“ศุภชัย” ย้ำสังคมไทยต้องเอื้ออาทรต่อกัน เป็นพื้นฐานความยั่งยืน ห่วงโลกยุค 4.0 ไม่มีระบบควบคุม ต้องปรับตัวให้ทัน

วันที่ 23 สิงหาคม 2560 ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “CSRประชาคมโลก-ประชารัฐไทย” ในงานสัมมนา CSR 360 องศา “รวมใจ..นำไทยยั่งยืน” จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตอนหนึ่งว่า การจะอยู่ร่วมกันในสังคมไทยนั้น คนไทยต้องมีความรัก ต้องมี compassion เป็นความเอื้ออาทร สิ่งเหล่านี้อยู่ในพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็นพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่รับสั่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเสมอ เพราะพื้นฐานของมนุษย์จะรู้สึกเป็นทุกข์เป็นสุขต่อเพื่อนบ้านของเรา แต่ที่ผ่านมากลายเป็นยิ่งผลิตมากยิ่งดี ซึ่งมันไม่ใช่

ดร.ศุภชัย กล่าวว่า มี 4 เรื่องที่จะต้องจำเอาไว้ เป็นแนวทางของซีเอสอาร์ที่นายบัน คีมุน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ เรียกว่า the road to dignity คือ 1.เรื่องความเข้าใจ พูดจากัน 2.เมื่อมีความเข้าใจ ต้องจริงใจกัน พูดจากสิ่งที่คิดโดยไม่มีอคติ โดยเฉพาะในคู่รักสำคัญที่สุด จริงใจกันต่อหน้าและลับหลัง 3.ความอดทน เรื่องอดทนสำคัญมาก นโยบายที่เป็นเศรษฐกิจที่ดี แก้ไขเบ็ดเสร็จได้ ไม่มีนโยบายทำวันนี้พรุ่งนี้ได้ผล สิ่งที่เป็นความอดทนเป็นสิ่งระยะยาว ยั่งยืน คำว่า sustainability (การพัฒนาอย่างยั่งยืน) ไม่ใช่ใช้ของในโลกนี้ให้หมดไป ทุกอย่างต้องรักษาโลกให้อยู่ไว้ อดทนระยะยาวที่เกิดขึ้น

“คนตั้งคำถามว่าระหว่างประเทศนอร์เวย์ซึ่งมีน้ำมันมากมาย กับ ไนจีเรีย เวเนซุเอลา นอร์เวย์เมื่อขุดน้ำมันพบเขาตกใจมาก เขาบอกว่าต่อไปนี้สิ่งที่เราเจอต้องเก็บไว้ถึงรุ่นลูกหลาน ขุดขึ้นมาใช้อย่างประหยัด ผิดกับเวเนซุเอลา ไนจีเรีย โดยนอร์เวย์ขุดขึ้นมาแล้วตั้งกองทุน ก่อให้เกิดขึ้นรายได้จากน้ำมัน เป็นกองทุนที่ใหญ่ในโลก และนำมาพัฒนาคน ทำเพื่อโลก แต่ถ้าไปดูเวเนซุเอลา ไนจีเรีย ใช้น้ำมันโดยไม่ดูแลรักษา และเอาเงินไปใช้ในโครงการที่ไม่เห็นเป็นรูปธรรม หรือฉ้อฉล ในสหประชาชาติจึงตั้งองค์กรที่ชื่อว่า eiti (The Extractive Industries Transparency Initiative) ใครที่ทำเรื่องชุดเจาะน้ำมัน ถ่านหินขอให้เป็นสมาชิก eiti ผมเดินทางไปทั่วโลกเจรจาเรื่องนี้โดยเฉพาะแอฟริกา ตัวอย่างเช่น ประเทศกินี ที่มีประชากรอยู่ 5 แสนคน เป็นประเทศรวยมีน้ำมันเยอะ เมื่อคำนวณรายได้ต่อหัวมี 5 หมื่นเหรียญดอลลาร์ต่อปี ถูกประกาศว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ในความเป็นจริงประชาชนยากจน คนได้พันเหรียญต่อปี แต่ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีน้ำมันเยอะ เมื่อคำนวณออกมาจึงเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งขัดกับโลกนี้มาก ความเท่าเทียมของโลกจึงเป็นเป้าหมายหลักของสหประชาชาติ ความเหลื่อมล้ำทางเพศ เด็กไม่ได้เรียนหนังสือเพียงพอ โลกสกปรก คนรวยไม่ได้เดือดร้อน เรื่องน้ำที่ทั่วโลกละเลยมาก ยกเว้นสหประชาชาติที่เอามาเป็นเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน เพราะจะเป็นแหล่งที่เกิดความขัดแย้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในโลก

