ภารกิจ SCGC เพิ่มผืนน้ำ ฟื้นผืนป่า คืนฝูงปลา

ตลอดเวลาผ่านมา SCGC มุ่งมั่นสู่ความเป็นผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืน (chemicals business for sustainability) โดยนำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) และ ESG (environmental, social and governance) มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้คนในสังคม

โดยให้ความสำคัญกับมิติด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน พร้อมทั้งนำความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมมาเป็นโซลูชั่น เพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง (Innovation for Better Environment & Society)

ดังนั้น เนื่องในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2566 SCGC จึงขอแบ่งปันเรื่องราวเพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืนผ่านภารกิจ “เพิ่มผืนน้ำ ฟื้นผืนป่า คืนฝูงปลา” ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนเห็นผลเชิงประจักษ์

ชุมชนคนน้ำดี เก็บน้ำดีมีน้ำใช้

“วันดี อินทรพรม” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บ้านมาบจันทร์ จ.ระยอง บอกเล่าถึงที่มาก่อนจะร่วมมือกับ SCGC พลิกฟื้นพื้นที่เขายายดาให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ว่า เมื่อก่อนเขายายดาไม่ใช่แบบนี้ เมื่อหลายปีที่แล้วเกิดความแห้งแล้งจากการแผ้วถางป่า ที่ผ่านมาเราพยายามปลูกป่า

วันดี อินทรพรม

แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ จนได้ประสานไปที่บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ เขามาช่วยสอนเราเรื่องการจัดการน้ำ เราได้เขามาเป็นพี่เลี้ยง เวลามีปัญหา ปรึกษาได้ทุกเรื่อง

ดังนั้น หากย้อนเวลากลับไปเมื่อปี 2550 SCGC เริ่มรับรู้ถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำบริเวณพื้นที่รอบเขายายดา ซึ่งชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ฉะนั้น การมีน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกจึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชนและจังหวัดระยองเป็นอย่างมาก

SCGC จึงเริ่มภารกิจเพิ่มผืนน้ำ ฟื้นผืนป่า ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมรอบเขายายดา จนนำไปสู่การจัดทำโครงการ “เก็บน้ำดี มีน้ำใช้ ด้วยโมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ”

โครงการนี้เปลี่ยนชีวิตชุมชนด้วยการบริหารจัดการน้ำ และสู้ภัยแล้งอย่างเป็นระบบ ภายใต้หัวใจสำคัญ 4 ด้านคือ 1) สร้างคน-มุ่งสร้างนักวิจัยท้องถิ่น โดยทำงานร่วมกับ SCGC และผู้เชี่ยวชาญ 2) สร้างกติกา-กำหนดกติกาการใช้น้ำของชุมชนอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของความเกื้อกูลกัน

3) เก็บข้อมูล-เก็บข้อมูลปริมาณน้ำตามจุดต่าง ๆ โดยบันทึกสถิติอย่างเป็นระบบ สำหรับนำไปกำหนดกติกาการใช้น้ำร่วมกัน และ 4) เก็บน้ำ-เก็บน้ำให้ได้มาก และนานที่สุด ด้วยการดูแลแหล่งต้นน้ำและแหล่งเก็บน้ำของชุมชน

SCGC นำโมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ มาบูรณาการร่วมกับองค์ความรู้ในการอนุรักษ์ป่าและน้ำ เริ่มตั้งแต่การฟื้นฟูป่าต้นน้ำด้วยการปลูกป่า 5 ระดับ หรือการคัดเลือกพรรณไม้ท้องถิ่นซึ่งมีเรือนยอดต่างระดับกัน การสร้างฝายชะลอน้ำ

โดยเน้นการใช้วัสดุธรรมชาติเพื่อเก็บน้ำและชะลอการไหลของน้ำในช่วงฤดูฝน การขุดลอกคลองเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ และสุดท้ายคือการทำธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาไว้ใต้ดิน ประหยัดน้ำสำหรับรดน้ำต้นไม้ และพืชผลทางการเกษตร ลดน้ำท่วมขังช่วงหน้าฝน และสร้างความชุ่มชื้นในช่วงหน้าแล้ง

