CPF รั้งผู้นำอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร ปีที่ 3 จากอันดับ S&P Global

ซีพีเอฟ รักษาความเป็นผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร (Food Products) ได้รับการจัดลำดับ Top 5% ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ซึ่งเผยแพร่ในรายงาน The Sustainability Yearbook 2023 ของ S&P Global 

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟยังรักษาความเป็นผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร โดย S&P Global ได้ประกาศรายชื่อองค์กรชั้นนำที่เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ และซีพีเอฟได้รับการบันทึกในรายงาน The Sustainability Yearbook 2023 โดยได้คะแนนติดอันดับ Top 5% ของโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร รักษาตำแหน่งต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 สะท้อนความมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และมีธรรมาภิบาล (ESG) เดินหน้าสร้างความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้วิสัยทัศน์เป็น “ครัวของโลก”

“ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจสู่เป้าหมายเป็นองค์กรที่ยั่งยืน โดยยึดปรัชญา 3 ประโยชน์ คือ ประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และมองประโยชน์ของบริษัทเป็นลำดับสุดท้าย โดยได้ประกาศเป้าหมาย CPF 2030 Sustainability in Action เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติได้ ทั้ง 17 ข้อ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง”

นายประสิทธิ์
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ

นายประสิทธิ์กล่าวต่อว่า ซีพีเอฟมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามแนวทาง BCG (Bio-Circular-Green Economy) และมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยได้ประกาศเป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ในปี 2050

โดยล่าสุด ปี 2022 บรรลุเป้าหมาย Coal Free ยกเลิกการใช้ถ่านหิน 100% สำหรับกิจการประเทศไทย และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งในรูปแบบของไบโอแก๊ส (Biogas) พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ทุกรูปแบบทั้งโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) โซลาร์ฟาร์ม (Solar Farm) และโซลาร์บนทุ่นลอยน้ำ (Solar Floating)

นอกจากนี้ บริษัทให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำเกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด การจัดหาวัตถุดิบด้วยความรับผิดชอบจากแหล่งที่ไม่ตัดไม้ทำลายป่า 100% พัฒนานวัตกรรมและนำเทคโนโลยีมาใช้ตลอดกระบวนการผลิต ดูแลสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมของพนักงาน คู่ค้า และชุมชน การส่งเสริมคู่ค้าธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล รวมไปถึงมีส่วนร่วมปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านการดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน และการปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการ

ทั้งนี้ S&P Global เป็นดัชนีที่ใช้ประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลก โดยในปีนี้มีบริษัทจดทะเบียนกว่า 7,800 บริษัท จาก 61 อุตสาหกรรม เข้าร่วมการประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน และในจำนวนดังกล่าวมี 708 บริษัทที่ผ่านการประเมินและได้รับการเผยแพร่ใน The Sustainability Yearbook 2023

CPF