“ดังนั้น หนึ่งในเป้าหมายเวลานี้ โลกจะอยู่ได้คือพึ่งทรัพยากรของตัวเองมากที่สุด แม้เป็นโลกเป็น global partnership แต่ต้องพึ่งตัวเองได้ ต้องรู้จักตกปลาหากินเองด้วย ขณะเดียวกัน การเป็นพหุภาคีก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ ปัจจุบันมักพูดว่า me first American first ถ้าพูดอย่างนี้ก็เลิกสหประชาชาติ จึงยังต้องสนับสนุนพหุภาคี ถ้ายกเลิกข้อตกลงระหว่างประเทศจะน่าเป็นห่วงมาก เช่น โดนัลด์ ทรัมป์ ยกเลิกข้อตกลงเรื่องภาวะโลกร้อน เป็นสิ่งที่รับไม่ได้” ดร.ศุภชัยกล่าว

ดร.ศุภชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การวัดความเจริญของประเทศด้วยวัดจีดีพีต้องมีการปรับเปลี่ยน แม้สามารถวัดทิศทางการเติบโตของประเทศได้ แต่ก็วัดได้เพียงบางส่วน เพราะมีอีกหลายอย่างที่ไม่ถูกนำมาวัดเป็นจีดีพี เช่น แม่บ้าน ทำงานหนักแต่ไม่ได้นำมาวัดเป็นผลผลิตในประเทศ สิ่งพวกนี้ต่อไปในอนาคตจะต้องเปลี่ยนเป็นการวัด Human development เศรษฐกิจพอเพียง ยังมีอีกหลายเรื่องจะต้องเบี่ยงเบนออกจากดั้งเดิม เช่น จากยิ่งรวยมากยิ่งดี


“อีกเรื่องหนึ่งรัฐบาลพูดถึง 4.0 ผมไม่ได้ต่อต้าน ที่ห่วงคือ แพลตฟอร์มของ e-Commerce ข้อดีคืออยู่กับบ้านแล้วสั่งของในโลกนี้ได้ แต่ไม่ได้ทำให้คนออมมากขึ้น กลุ่มธุรกิจที่เป็นยักษ์ใหญ่ในอดีต เช่น ธุรกิจน้ำมัน Exxonmobil แต่เดี๋ยวนี้มี Alphabet Amezon มีบริษัทดิจิทัล 4-5 แห่งที่เริ่มต้น e-Commerce แต่ไปซื้อธุรกิจต่างๆ ในโลก ซื้อโลจิสติกส์ ซื้อขายก็รวย ส่งของก็รวย และนำไปสู่ e-payment อีกเรื่องคือ Cloud ที่เป็น Big data ใครเป็นเจ้าของ Big data เป็นเจ้าของพวกคุณทั้งหมด แล้วมีประเทศหนึ่งเอาข้อมูลของประชาชนมาทำ Big data ซึ่งเป็นระบบที่ไม่มีใครควบคุม อีกทั้งมี Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์ เป็นสิ่งที่พัฒนาไปเรื่อยๆ ในที่สุดจะไปควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างในโลก การรบ การใช้ทรัพยากร อีกหน่อยเราง่อย พวกนี้คุมหมด นี่คือสิ่งที่โลกน่าเป็นห่วงมาก แล้วเราบอกว่าในที่สุด ใครจะคุมพวกนี้ อะไรจะเป็นกฎระเบียบของโลกที่คุมพวกนี้ การทำงานต่อไปคนจะถูกทดแทน จะทำอย่างไรในเรื่องประชารัฐ การ CSR รัฐปรับตัวเข้ากับธุรกิจเอกชนและชาวบ้าน ต้องปรับตัว” ดร.ศุภชัย กล่าวในที่สุด