ธุรกิจยักษ์ใหญ่เร่งทรานส์ฟอร์ม สร้างคนพันธุ์ใหม่ รับสมรภูมิเปลี่ยน


ธุรกิจยักษ์ใหญ่เร่งทรานส์ฟอร์ม “องค์กร-คน” รับมือโลกธุรกิจเปลี่ยนในยุคดิจิทัล “เอไอเอส-เอสซีบี” เปิดอะคาเดมีจัดหลักสูตรสร้าง “ทาเลนต์” เคแบงก์สร้าง “พนักงานพันธุ์ใหม่”

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากกระแสดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ที่ทำให้องค์กรธุรกิจต่าง ๆ ต้องเร่งปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อรับมือการแข่งขันของธุรกิจโลกใหม่ นอกจากการให้ความสำคัญกับการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขณะเดียวกันองค์กรธุรกิจกำลังตื่นตัวกับการทรานส์ฟอร์มองค์กร โดยเฉพาะการเปลี่ยนไมนด์เซต “พนักงาน” ให้ออกจากกรอบแนวคิดแบบเดิม ๆ พร้อมการยกระดับทักษะการทำงานในยุคดิจิทัล

เคแบงก์สร้างพนักงานพันธุ์ใหม่

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเปลี่ยนผ่านในยุคดิจิทัลที่ธุรกิจเผชิญการแข่งขันกับคู่แข่งหน้าใหม่ ๆ ด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน เช่นที่ปัจจุบันธุรกิจแบงก์มีฟินเทคเข้ามา ทำให้บทบาทของธนาคารลดลง ดังนั้นการที่ธนาคารจะปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันในยุคดิจิทัล สิ่งสำคัญนอกเหนือจากเรื่อง “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น” คือเรื่องการทำ “ออร์แกไนเซชั่นทรานส์ฟอร์เมชั่น” ธนาคารจะต้องหาวิธีในการจัดการและปรับองค์กรและวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงกระบวนการใหม่ มีบุคลากรที่มีไมนด์เซตใหม่ ที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีเข้ามาช่วยขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าได้อย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความเฉพาะคนใหม่ที่จะเข้ามา แต่คนเก่าก็ต้องเปลี่ยนความคิดและวัฒนธรรม ทำให้รู้สึกเป็นเรื่องสนุกในการที่สามารถค้นหาสิ่งใหม่ ๆ ต้องเปลี่ยนและสนับสนุนให้มีการเติบโตในวัฒนธรรมใหม่

“หลังจากนี้ธนาคารจะต้องมีวิธีการจัดการคนหลาย ๆ แบบ เช่นการรับสมัครคนพันธุ์ใหม่เข้ามาทำงาน ซึ่งมีความต้องการไม่เหมือนคนพันธุ์เก่า เช่นบางคนเข้ามาได้เงินเดือน 100 บาทแต่ขอแค่ 60 บาท และส่วนที่เหลือขอเป็นลักษณะ profit sharing เพราะเขาไม่ได้คุยแต่เรื่องเงินเดือนเท่าไหร่ แต่ต้องการรู้ว่าจะได้เรียนรู้อะไรบ้าง ระบบการจ่ายผลตอบแทนก็จะไม่เหมือนเดิม วิธีการทำงานก็ไม่เหมือนเดิม เพราะเขาไม่ได้ต้องการเป็นนายแบงก์ตามปกติ พนักงานพันธุ์ใหม่อาจจะไม่ได้เป็นพนักงานเต็มเวลา อันนี้ผู้บริหารแบงก์ก็ต้องเปลี่ยนไมนด์เซต” นายพิพิธกล่าวและว่า ดังนั้นระบบการจ้างงาน ระบบการเข้ามาทำงาน ความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างและนายจ้างก็จะไม่เหมือนกับธนาคารและพนักงานธนาคารที่เราเคยเห็น ดังนั้นธนาคารต้องเปลี่ยน ซึ่งโครงสร้างองค์กรจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็เป็นเรื่องใหม่ของธนาคาร

ผุดหลักสูตรทรานส์ฟอร์ม “คน”

ขณะที่นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า องค์กรธุรกิจในปัจจุบันต้องเตรียมความพร้อมให้บุคลากรในองค์กรเพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนพัฒนาตนเองให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ทำให้บริษัทมีการลงทุนในหลายส่วนเพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรยุคใหม่ เช่น เปิดหลักสูตรอบรมพนักงานระดับต่าง ๆ ทั้งหลักสูตรที่เรียนได้ผ่านระบบออนไลน์ (อีเลิร์นนิ่ง)และแบบออฟไลน์ โดยเอไอเอส อะคาเดมีที่จะจัดอบรมพนักงานตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานไปจนถึงเติบโตขึ้นเป็นผู้บริหารระดับต่าง ๆ และที่เปิดใหม่เป็นหลักสูตรสำหรับทาเลนต์ เรียกว่า ACTs (AIS Creative Talents) รวมถึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก อาทิ ฮาร์วาร์ด, เอ็มไอที และแมนเชสเตอร์ยูนิเวอร์ซิตี้ เพื่อมาจัดทำหลักสูตร เป็นต้น