กล่าวกันว่า จากการทำงานร่วมกับชุมชนและหน่วยงานราชการในพื้นที่อย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี ทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงประจักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่สร้างรอยยิ้ม และความสุขให้กับชุมชนอย่างประเมินค่าไม่ได้ อาทิ ช่วยเติมน้ำในลำธารได้ 14.83 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี, อุณหภูมิอากาศต่อปีลดลง 1.6 องศาเซลเซียส ทั้งยังสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 38.49 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไร่ พบสัตว์ป่า 123 ชนิดและพรรณไม้อีกกว่า 120 ชนิดพันธุ์

ปลูกเพาะรักสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

นอกจากโครงการดังกล่าว SCGC ยังมุ่งมั่นเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการเดินหน้าปลูกป่า ทั้งป่าบกและป่าชายเลน โดยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เยาวชน ชุมชนในพื้นที่ และเหล่าจิตอาสา จนเกิดเป็นโครงการ “ปลูก เพาะ รัก” : ปลูกต้นไม้ เพาะต้นกล้า รักษาป่า

ปลูกต้นไม้ : พลิกฟื้นผืนป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ด้วยการปลูกป่าบกและป่าชายเลน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ป่าชุมชน และกิจกรรมปลูกต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศ

โดยเบื้องต้น SCGC ตั้งเป้าปลูกป่า 1 ล้านต้น ตอนนี้ปลูกป่าชายเลนไปแล้วกว่า 181,800 ต้น คิดเป็นพื้นที่ 260 ไร่ สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2,272 ตันคาร์บอนไดออกไซด์

เพาะต้นกล้า : จากการฟื้นฟูป่าบริเวณเขายายดา สู่การออมเมล็ดพันธุ์เพื่อสร้างธนาคารต้นไม้ SCGC ร่วมกับชุมชนบ้านมาบจันทร์ เก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์ไม้ท้องถิ่น และพันธุ์ไม้หายาก จัดทำเป็นโรงเรือนเพาะชํากล้าไม้ เพื่อนําเมล็ดพันธุ์จากต้นไม้ในพื้นที่เขายายดามาเพาะขยายพันธุ์

ขณะเดียวกัน ยังแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ให้บุคคลทั่วไปนำไปเพาะ และส่งกลับคืนต้นกล้ามายังโรงเรือน เพื่อดูแลให้เป็นกล้าไม้ที่แข็งแรง ที่ผ่านมาเพาะต้นกล้ามากกว่า 20,000 ต้น

รักษาป่า : การปลูกต้นไม้ในใจคนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด SCGC จึงส่งเสริมจิตสำนึกรักป่าให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีพันธกิจร่วมกัน รวมถึงเครือข่ายอาสาสมัครการรวมกลุ่มอนุรักษ์ในท้องถิ่น ให้มีการจัดกิจกรรมดูแลพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดรับสมัครสมาชิกรุ่นใหม่เพื่อสานต่องานของเครือข่าย และร่วมเป็นแกนนำในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าต่อไป

บ้านปลาคืนความสมบูรณ์ทะเล

นอกจากนั้น SCGC ยังร่วมกับสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (ระยอง) และกลุ่มประมงพื้นบ้าน จ.ระยอง หาทางแก้ปัญหาระบบนิเวศ เพื่อคืนความสมดุลสู่ท้องทะเลระยอง ด้วย “นวัตกรรมบ้านปลา” จากท่อ PE100 ซึ่งผลิตจากเม็ดพลาสติกคุณภาพสูง ที่เหลือจากกระบวนการขึ้นรูปทดสอบในโรงงาน ซึ่งเม็ดพลาสติก PE100 ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล ว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทนแดด และแรงดันน้ำ จึงมีความปลอดภัยต่อระบบนิเวศทางทะเล

นับจากการวางบ้านปลาหลังแรกในปี 2555 จนถึงวันนี้ SCGC วางบ้านปลาไปแล้วกว่า 2,260 หลัง สร้างพื้นที่อนุรักษ์ในทะเลกว่า 50 ตารางกิโลเมตร จนเกิดความร่วมมือกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน 43 กลุ่ม นอกจากนี้ ยังสำรวจเรื่องไมโครพลาสติก ซึ่งไม่พบไมโครพลาสติกจากท่อ PE100 ในบริเวณบ้านปลาและพี้นที่โดยรอบ

ดังนั้น ภารกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมจะสำเร็จ และคงอยู่อย่างยั่งยืนล้วนเกิดขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วนในสังคมอย่างแท้จริง