“เอ็กโก กรุ๊ป” บริบทความยั่งยืน DJSI ตลาดเกิดใหม่

ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม

เมื่อปี 2563 เป็นปีแรกที่ “เอ็กโก กรุ๊ป” หรือ “บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)” ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices-DJSI) ในกลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ (emerging markets index) ประเภทอุตสาหกรรมสาธารณูปโภคไฟฟ้า (electric utilities) ซึ่งถือเป็นบริษัทไฟฟ้าไทยรายแรกที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิก ทั้งยังเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่ามีการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืน

เพราะตลอดระยะเวลากว่า 29 ปีที่เริ่มกิจการ นอกจากจะลงทุนหลักในธุรกิจผลิตไฟฟ้า พร้อมทั้งขยายการลงทุนไปยังธุรกิจด้านพลังงานที่เกี่ยวข้องครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังได้ดูแลชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมควบคู่กันด้วย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนรอบโรงไฟฟ้า, การส่งเสริมการเรียนรู้พลังงานและสิ่งแวดล้อมในเยาวชน, การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านโครงการต่าง ๆ จนเป็นที่ประจักษ์ รวมทั้งเป้าหมายต่อไป

เอ็กโกยังวางแผนการลงทุนที่มุ่งให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เห็นได้จากล่าสุดการเข้าลงทุนครั้งแรกในตลาดพลังงานขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งประเทศมากกว่า 1,100 จิกะวัตต์ เพราะจะทำให้อนาคตมีโอกาสในการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนอีกมาก รวมทั้งยังส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติด้วย

“เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวว่าความยั่งยืนในความหมายของเอ็กโก กรุ๊ป ไม่ใช่เพียงการเติบโตอย่างต่อเนื่องด้านผลประกอบการ แต่รวมถึงการใส่ใจและอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลกับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดีในทุกพื้นที่ที่ดำเนินกิจการ และในทุกขั้นตอนการดำเนินงานด้วย

เทพรัตน์ เทพพิทักษ์
เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป

ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปัจจุบัน ท่ามกลางความท้าทายของอุตสาหกรรมไฟฟ้า ทั้งโอกาสในประเทศมีจำกัด การแข่งขันในต่างประเทศที่มีมากขึ้น เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะส่งผลต่อธุรกิจพลังงานในภาพรวม จึงต้องเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

“โดยหลักการดำเนินธุรกิจภายใต้บริบทยั่งยืน เริ่มจากสังคมภายในกำหนดเรื่องการให้ความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นส่วนหนึ่งในค่านิยมองค์กร สร้างความตระหนัก และการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในการมุ่งลดผลกระทบเชิงลบ และเพิ่มผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคม ประเมิน จัดทำแผนตลอดกระบวนการดำเนินธุรกิจ และขยายสู่สังคมภายนอกด้วยการส่งเสริมให้พนักงานใช้ศักยภาพและมีจิตอาสา มีส่วนร่วมดำเนินโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคม ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ”

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมสังคมผ่านการให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในเยาวชน อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าพี่ โรงเรียนน้องที่มีระยะเวลาดำเนินโครงการปี 2560-2564 มีกิจกรรมสำคัญคือมอบทุนอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นทุนการศึกษาแบบต่อเนื่องระดับ ปวช.-ปวส. จำนวน 5 รุ่น รุ่นละ 25 ทุน เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนในโรงเรียนรอบโรงไฟฟ้า ที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้ศึกษาต่อระดับอาชีวศึกษา ใน 6 สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไฟฟ้า ได้แก่ ช่างยนต์, ช่างกลโรงงาน, ช่างไฟฟ้ากำลัง, ช่างอิเล็กทรอนิกส์, ช่างซ่อมบำรุง และเมคาทรอนิกส์ โดยระดับ ปวช.จะได้ทุนการศึกษา ปีการศึกษาละ 60,000 บาท และ ปวส. ปีการศึกษาละ 70,000 บาท”

“นอกจากนี้ ยังมีโครงการศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนที่เป็นที่ภาคภูมิใจของท้องถิ่น เผยแพร่ความรู้กับเครือข่ายภาคการศึกษาในด้านการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลของอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม ทั้งมิติด้านพลังงาน และด้านความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ”

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ “ป่าต้นน้ำ” โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่าที่เอ็กโกก่อตั้งขึ้น เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และผืนป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญของประเทศไทย โดยเรื่องนี้ “เทพรัตน์” กล่าวว่าเป็นการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 ปี (ปี 2560-2564) ในพื้นที่ป่าต้นน้ำสำคัญ 3 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่, ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ชัยภูมิ เพื่อมุ่งหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือของภาคีเครือข่ายปลูกจิตสำนึกรักษ์ป่า

“โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมา มีการจัดทำโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ร่วมกับกรมป่าไม้ และชุมชนนำร่อง 7 หมู่บ้าน ใน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวสะสม 911 ไร่ ผ่านการนำพื้นที่ทำกินของชุมชนเข้าร่วมโครงการ โดยการปลูกพืชทางเลือกและลดพื้นที่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวลง ทำให้มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นจากการคืนพื้นที่ทำกินของชุมชนร่วมด้วย

รวมถึงทำงานร่วมกับชุมชนต้นน้ำภูหลง จ.ชัยภูมิ และภาคีเครือข่ายสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ช่วยกันปลูกและฟื้นฟูป่าภูหลงสะสม 145 ไร่ โดยใช้กล้าไม้พื้นถิ่นที่ได้จากการส่งเสริมอาชีพการเพาะกล้าไม้ของชุมชนในพื้นที่ พร้อมเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ในการวางแผนป้องกันไฟป่าด้วย”

“ส่วนโครงการค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่า ถือเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ เพราะปัจจุบันดำเนินมาเป็นรุ่นที่ 55 แล้ว จนเกิดเป็นเครือข่ายเยาวชนใน จ.เชียงใหม่ ที่สะท้อนรูปธรรมของความตระหนักและจิตสำนึกของเยาวชนที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าต้นน้ำลำธาร และแสดงความตั้งใจในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติ”

“ทั้งนี้เป้าหมายต่อไปของแต่ละโครงการในภาพรวมจะพัฒนาการทำงานในรูปแบบที่สอดคล้องกับช่วงเวลา ยุคสมัยและส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ และของโลกตามสหประชาชาติใน 3 ประเด็น ได้แก่

1.การส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนให้มีการพัฒนาบนกรอบคิดของความยั่งยืนในทุกมิติ ของคุณภาพชีวิต

2.การเตรียมความพร้อมด้านความรู้สู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และส่งเสริมพฤติกรรม การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าเพื่อความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม

3.การเดินหน้า และมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในการร่วมรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ และป่าต้นน้ำ ตั้งแต่ต้นทางของทรัพยากรธรรมชาติ จนถึงการจัดการที่ปลายทางอย่างถูกวิธี”

อย่างไรก็ตาม นอกจากโครงการที่กล่าวมา “เทพรัตน์” กล่าวด้วยว่ายังต้องวางแผนธุรกิจอย่างรอบด้าน เพราะท่ามกลางความท้าทายของวิกฤตโควิด-19 ทำให้ที่ผ่านมาการสั่งการผลิตไฟฟ้า (dispatch) มีน้อยลง ซึ่งแปรผันตามความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศที่ลดลง และการเลื่อนแผนการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าบางแห่งออกไป เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องการเดินทางและการขนส่งอุปกรณ์ซ่อมบำรุงต่าง ๆ

“แต่ในภาพรวมการดำเนินงานบริษัทยังสามารถดำเนินธุรกิจตามแผนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (business continuity plan-BCP) ที่ได้จัดทำทั้งสำหรับสำนักงานใหญ่ และโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ในกลุ่มเอ็กโก โดยมีการทบทวนแผน BCP ให้สอดคล้องกับสถานการณ์อยู่เสมอ

และจนถึงปัจจุบัน โรงไฟฟ้าทั้งหมดในกลุ่ม ทั้งในและต่างประเทศ ยังคงเดินเครื่องเชิงพาณิชย์และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้อย่างราบรื่น ผมมองว่าในทุกวิกฤตมีโอกาส โดยเฉพาะเป็นโอกาสในการเรียนรู้ ปรับตัวเพื่อก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนกว่าเดิม”

“เพราะท่ามกลางความท้าทายครั้งนี้ เรายังคงสามารถบริหารจัดการสินทรัพย์ที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถขยายการลงทุนไปยังพื้นที่ใหม่ ๆ และธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องอย่างล่าสุดบริษัทตั้งงบฯลงทุนปี 2564 อยู่ที่ระดับ 3.7 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนสำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน และการเข้าลงทุนโครงการใหม่ ๆ ที่อยู่ระหว่างการเจรจา รวมถึงการลงทุนในธุรกิจใหม่ เพื่อเพิ่มการเติบโตให้กับบริษัท ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าเราจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งกว่าเดิม”

“แต่ทั้งนั้นทุกความก้าวหน้าของธุรกิจเราก็จะยึดประเด็นสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นกรอบทำงานสำคัญ ตั้งแต่การตัดสินใจลงทุน นอกจากนี้ ก็มีการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าเพื่อลดการใช้พลังงานและการปล่อยมลพิษ และมีการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูงที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนำมาใช้ในโรงไฟฟ้า เพื่อให้การบริหารจัดการโรงไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงสุดและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดแก่สิ่งแวดล้อมและชุมชนให้น้อยที่สุด”


“และทุกประเทศที่บริษัทเข้าไปดำเนินกิจการก็ต้องปฏิบัติ ตามกฎหมาย และข้อกำหนดต่าง ๆ ทางด้านสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศและระดับสากลอย่างเคร่งครัด เช่น มีการจัดการคุณภาพอากาศ น้ำ และของเสีย”