Learning Agility ภารกิจการค้นหา 13 หมูป่า 

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ เอชอาร์ คอร์เนอร์ โดย พิชญ์พจี สายเชื้อ

ขอเกาะกระแสหมูป่าหน่อยนะคะฉบับนี้ จากเรื่องราวการนำน้อง ๆ ทีมหมูป่ากลับบ้าน ทำให้ดิฉันนำไปโยงกับสมรรถนะผู้นำที่มีคนพูดถึงมากมาย และเป็นสมรรถนะที่จำเป็นต้องมีของ leader ในอนาคต (future leader) ที่จะสามารถนำพาองค์กรให้อยู่รอดท่ามกลางการปรับเปลี่ยนอย่างมหาศาลของโลกธุรกิจ หรือ business diruption ได้

สมรรถนะนั้นคือ “learningagility” ค่ะ

เหตุการณ์หมูป่าแสดงให้เห็นถึงสมรรถนะของผู้นำในการค้นหาน้อง ๆ ซึ่งคือท่านผู้ว่าฯ และทีมงานที่มีการทำงานแบบ agile ที่ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน โดยต้องใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาของคนมากมายดัดแปลง ปรับเปลี่ยน และประยุกต์เพื่อหาวิธีที่จะนำน้อง ๆ ออกมาจากถ้ำให้ได้ โดยที่เหตุการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ลักษณะการทำงานแบบนี้เข้ากับหลักการของการทำงานแบบ agile คือการนำประสบการณ์เก่าที่มีมาประยุกต์ใช้กับสิ่งที่เกิดใหม่ (และไม่เคยเกิดมาก่อน) ในการทำงานลักษณะนี้จะสำเร็จได้ต้องมีสมรรถนะสำคัญที่เรียกว่า “learning agility”

ถามว่า “learning agility” จริง ๆ หมายถึงอะไร ?

ดิฉันของอนุญาตอ้างอิงเป็นภาษาอังกฤษนะคะ เพราะสั้น กระชับ และตรงความหมายที่สุด เขาบอกว่า Learning agility is “knowing what to do when you don’t know what to do.” แปลง่าย ๆ คือการที่เรารู้ว่าจะทำอย่างไรทั้ง ๆ ที่ (ตลอดเวลาที่ผ่านมา) เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าต้องทำอย่างไรเลย พูดง่าย ๆ คือคิด (ตรัสรู้) ว่าต้องทำอย่างไรเมื่อถึงเวลาที่ต้องทำ โดยเรียนรู้จากประสบการณ์เก่า นำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และประยุกต์ให้เหมาะกับเหตุการณ์เฉพาะหน้านั้น ๆ

ขอยกผลการศึกษาของ “Korn Ferry” มาเล่าให้ฟังนะคะ เนื่องจาก “Korn Ferry” ได้ทำการเก็บรวบรวมผลจากการประเมินผู้บริหารกว่า 1 ล้านคน และพบว่ากว่าผู้บริหารพวกนั้นจะไปอยู่ที่จุดสูงสุดได้นั้นต้องมีความสามารถในเรื่องต่อไปนี้

– ต้องมองภาพใหญ่ออก คือมองอะไรในลักษณะ big picture และเห็นความต่อเนื่องของแต่ละเรื่อง เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ

– ต้องตัดสินใจรวดเร็ว แม้มีข้อมูลไม่ครบ คือหมดยุคที่ต้องรอให้มีข้อมูลถูกต้องครบถ้วน 100% จึงค่อยตัดสินใจ (เพราะรอไม่ไหว ถ้ารอก็ไม่ต้องแข่งขันกับใคร) คนเก่งคือคนที่ตัดสินใจได้ถูกต้อง (หรือผิดน้อยที่สุด) ทั้ง ๆ ที่มีข้อมูลไม่ครบ

– ต้องทำงานภายใต้ความไม่ชัดเจนได้ เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเรามักบ่นว่าแผนงานนี้ยังไม่มีความชัดเจน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่มีความชัดเจน (ดิฉันก็เคยเป็น) ผู้นำที่ดีจะไม่บ่น และไม่หงุดหงิดด้วย แต่จะเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงไม่มีเวลามาให้ความชัดเจนได้ครบทุกด้าน ต้องเปลี่ยนไป ทำไป เราต้องเข้าใจความไม่ชัดเจนให้ได้ ยอมรับ และทำให้ดีที่สุดเท่าที่มีข้อมูล (กลับไปโยงเรื่องการตัดสินใจภายใต้ข้อมูลไม่ครบถ้วนอีก)

