นายจ้างชิงแรงงานต่างด้าวเดือด ขาดแคลนหนักรัฐเปิดนำเข้า ก.ค.

FILE PHOTO :

ศึกชิงแรงงานต่างด้าวระอุ นายจ้างจ้องฉกตัว ทุ่มจ่ายค่าแรงสูง แรงงานฝีมือรับ 500-1,000 บาท/วัน รมว.แรงงานสั่งแรงงานจังหวัดสำรวจความต้องการแรงงานต่างด้าวทั่วประเทศ เล็งเปิดนำเข้าหลังวัคซีนกระจายทั่วประเทศ 70% เดือน ก.ค.นี้ งัด 3 มาตรการเข้มข้นสกัดโควิด-19

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการส่งออกเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวอย่างหนัก ผลพวงจากการระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงระบาดต่อเนื่องระลอกที่ 3 ซึ่งก่อนหน้านั้นการระบาดระลอก 2 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร

เป็นจุดเริ่มต้นการประกาศของกระทรวงมหาดไทย โดยสั่งการ “ห้าม” เคลื่อนย้ายแรงงานทั้งในพื้นที่เสี่ยง และตามด่านชายแดน ทำให้แรงงานบางส่วนตกค้างไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ เพราะเกรงจะถูกกักตัว นอกจากนี้ยังมีแรงงานที่กลับประเทศถาวร ส่งผลให้การขาดแคลนแรงงานวิกฤตรุนแรงขึ้น

ทุ่มจ้างแพงดึงแรงงานต่างด้าว

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการ “แย่งตัว” แรงงานต่างด้าว โดยยอมทุ่มจ่ายค่าจ้าง “สูงกว่า” ค่าแรงขั้นต่ำ รวมทั้งให้เพิ่มการทำงานล่วงเวลา (OT) 2-3 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 1.5% ของค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มเงินค่าฝีมือ 50-100 บาท รวมแล้วรายได้ของแรงงานต่างด้าวที่ต้องใช้ฝีมือบางประเภทพุ่งสูงขึ้นที่ 500-1,000 บาทต่อคนต่อวัน โดยกระบวนการผลิตไม่หยุดชะงัก

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของค่าใช้จ่ายแรงงานต่างด้าวก็ต้องจ่ายเพิ่มตามไปด้วย อย่างกรณีที่ต่างด้าวต้องการเปลี่ยนนายจ้าง ซึ่งจะต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงกับกระทรวงแรงงาน หากใช้บริการบริษัทจัดหางานจะที่คิดค่าบริการไม่ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อคน ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวนี้ บางโรงงานนายจ้างจะเป็นผู้รับภาระแทนแรงงาน แต่หลายแห่งแรงงานต่างด้าวต้องรับภาระเอง ขณะเดียวกันก็ต้องจ่ายค่าบัตรประกันสุขภาพ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

ดังนั้น หากโควิด-19 คลี่คลาย ภาครัฐควรปลดล็อกด้านแรงงาน และจัดหาแรงงานต่างด้าวให้เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากขณะนี้คำสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าไม่มีแรงงานก็ผลิตสินค้าลำบาก หรือไม่ก็ต้องหยุดไลน์การผลิต

แรงงานจ่อนำเข้าต่างด้าว ก.ค.นี้

ขณะที่ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวในขณะนี้ หลังรัฐบาลทยอยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ 70-80% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือนนับจากนี้แล้ว จะเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ สปป.ลาว, เมียนมา และกัมพูชา เฉพาะแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยโดยถูกกฎหมาย และอยู่ภายใต้บันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยกับประเทศต้นทาง ภายในเดือน ก.ค. 2564

ทั้งนี้ เรื่องนี้ได้สั่งการให้สำนักงานแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ สำรวจความต้องการแรงงานจากผู้ประกอบการ นายจ้าง ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประเมิน และแก้ไขปัญหาด้านแรงงานให้สถานประกอบการ พร้อมกับวิเคราะห์แนวโน้มการจ้างแรงงานต่างด้าวให้เพียงพอในกิจการที่จำเป็น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านแรงงานในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19

งัด 3 มาตรการเข้ม

รมว.แรงงานกล่าวว่า แม้จะเปิดนำเข้าแรงงานต่างด้าว แต่จะต้องเข้มข้นเรื่อง “เงื่อนไข” มากขึ้น คือ 1) แรงงานต่างด้าวต้องมีเอกสารรับรองจากประเทศต้นทางว่าได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว หากยังไม่ได้รับวัคซีน นายจ้างต้องจัดหาให้ โดยไม่กระทบต่อปริมาณวัคซีนสำหรับประชาชนในประเทศ 2) ต้องกักตัวในพื้นที่กำหนด 14 วัน 3) นายจ้างต้องเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการนำเข้าแรงงาน

อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่สามารถใช้แรงงานไทยได้ ขอให้ผู้ประกอบการเลือกจ้างแรงงานไทยก่อน เนื่องจากยังมีแรงงานไทยบางส่วนตกงาน ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกอบการมั่นใจในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลว่าจะสามารถสร้างความเชื่อมั่น สร้างบรรยากาศการลงทุนให้กับประเทศ

ต้องการต่างด้าวเพิ่ม 3 แสนคน

ด้าน นายเฟื่องฟู ชีวินมหรัตน์ ประธานกรรมการ บริษัท เดอะเฟิร์ส กูด แมนกรุ๊ป จำกัด บริษัทจัดหาแรงงานต่างด้าวระบุว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการแรงงานต่างด้าวเพิ่มอย่างน้อย 2-3 แสนคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมอาหาร เช่น โรงงานไก่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตเพื่อการส่งออก เฉพาะลูกค้าของบริษัทแจ้งความต้องการแรงงานต่างด้าวรวมแล้วกว่า 10,000 คน ซึ่งบริษัทมีความพร้อมหากกระทรวงแรงงานจะเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเร็ว ๆ นี้

ขณะเดียวกันมีเสียงสะท้อนถึงปัญหาทั้งฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้าง เกี่ยวกับขั้นตอนการนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่มีกฎเกณฑ์ค่อนข้างมาก ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของแรงงานต่างด้าวและนายจ้างเพิ่มขึ้น อาทิ การซื้อประกันสุขภาพที่ราคา 3,200 บาท เมื่อรวมกับต้นทุนในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวซึ่งมีค่าใช้จ่ายงานด้านเอกสารเฉลี่ย 9,000 บาทต่อคน ค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะอยู่ที่ 10,000-15,000 บาทต่อคน จึงขอให้ภาครัฐพิจารณาทบทวน