นโยบายประกันสังคมปี ’66 ปรับแนวทาง เพิ่มประโยชน์ช่วยเหลือผู้ประกันตน

ประกันสังคม เงินสะสม

สำนักงานประกันสังคมสร้างหลักประกันความมั่นคงให้ผู้ประกันตน จวบจนวันนี้เป็นเวลา 32 ปีแล้ว มีผู้ประกันตนในระบบ 24.03 ล้านคน และเงินกองทุนเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 2.23 ล้านล้านบาท

วันที่ 4 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบนโยบายสำนักงานประกันสังคมปี 2566 เพื่อเป็นของขวัญและช่วยเหลือผู้ประกันตน ลูกจ้างและนายจ้าง ในโอกาสสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ครบรอบ 32 ปี ในวันคล้ายวันสถาปนา 3 กันยายน 2565

นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสำนักงานประกันสังคม และรางวัลสถานพยาบาลในดวงใจ โดยมีนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน คณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในพิธี

พร้อมกันนี้นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมให้การต้อนรับ ณ สำนักงานประกันสังคม (สำนักงานใหญ่) ถนนติวานนท์ จังหวัดนนทบุรี

นโยบาย 3 ด้าน ปรับปรุงประกันสังคม

สำหรับนโยบายในปี 2566 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมอบเป็นของขวัญและช่วยเหลือผู้ประกันตน ลูกจ้างและนายจ้าง สำนักงานประกันสังคมมีแนวทางในการดำเนินงาน ดังนี้

1. เพิ่มสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม เพื่อให้ผู้ประกันตนได้มีหลักประกันทางสังคมและได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น และผู้ประกันตนสูงอายุได้รับโอกาสในการทำงานที่เหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน โดยการปรับปรุง พ.ร.บ. ประกันสังคม ฉบับที่ … พ.ศ. … ได้แก่

– การขยายความคุ้มครองให้กับผู้ประกันตนเพื่อรองรับผู้สูงอายุ โดยขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพและสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้ ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพ สามารถขอรับเงินบำนาญจ่ายล่วงหน้าได้

– การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพอันเกิดจากข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน 3 ขอ (ขอเลือก ขอคืน และขอกู้)

– การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ได้แก่ เงินสงเคราะห์การหยุดงาน เพื่อการคลอดบุตร จากเดิมจ่าย 90 วัน เป็น 98 วัน เงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีทุพพลภาพ จากเดิมจ่าย ร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 70 กรณีสงเคราะห์บุตรให้ได้รับการคุ้มครองต่อไปอีก 6 เดือน นับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน

– ปรับปรุงเงื่อนไขในการสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 และกำหนดให้เงินเพิ่มของผู้ประกันตนมาตรา 39 จะต้องไม่เกินเงินสมทบที่ต้องจ่าย เป็นต้น

2. ยกระดับการบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก โดยปรับปรุงรายการสุขภาพ ได้แก่

– ขยายช่วงอายุ เพิ่มความถี่ในการตรวจ เพิ่มรายการตรวจ สุขภาพ เช่น การซักประวัติ การประเมินวัยทำงาน (คัดกรองโรคซึมเศร้า ประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด) การคัดกรองไวรัสตับอักเสบซี (Anti HCV Rapid) การทำงานของตับ (SGOT, SGPT)

– เพิ่มการให้คำแนะนำและปรับพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยง

– พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพรายบุคคล ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเชิงรุกและสามารถพิสูจน์ตัวบุคคลที่มีสิทธิได้อย่างถูกต้องและเชื่อมโยงข้อมูลและจัดเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำสมุดสุขภาพของผู้ประกันตน

– การขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

3. พัฒนาและเพิ่มช่องทางรับเงินสมทบ

จ่ายประโยชน์ทดแทนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้นายจ้างและผู้ประกันตนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยเพิ่มช่องทางการรับชำระเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ผ่าน mobile application กับธนาคารและหน่วยบริการอื่น ๆ

เพิ่มช่องทางการชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ผ่านคิวอาร์โค้ด โดยการสแกนจ่าย ด้วย mobile banking application ของธนาคารต่าง ๆ โดยมีธนาคารกรุงไทยเป็นตัวกลางในการรวบรวมและนำส่งข้อมูลการชำระเงินและเงินที่รับชำระจากนายจ้าง/ผู้ประกันตน ส่งให้กับสำนักงานประกันสังคม

