ง ศิริราชมูลนิธิอาจจะมีเงินมากกว่าพันล้านก็ได้

นายแพทย์บุญ วนาสิน หรืออาจารย์บุญ แม้ว่าจะได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการศิริราชมูลนิธิไปแล้ว แต่ก็ยังกลับมาสอนและตรวจคนไข้ให้อยู่เสมอ และยังเป็นกรรมการของศิริราชมูลนิธิอยู่ต่อมาอีกนานถึง 10 ปี

“อาจารย์เป็นคนใจกว้าง ถึงลาออกแล้วท่านก็ยังช่วยผม ประคับประคองมูลนิธิว่าควรจะทำหรือไม่ทำอะไร สรุปว่าอาจารย์คอยเป็นที่ปรึกษา เป็นคนที่อยู่เบื้องหลัง ที่ช่วยผมพอสมควร แม้จนทุกวันนี้” นายแพทย์เหลือพร ปุณณกันต์ กล่าวตบท้าย

ย่าง 84 ปีของหมอบุญ หรือนายแพทย์บุญ วนาสิน ไม่ได้มีแต่เรื่องวัคซีนที่เป็นข่าวฉาวโฉ่ บนทางเดินอันยาวนาน ถ้าหวนมองให้ดีในช่วงชีวิตของคนคนหนึ่ง สิ่งที่หมอบุญสร้างทำไว้ มีหลายสิ่งที่ดีงามและมีคุณค่าไม่เพียงแต่วันนี้ แต่จะอยู่ไปอีกนาน เป็นมรดกอันล้ำค่า สำหรับชาติบ้านเมืองและคนรุ่นต่อไป