ความสามารถทั้งหมดที่กล่าวมามีสมรรถนะอันเป็นกุญแจสำคัญคือ “learning agility” ซึ่งผลการศึกษาของหลายสำนักพูดตรงกันว่า “learning agility” คือ competency ที่สำคัญของผู้นำในอนาคต เพราะการมี learning agility ทำให้ผู้นำสามารถ apply ใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาในการตัดสินใจ หรือแก้ไขสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ (เหมือนเคสหมูป่า)

ถ้าพูดง่าย ๆ learning agility คือการใช้ทักษะในการ learn (เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา) แล้ว adapt (นำไปปรับเปลี่ยน ปรับปรุงแก้ไข) เพื่อ apply (นำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน) นั่นเอง

ทั้งนี้ผลจากการศึกษายังพบอีกว่ามี 7 ทักษะสำคัญสำหรับผู้บริหารที่มี learning agility สูง ทักษะดังกล่าวได้แก่ 1.การเป็นนักแก้ไขปัญหา (problem solver), 2.เป็นผู้นำทางความคิด (thought leader), 3.เป็นผู้บุกเบิก (trailblazers), 4.เป็นแชมเปี้ยนในทุกเรื่อง (champion), 5.เป็นเสาหลักในการทำงาน (pillar), 6.เป็นนักการทูต (diplomats) และ 7.เป็นผู้ทำให้(ทีมงาน) เกิดพลัง (energizers)

ประเด็นสุดท้ายที่น่าสนใจคือ ถ้าอยากรู้ว่าเรามีสมรรถนะด้าน learning agility หรือไม่ ลองตอบคำถามเหล่านี้ดูค่ะ คำถามเหล่านี้ถือเป็น 5 แคแร็กเตอร์

หลักของคนที่มี leraning agility สูง

1.Mental Agility – คุณไม่มีปัญหาในการเผชิญกับความยุ่งยากซับซ้อน

2.People Agility – คุณเป็นคนที่มีทักษะในการสื่อสารที่ดีมากโดยเฉพาะในการทำงานร่วมกับกลุ่มผู้คนที่หลากหลายได้

3.Change Agility – คุณชอบทดลอง และไม่กลัวที่จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงใด ๆ

4.Results Agility – คุณสามารถทำผลงานได้ดี แม้ว่าจะเป็นอะไรที่ทำเป็นครั้งแรก

5.Self-Awareness – คุณรู้ว่าจุดแข็ง และจุดอ่อนของคุณคืออะไร ?

ถ้าเราลองมาวิเคราะห์ดูกรณีหมูป่าจะเห็นว่าผู้นำในภารกิจนี้ (ท่านผู้ว่าฯและทีมงาน) มีแคแร็กเตอร์ของคนที่มี “learning agiligy” สูงไหม ?

ลองดูกันค่ะ เรื่องแรกการมี “mental agility” ผ่านแน่นอน เพราะภารกิจนี้ทั้งยาก ซับซ้อนยิ่งกว่าภารกิจใด ๆ ในโลก ส่วนเรื่อง people agility นี้ก็ผ่าน ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารชื่นชมการให้ข่าว และการสื่อสารในการนำภารกิจนี้มาก ๆ

ถัดมาเรื่อง “change agility” ผ่านฉลุยอีก เพราะภารกิจนี้ไม่มีอะไรตายตัว (น้ำมาเมื่อไร ไม่รู้ ถ้ำเป็นยังไง ไม่รู้ เด็ก ๆ อยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ ต้องคิดทดลองตลอดเวลาทุกเงื่อนไขด้วย) ต่อไปเรื่อง “result agility” ให้คะแนนเกินร้อยค่ะ ผลลัพธ์ออกมาดีมาก ทั้ง ๆ ที่เป็นภารกิจที่ยากมาก และไม่เคยมีใครทำมาก่อน สุดท้ายเรื่อง self agility อันนี้ไม่ทราบว่าท่านทราบไหม แต่ถ้าทำได้ขนาดนี้คงต้องทราบล่ะค่ะ

สุดท้ายคงเหมือนคนไทยทุกคน ดิฉันชื่นชมท่านผู้ว่าฯ และทีมงานในความสำเร็จ และขอยืนยันว่าท่าน และทีมงานมีสมรรถนะสำคัญในการเป็นผู้นำในอนาคต ถ้าท่านอยู่ในบริษัทเอกชนเราจะเรียกท่านและทีมงานว่า เป็น high potential ขององค์กร ซึ่งต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษด้วย

ฝากกระซิบดัง ๆ ไปยังผู้บังคับบัญชา และหน่วยงานต้นสังกัดให้ดูแล high potential ของท่านให้ดีนะคะ