“คนของเราเก่งมากดีมาก แต่วันนี้ไม่พอ จำเป็นต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองไปสู่สิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว ที่สำคัญคือพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเร็วมาก เมื่อลูกค้าเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ถ้าเราไม่เปลี่ยนก็จะไม่ทันการ เราต้องการเป็นนิวเจเนอเรชั่นออร์แกไนเซชั่นแต่องค์กรคนรุ่นใหม่ในความหมายของผม ไม่ได้ดูกันที่อายุ แต่ดูที่ความคิดสมัยใหม่”

ด้านนางสาวพรรณพร คงยิ่งยง รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief People Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB กล่าวว่า ตอนนี้สนามรบเปลี่ยนมีผู้เล่นหน้าใหม่ ๆ เข้ามาในธุรกิจการเงินมากขึ้น ซึ่งต่อไปบทบาทและพฤติกรรมของลูกค้าจะเข้าสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น ธนาคารจึงต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ให้ความรู้ และผู้ให้คำแนะนำ ธนาคารจึงได้จัดตั้ง SCB Academy เพื่อพัฒนาหลักสูตรสำหรับพนักงานโดยเฉพาะ ด้วยการอาศัยความร่วมมือจากสถาบันต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“ครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะเราเปลี่ยนตั้งแต่ระบบเทคโนโลยี พนักงานที่จะต้องพัฒนาศักยภาพอย่างรอบด้าน อันไปสอดรับกับการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ที่จะทำให้วิธีคิด พฤติกรรมสอดคล้องกับอนาคตข้างหน้า โดยเฉพาะพนักงาน Gen Y และ Gen Z ที่เข้ามาทำงานกับเรา เพราะปีหนึ่ง ๆ มีบัณฑิตจบใหม่มาสมัครงานกับเราประมาณ 2,000-3,000 คน”

เนื่องจากธุรกิจของธนาคารเกี่ยวข้องกับฐานข้อมูล และ business intelligenceที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เราถึงต้องออกแบบแพลตฟอร์มเพื่อรีครูต พนักงานที่มีทักษะเฉพาะด้านเพื่อมาเป็นโปรเจ็กต์แมเนเจอร์ที่สามารถวิเคราะห์ วางแผน บริหารจัดการ แนะนำความรู้ เพื่อให้ลูกค้าประสบความสำเร็จในธุรกิจ

“ฉะนั้นคนเหล่านี้จึงมีแนวทางชัดเจนตั้งแต่แรก และยิ่งเมื่อให้เข้ามาอบรมใน SCB Academy เขาจะได้รับการโค้ชโดยผู้บริหารระดับสูง ขณะเดียวกันก็ได้รับการอบรม และพัฒนาจากหลักสูตรที่เราดีไซน์ขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อสร้างเขาให้เป็น talent ขององค์กรต่อไป”

HR ต้องปรับ “แคเรียร์พาท”

รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ประธานสายวิชาการจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลังจากหลายองค์กรปรับตัวให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวสู่โลกดิจิทัล จึงทำให้ฝ่ายเอชอาร์ต้องปรับเส้นทางการเติบโตในวิชาชีพ (career path) ให้กับคนรุ่นใหม่ด้วย เนื่องจากระบบการศึกษาในปัจจุบัน ทั้งในและต่างประเทศ ต่างมุ่งนำเสนอหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลและนวัตกรรม

“ตำแหน่งงานของคนรุ่นใหม่จึงต้องมีการปรับเปลี่ยน และส่วนใหญ่จะพ่วงท้ายด้วยคำว่าดิจิทัล หรือนวัตกรรม เนื่องจากรูปธุรกิจเปลี่ยน แนวทางการทำงานจึงเปลี่ยนไปด้วย อีกอย่างอาจเป็นเพราะคนรุ่นใหม่ไม่รอให้หัวหน้างานเป็นคนชี้ชะตาอนาคตว่าภายใน 3-5 ปีจะทำงานในตำแหน่งไหน เงินเดือนเท่าไหร่ แต่เขาต้องการความชัดเจนเลยว่าหลังจากทำงานภายใน 1-2 ปีเขาจะขึ้นไปอยู่ตำแหน่งไหน และเงินเดือนเท่าไหร่ ถ้าไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง กลุ่มคนเหล่านี้ก็พร้อมจะลาออกทันที”