ความจริงประกัน “เจอจ่ายจบ” ฤาต้องรอใช้หนี้ 100 ปี

เจอจ่ายจบ
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

กรมธรรม์โควิด “เจอจ่ายจบ” ถือว่าเป็นโปรดักต์ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคดีเยี่ยม “ซื้อง่าย-ขายคล่อง” ทำให้มีการขายกรมธรรม์ไปกว่า 40 ล้านฉบับ

แต่ “โรคระบาด” ถือเป็นภัยที่ไม่มีข้อมูลสถิติที่สามารถคาดการณ์ใด ๆ ได้ ทำให้ไม่มีประเทศไหนในโลกกล้าขายกรมธรรม์แบบ “เจอจ่ายจบ”

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ปี 2563 บริษัทประกันภัยของไทยจ่ายเคลมโควิดประมาณ 70 ล้านบาท ปี 2564 ตัวเลขพุ่งเป็น 40,000 ล้านบาท และปี 2565 ที่ตัวเลขทะลุ 100,000 ล้านบาท

ต้องบอกว่าผลกระทบจากสงครามโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ นอกจากธุรกิจโรงแรมท่องเที่ยว ที่โดนผลกระทบโดยตรงไปเต็ม ๆ จนต้องปิดกิจการ ล้มหายตายจากไป

ธุรกิจประกันวินาศภัยก็เจ็บปวดไม่แพ้กัน และไม่ใช่แค่การล้มตายของบริษัทขนาดเล็กเท่านั้น เพราะแม้แต่ “อาคเนย์ประกันภัย” ของเจ้าสัวเจริญ (สิริวัฒนภักดี) ก็ยังไม่รอด

ตัดสินใจปิดกิจการเพื่อหยุดความเสียหายของตัวเอง อย่างไรก็ดี ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้จบลงแค่การปิดกิจการ หรือการถูกเพิกถอนใบอนุญาต

เพราะเมื่อบริษัทไม่สามารถแบกรับความเสียหายได้จนต้องปิดกิจการ ก็จะส่งต่อ “ภาระหนี้” ที่เกิดขึ้นจากการเอาประกันไปให้ “กองทุนประกันวินาศภัย” หรือ กปว. ในฐานะผู้ชำระบัญชี เพื่อทำหน้าที่คุ้มครองผู้เอาประกันภัย

ขณะที่รายใหญ่อย่างบริษัท วิริยะประกันภัยและกรุงเทพประกันภัย ที่แม้จะยังยืนหยัดอยู่ได้อย่างแข็งแรง แต่ก็ต้องบาดเจ็บจากการเคลมเจอจ่ายจบหลักหมื่นล้านเช่นกัน

โดย นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย (คนใหม่) ระบุว่า ขณะนี้กองทุนอยู่ระหว่างชำระบัญชีบริษัทประกันที่ปิดกิจการไปแล้วทั้งหมด 8 บริษัท เป็น 4 บริษัทเดิมที่ไม่เกี่ยวกับผลกระทบโควิด และอีก 4 บริษัทที่ถูกปิดกิจการจากประกันภัยโควิด คือ เอเชียประกันภัย, เดอะวัน ประกันภัย, อาคเนย์ประกันภัย และไทยประกันภัย

ณ เดือน เม.ย. 65 กองทุนมียอดหนี้รวมกว่า 52,000 ล้านบาท ประมาณ 40,000 ล้านบาท มาจาก 4 บริษัทที่ถูกปิดจากกรมธรรม์เจอจ่ายจบ แต่ในส่วน “อาคเนย์ฯและไทยประกันภัย” ยังเปิดให้เจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้ถึง 15 ก.ค. หมายความว่าหนี้ยังอาจสูงขึ้นได้อีก

และที่น่ากังวลคือ ศักยภาพในการจ่ายคืนหนี้ให้กับผู้เอาประกันของ กปว.

ผู้จัดการกองทุนประกันฯ ระบุว่า ปัจจุบันกองทุนสามารถดำเนินการจ่ายหนี้ได้ 1,000-1,500 รายต่อเดือน มูลค่า 30-40 ล้านบาท ซึ่งกำลังหาแนวทางความร่วมมือช่วยให้อนุมัติจ่ายหนี้เร็วขึ้น 200-300% หรือประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี

ดังนั้นจากยอดหนี้อยู่ 5.2 หมื่นล้านบาท หากกองทุนเร่งสปีดจ่ายได้ปีละ 1,000 ล้านบาท เท่ากับจะต้องใช้เวลาประมาณ 50 ปี ที่จะสามารถจ่ายคืนหนี้ให้ผู้เอาประกันได้ทั้งหมด

แต่ถ้ายังทำงานภายใต้ระบบเดิมก็อาจต้องใช้เวลา 100 ปี

งานนี้ต้องเห็นใจกองทุน เพราะเป็นองค์กรขนาดเล็กที่มีเจ้าหน้าที่ 10-20 คนเท่านั้น ขณะที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานเป็นแสนรายอย่างรอบคอบ เพราะถือเป็นจ่ายเงินของรัฐ ทดแทนบริษัทที่ปิดไป

นี่ยังไม่นับรวมกรณี “สินมั่นคงประกันภัย” ที่มียอดเคลมอีกกว่า 30,000 ล้านบาทผู้เอาประกันราว 4 แสนราย ที่ยังลูกผีลูกคน

ถ้าสินมั่นคงฯไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้สำเร็จ และต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตและปิดกิจการ นั่นหมายถึง ภาระหนี้ของกองทุนจะเพิ่มเป็นเกือบ 1 แสนล้านทันที

และประเด็นสำคัญคือจะเอาเงินจากไหนมาจ่าย เพราะปัจจุบันเงินกองทุนเหลืออยู่ราว 6,000 ล้านบาท แม้ว่าจะมีเงินของภาคธุรกิจใส่เข้ามาปีละ 600 ล้านบาท แต่ก็ไม่พอในการจ่ายหนี้ งานนี้ก็คงไม่พ้นต้องให้รัฐบาลเข้ามาแบกรับภาระไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ขณะที่อุตสาหกรรมประกันวินาศภัยอยู่ในภาวะวิกฤต ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาปกติ หน่วยงานกำกับดูแลอย่าง คปภ. และกระทรวงการคลัง จะมีมาตรการจัดการปัญหานี้อย่างไร

นี่เป็นสิ่งที่ประชาชนโดยเฉพาะผู้เอาประกันหลายแสนคนรอฟังคำตอบ