อีกทั้ง เพิ่มธนาคาร ธ.ก.ส. เป็นหน่วยบริการในการรับชำระเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33 ผ่านระบบ e-Payment จากเดิม 13 แห่ง เป็น 14 แห่ง

ทั้งนี้ ได้มีการพัฒนาระบบเพื่อให้ผู้ประกันตน และนายจ้างสามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หากดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกันตนได้เข้าถึงข้อมูลของตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา และได้รับประโยชน์ทดแทนที่ถูกต้อง รวดเร็ว เป็นต้น

32 ปีประกันสังคม มีผู้ประกันตน 24.3 ล้านคน

นอกจากนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังได้แสดงความยินดีและชื่นชมถึงพัฒนาการของสำนักงานประกันสังคม ที่พัฒนางานให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องเป็นที่พึ่งและหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตแก่แรงงานมาตลอด 32 ปี พร้อมก้าวสู่ปีที่ 33 เพื่อสร้างสรรค์ หลักประกันชีวิต ให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน

“กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการตามนโยบายของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะการเร่งฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง

รวมทั้งบูรณาการการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วนและมุ่งเน้นทำงานเชิงรุก โดยยึดกฎหมายและข้อบังคับ เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้ตรงจุด ทันท่วงที และมุ่งมั่นที่จะผลักดันนโยบายด้านแรงงานต่าง ๆ

ทั้งการให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระเข้าถึงระบบหลักประกันทางสังคม การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน การปรับปรุงและพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับบริการเชิงรุกให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง ผู้ประกันตน อย่างทันท่วงที ส่งเสริมการให้บริการภาครัฐไปสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และสร้างเครือข่ายประกันสังคมทั่วประเทศในการให้บริการกับนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตน

ขอขอบคุณและให้กำลังใจผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ประกันสังคม รวมถึงภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ที่ทุ่มเทเสียสละ ร่วมมือร่วมใจในการขับเคลื่อนพัฒนาระบบประกันสังคมให้เป็นที่ ยอมรับ เชื่อมั่น และไว้วางใจ ภายใต้ครอบครัวประกันสังคม และอยู่เคียงข้างเป็นหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตของสังคมไทยตลอดไป”

ด้านนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมมีภารกิจในการสร้างหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้แก่ลูกจ้างและผู้ประกันตน จวบจนวันนี้เป็นเวลา 32 ปีแล้ว ปัจจุบันมีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมจำนวน 24.03 ล้านคน และเงินกองทุนเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 2.23 ล้านล้านบาท

“ผมให้ความสำคัญกับเรื่อง SSO TRUST ในการขับเคลื่อนสำนักงานประกันสังคมไปสู่ความสำเร็จ และเป็นที่ ยอมรับ เชื่อมั่น และไว้วางใจ ในการสร้างหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับผู้ประกันตน ซึ่งในปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้เผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง”

กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และภาคีเครือข่าย ที่เป็นเหมือนครอบครัวประกันสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาภายใต้แนวทาง แรงงาน.. เราสู้ด้วยกัน เพื่อก้าวผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน

โดยได้ดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยา ลดภาระค่าใช้จ่าย และบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งพัฒนาสิทธิประโยชน์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ เพื่อขับเคลื่อนงานประกันสังคมให้เป็นที่ยอมรับ เชื่อมั่น ไว้วางใจ นำสู่ความสำเร็จ

พร้อมมุ่งมั่นพัฒนางานประกันสังคมอย่างต่อเนื่อง สำหรับผลงานในปี 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมได้ลดอัตราเงินสมทบตามพระราชกฤษฎีกาประกาศลดอัตราเงินสมทบให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เหลือร้อยละ 60 ของเงินสมทบ เป็นระยะเวลา 12 เดือน ตั้งแต่งวดวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ถึง 31 มกราคม 2565 และในงวดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 31 กรกฎาคม 2565

