โควิดสู่ โรคประจำถิ่น

Photo by Jack TAYLOR / AFP
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมการที่จะ “ผลักดัน” ให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease) ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 หรืออีก 3 เดือนนับจากนี้ไป ท่ามกลางตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในระดับวันละไม่ต่ำกว่า 20,000 คน หรือหากรวมตัวเลขคนติดเชื้อที่เข้าข่าย/ATK ในแต่ละวันเข้าไปด้วยก็น่าจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 40,000-50,000 คน โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อข้างต้น “ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง แต่ก็ยังไม่เพิ่มสูงขึ้นมากไปกว่านี้”

สำหรับเกณฑ์ในการพิจารณาให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ในที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้กำหนดไว้ 4 เกณฑ์ ประกอบไปด้วย 1) ต้องมีผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 คนต่อวัน 2) อัตราป่วยตายน้อยกว่าร้อยละ 0.1

3) การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่าร้อยละ 10 และ 4) กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรง (ผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยเป็นโรคร้ายแรง) ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 โดส มากกว่าร้อยละ 80

เหตุที่กระทรวงสาธารณสุข “กล้า” ที่จะผลักดันให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น น่าจะมาจากความเชื่อที่ว่า โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) มีความรุนแรงของโรค “น้อยกว่า” สายพันธุ์ก่อนหน้านี้คือ สายพันธุ์เดลต้า (Delta) ด้วยการวัดจากตัวเลขผู้ป่วยหนักต้องใส่ท่อช่วยหายใจลดลง

ทว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตกลับไม่ได้ลดลง กล่าวคือ ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมเป็นต้นมา เฉลี่ยมีผู้เสียชีวิต 60-80 รายทุกวัน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ-ผู้ป่วย ปะปนกันไป

แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ยังคง “เดินหน้า” ต่อไป ล่าสุดทางคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติก็ได้ให้ความเห็นชอบ แผนรองรับการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น โดยแบ่งออกเป็น 4 เดือน หรือที่เรียกกันว่า “แผน 3 บวก 1” ดังนี้ ระยะที่ 1 (12 มี.ค.-ต้น เม.ย.) เรียกว่า combatting สาระสำคัญของแผนระยะนี้ก็คือ ต้องออกแรง “กดตัวเลข” ผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงไปกว่านี้ เพื่อลดการระบาด ลดความรุนแรงของโควิด-19

ระยะที่ 2 (เม.ย.-พ.ค.) เรียกว่า plateau คือ การคงระดับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ให้สูงขึ้น แต่ให้เป็นระนาบจนตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงเรื่อย ๆ ระยะที่ 3 (ปลาย พ.ค.-30 มิ.ย.) เรียกว่า declining คือ การลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลง ให้เหลือวันละ 1,000-2,000 ราย

และบวกอีก 1 หรือ ระยะ 4 ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป เรียกว่า post pandemic คือ ออกจากโรคระบาดและเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น

ทั้งหมดนี้จะถูกดำเนินการภายในระยะเวลา 4 เดือน แต่ประชาชนยังต้องปฏิบัติตามมาตรฐานป้องกันโรคเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ VUCA ซึ่งประกอบไปด้วย V-vaccine, U-universal prevention, C-COVID-19 free setting และ A-ATK

ส่วนผลในการปฏิบัติตาม “แผน 3 บวก 1” นั้น ในขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ระยะที่ 2 หรือ plateau ในความพยายามที่จะ “คง” ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงไปกว่านี้ หรือเท่ากับเริ่มต้นกันที่ตัวเลขติดเชื้อวันละ 40,000-50,000 คน ซึ่งยัง “ห่างไกล” กับเกณฑ์ที่ต้องการให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่เกินวันละ 10,000 คน

จนกลายเป็นเรื่องน่ากังวลที่ว่า ในอีก 1 เดือนต่อจากนี้ เราจะลดจำนวนผู้ติดเชื้อลง “ต่ำกว่า” วันละ 10,000 คนได้หรือไม่ ขณะที่อัตราการป่วยตายอยู่ที่ 0.19-0.2% ซึ่งก็ยัง “ห่างไกล” จากอัตรา 0.1% อยู่ดี

ประกอบกับสารพัดปัญหาที่ประดังเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปากท้องของประชาชน งบประมาณที่จำกัดจำเขี่ยในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 และที่สำคัญก็คือ ระบบสาธารณสุข จะรับมือกับ “ผู้ป่วย” ที่เพิ่มสูงขึ้นวันละ 20,000 คนได้อย่างไร นอกจากนี้ยังเกิดสถานการณ์ “ตึงตัว” ของยา Favipiravir (ขนาด 200 mg) ซึ่งถูกใช้เป็น “ยาหลัก” ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ขึ้นมาอีก

หลังจากที่หมอในชนบทออกมาให้ข้อมูลว่า “ยากำลังขาดแคลน” สอดคล้องกับตัวเลขความสามารถในการจัดหายาขององค์การเภสัชกรรม อยู่ที่ประมาณอาทิตย์ละ 15 ล้านเม็ด แต่มีความต้องการใช้ยาระหว่าง 15-20 ล้านเม็ด/สัปดาห์ สะท้อนให้เห็นถึงจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นสูง

ท่ามกลางความกังวลกันว่า ถ้าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อยังไม่สามารถ “กด” ให้ลดลง อัตราการตายยังอยู่ในระดับ 0.19-0.2% ดังนั้นการเดินทางไปให้ถึงวันที่ 1 ก.ค. อาจจะต้องมีผู้คนล้มตายไปอีกกว่า 5,000 คนกว่าที่โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น