ติดหล่มวิกฤตหนี้

A man walks past a shuttered shop in Bangkok on February 6, 2022. (Photo by Jack TAYLOR / AFP)
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สมปอง แจ่มเกาะ

หากไม่มีอะไรพลิกผันเกินความคาดหมาย

ตั้งแต่ 1 กรกฎาคมที่จะถึงเป็นต้นไป โควิด-19 จะถูกลดสถานะจากโรคระบาด (pandemic) เป็นโรคประจำถิ่น (endemic) ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น สเปน อินเดีย รัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งจีน

ขณะเดียวกันก็มีภาคธุรกิจจำนวนหนึ่งที่ต้องการให้ร่นการประกาศดังกล่าวให้เร็วขึ้น ไม่ต้องรอไปถึงเดือนกรกฎาคม ด้วยเหตุผลที่ว่าการประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่นได้เร็วจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นกลับมา

อีกด้านหนึ่งหลายคนยังมีความเป็นห่วงว่า หลังจากเทศกาลสงกรานต์ผ่านพ้นไป ตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 จะออกหมู่หรือจ่า การก้าวข้ามฝั่งฝันของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเป็นไปตามแผนที่วางได้หรือไม่ หรืออาจจะต้องเลื่อนการประกาศออกไปอีกระยะหนึ่ง

จากความไม่พร้อมในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งจำนวนผู้ป่วยรายใหม่และอัตราผู้ป่วยที่เสียชีวิตในแต่ละวันที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง รวมถึงการฉีดวัคซีนที่ช่วง 1-2 เดือนมานี้ ตัวเลขในภาพรวมค่อนข้างอืดมาก ไม่ต้องอื่นไกล เมื่อวันก่อน (4 เม.ย.) ตัวเลขการฉีดเข็ม 1 เพิ่งจะทะลุ 80.1% ของประชากร หรือประมาณ 55.70 ล้านราย ส่วนเข็ม 2 เพิ่งได้ 72.5% ของประชากร หรือประมาณ 50.39 ล้านราย

จากช่วงเมื่อ 28 ก.พ.จะพบว่า ตัวเลขการฉีดเข็ม 1 จะอยู่ที่ 77.0% ของประชากร หรือ 53.57 ล้านราย ขณะที่เข็ม 2 ตัวเลขมีประมาณ 71.5% หรือ 49.73 ล้านราย

โดยเฉพาะการฉีดเข็ม 2 กว่าจะได้ 80% ที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ อาจจะต้องใช้เวลาอีกนานโขเลยทีเดียว

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตอนนี้ผู้คนก็เริ่มกลับมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติเหมือนเดิม เดินห้าง จับจ่ายใช้สอย นั่งกินข้าว ดื่มกาแฟตามร้านรวงต่าง ๆ เดินทางท่องเที่ยว จัดงานบวช งานบุญ งานแต่ง ฯลฯ ดีที่คนไทยส่วนใหญ่ยังมีความรับผิดชอบ มีวินัยเรื่องการใส่หน้ากากอนามัย

ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะโอมิครอน มิได้มีพิษสงร้ายแรงนัก และคนไทยเริ่มคุ้นชินและปรับตัวให้เข้ากับโควิด-19 ได้แล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของการจะเริ่มกลับมาเริ่มต้นนับ 1 ใหม่อีกครั้ง หลังจากที่แทบทุกอย่างต้องสะดุดหยุดลงมา 2 ปีเต็ม ๆ

วันข้างหน้า หลังจากที่โควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้วก็ใช่ว่าทุกอย่างจะสวยหรูโรยด้วยกลีบกุหลาบ ด้วยบริบทและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ด้วยเงื่อนไขและโจทย์ที่ยากขึ้น การจะกลับมาเริ่มต้นใหม่ในวันนี้จึงเป็นอะไรที่ไม่ง่าย

จริงอยู่ แม้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอาจจะเป็นความหวังหนึ่งที่จะเป็นตัวช่วยให้การฟื้นเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็คงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป

นอกจากปัญหาราคาน้ำมันที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ปัญหาซัพพลายเชน ฯลฯ ที่ล้วนเป็นปัญหาใหญ่ของคนทั้งโลกแล้ว แต่ที่หนักหน่วงไม่แพ้กันในตอนนี้สำหรับบ้านเราก็เห็นจะเป็นวิกฤตหนี้

โดยเฉพาะหนี้ของประชาชนคนชั้นกลาง-รากหญ้า หนี้ภาคธุรกิจอย่างยิ่งหนี้ของผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย เอสเอ็มอี

เพราะตลอดเวลากว่า 2 ปีที่โควิดคุกคามทำให้คนไทยรายได้ลดลงและมีหนี้มากขึ้น และอยู่ในภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง สะท้อนจากตัวเลขเอ็นพีแอลของสถาบันการเงินที่พุ่งสวนทางมาอย่างต่อเนื่อง และต้องสกรีนลูกค้าอย่างเข้มข้นมากขึ้น

อย่าว่าแต่เงินจะใช้หนี้เลย จะอยู่จะกินในแต่ละวันก็ยังยาก อย่างที่เคยพูด ยุคนี้ใครมีกินครบ 3 มื้อก็หรูแล้ว

ตอนนี้ความจริงของชีวิตอีกด้านหนึ่งที่เกิดขึ้น ทำให้หลาย ๆ คนต้องหันหน้าไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ

อีกไม่นาน หนี้นอกระบบก็คงพัฒนาขึ้นมาเป็นระเบิดเวลาในไม่ช้า

เรื่องหนี้เรื่องเดียวก็ดิ้นไม่หลุดแล้ว

หนี้ คือตัวฉุดเศรษฐกิจตัวฉกาจ !