พร้อมดำเนินการจ่ายคืนเงินสมทบผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ที่นำส่งเงินไว้เกินจำนวนที่ต้องชำระ พร้อมได้ดำเนินการคืนเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่นำส่งเงินสมทบไว้เกินจำนวนที่ต้องชำระ โดยวิธีการโอนเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน รอบแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 8-11 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยโอนเงินคืนเข้าบัญชีพร้อมเพย์ผู้ประกันตนมาตรา 40 ไปแล้ว จำนวน 2,884,909 ราย โอนเงินสำเร็จ คิดเป็นเงินจำนวน 402,289,546 และจะโอนเงิน อีกในรอบ 2 ระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน 2565

เพิ่มช่องทางการให้บริการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย และว่างงาน ผ่านบริการพร้อมเพย์ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงบริการรับเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีความโปร่งใส ลดความผิดพลาด โดยผู้ประกันตนไม่ต้องยื่นสำเนาหน้าบัญชีเงินฝากธนาคารกับสำนักงานประกันสังคมในการขอรับประโยชน์ทดแทนดังกล่าว อีกทั้งเป็นการลดการใช้กระดาษ (paperless) ตามนโยบายรัฐบาลอีกด้วย

ทั้งนี้ผู้ประกันตนดำเนินการลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชนกับธนาคารที่ผู้ประกันตนเปิดบัญชีไว้ได้ทุกธนาคาร และติดต่อขอรับประโยชน์ทดแทนได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ เริ่มให้บริการภายในเดือนกันยายน 2565 เป็นต้นไป

จ่อเพิ่มประโยชน์กรณีทุพพลภาพ ม. 40

การปรับปรุงพัฒนาสิทธิประโยชน์มาตรา 40 สำนักงานประกันสังคมได้ศึกษาแนวทางการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ กรณีทุพพลภาพ สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เป็นเงินทดแทนการขาดรายได้ ทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 จากเดิมอัตราเดือนละ 500-1,000 บาท เป็นอัตราเดือนละ 1,000-2,000 บาท และทางเลือกที่ 3 จากเดิมอัตราเดือนละ 500-1,000 บาท เป็นอัตราเดือนละ 1,500 บาท หรือทุพพลภาพเพิ่มขึ้น

โดยมีระยะเวลาความคุ้มครองตลอดชีวิตสำหรับทุกทางเลือก โดยส่งเสริมสนับสนุนการปฏิบัติงานให้แก่เครือข่ายประกันสังคมตามมาตรา 40 เพื่อเป็นสื่อกลางในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเชิญชวนแรงงานภาคอิสระเข้าสู่ระบบประกันสังคม

รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้เข้าใจสิทธิประโยชน์อันพึงได้รับตามกฎหมาย เพื่อส่งเสริมให้มีการนำส่งเงินสมทบอย่างต่อเนื่องและยกระดับเครือข่ายงานประกันสังคมมาตรา 40 ในฐานะผู้นำหมู่บ้าน-ชุมชน ที่เป็นตัวแทนเครือข่ายภายใต้โครงการ เพื่อพัฒนาสิทธิประโยชน์ประกันสังคมให้ สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป นับเป็นการสร้างหลักประกัน ทางสังคม และยกระดับแรงงานนอกระบบให้ดียิ่งขึ้น

สำหรับการจัดงานวันครบรอบ 32 ปี ของสำนักงานประกันสังคม ในวันนี้ ช่วงเช้าเป็นพิธีสงฆ์ และพิธีมอบโล่รางวัลให้แก่ผู้สนับสนุน ส่งเสริม และทำคุณประโยชน์ต่อสำนักงานประกันสังคม จำนวน 55 รางวัล สถานพยาบาล ในดวงใจ จำนวน 25 รางวัล และสถานประกอบการดีเด่น จำนวน 35 รางวัล

อีกทั้งภายในงานยังจัดให้มีนิทรรศการ และบูธแสดงสินค้าพร้อมทั้งจำหน่ายที่กลุ่มสมาชิกเครือข่ายประกันสังคมทั่วไทยนำมาแสดง บูธสินค้า OTOP บูธฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ บูธโรงพยาบาล มาคอยให้บริการตรวจสุขภาพ การจัดแสดงผลงานและจำหน่ายสินค้าของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานทั้ง 5 แห่ง และในช่วงบ่ายได้จัดให้มีกิจกรรมวิชาการ “แฟนพันธ์แท้ ประกันสังคม” ตอบปัญหา ชิงรางวัลให้กับผู้เข้าร่วมงาน ณ บริเวณลานอเนกประสงค์ อีกด้วย