ปตท.สยายปีกลงทุน 1.8 ล้านล้าน ปั้นโมเดลธุรกิจเปิดน่านน้ำใหม่

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์

ซีอีโอ ปตท. “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประกาศเร่งขยายการลงทุน 1.8 ล้านล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศในช่วง 5 ปี พร้อมปั้นโมเดลธุรกิจเปิดน่านน้ำใหม่ ย้ำทำธุรกิจเดินคู่ขนานในการช่วยเหลือสังคม

วันที่ 29 กันยายน 2564 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุผ่านเวทีธุรกิจ-สังคม สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด ที่จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจของประเทศ ปตท.ยึดตามแนวทางการบริหารที่ยั่งยืนเป็นสำคัญด้วยการนำ ESG (Environmental Social and Governance) หรือ ดำเนินธุรกิจที่ต้องคำนึงถึง สังคม และสิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล

รวมถึงแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวง ร.9 มาใช้ควบคู่กัน สำหรับการจัดการยั่งยืนนั้น ปตท.เรียกว่า PTT SUSTAINERGY DNA ต้องการให้คำว่ายั่งยืนฝังอยู่ใน DNA คนของ ปตท.ทุกคน ใช้คำว่า เราต้องเลิศ โลกเราต้องรัก สังคมไทยต้องอุ้มชู ช่วยสะท้อนให้เห็นว่าการดำเนินธุรกิจของ ปตท.ไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจ แต่ยังหมายรวมถึง สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ให้ทุกส่วนเดินหน้าไปพร้อมเพรียงกัน

การระบาดของโควิด-19 ได้นำศักภาพเข้ามาช่วยดูแลสังคมไทย แบ่งเป็น 2 ตอน แม้ว่า ปตท.จะได้รับผลกระทบที่ต้องเรียกว่า DUBBLE EFFECT เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีส่งผลต่อไปถึงราคาน้ำมันที่ลดลงตามไปด้วย และตามมาด้วยการระบาดของโควิด-19 ตั้ง PTT GROUP VITAL CENTER War Room เพื่อใช้ศักภาพคนของปตท.และบริษัทในเครือทั้งหมด ช่วยกันแก้ไขสภานการณ์ ที่เรียกว่า กลยุทธิ์ 4 R

1. Resilience องค์กรมีความยืดหยุ่น เผชิญปัญหาเฉพาะหน้าได้ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน จัดหาสภาพคล่องเข้ามาให้องค์กร มีการออกหุ้นกู้ทั้งหมดในเครือปตท.รวม 100,000 ล้านบาท เพราะไม่รู้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น

2. Restart เตรียมความพร้อมที่จะนำองค์กรกลับมาสู่ภาวะปกติให้ได้ รวมไปจนถึง Supply Chain ของปตท.มีการจัดตั้งศูนย์พลังใจ ดูแลให้ความรู้พนักงาน และการช่วยเหลือ

3. Reimagination จินตนาการอนาคตใหม่ว่า หลังจากโควิด-19 สิ่งที่จะมากระทบเศรษฐกิจโลกในอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร และที่สำคัญต้องปรับตัวอย่างไร

4. Reform คือการปรับโครงสร้างองค์กร เพิ่มทักษะการทำงานของพนักงาน

“เมื่อปตท.เข้มแข็งแล้ว เราจึงออกมาช่วยเหลือสังคมต่อได้ ซึ่ง ในกลุ่ม ปตท.ได้นำนวัตกรรมของกลุ่มมาช่วยเหลือ อย่างเช่น การผลิตแอลกอฮอล์ และหน้ากาก รวมถึงการนำแอลกอฮอล์สำหรับพลังงานมาใช้ผลิตเป็นแอลกอฮอล์แจกจ่ายประชาชน ปรับโรงงานคู่ค้าของ ปตท.ให้ผลิตมาใช้กับคนได้ และบริจาคให้โรงพยาบาลระดับตำบลกว่า 5,000 แห่ง”

นายอรรถพล อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า การช่วยเหลือสังคมในช่วงโควิด-19 ปตท.ยังได้ช่วยออกแบบห้องความดันลบ ผลิตชุดกราวน์ได้มาจากปิโตรเคมีเพื่อแจกให้กับบุคคลากรทางการแทพย์และเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยในการทำงานอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังช่วยภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การจ้างงานเด็กจบใหม่ 25,000 คน กระตุ้นให้พนักงานออกไปเที่ยวแบบช่วยค่าใช้จ่ายเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ รวมถึงโครงการลมหายใจเดียวกัน ปตท.ให้การสนับสนุนเครื่องช่วยหัวใจ 300 แห่ง เครื่องให้ออกซิเจน และอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่น ๆ

รวมถึงความร่วมมือกับ กทม.เพื่อทำโรงพยาบาลสนาม ตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนเชิงรุกตั้งโรงพยาบาลสนาม และนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ พร้อมทั้งใช้อาคารที่ได้ซื้อจากการบินไทย เพื่อตั้งเป็นโรงพยายาลสนามแบบครบวงจรมีห้อง ICU ถึง 120 ห้อง เป็นต้น

“ถือเป็นการใช้องค์ความรู้ทางธุรกิจมาใช้บริหารจัดการ อยากให้ศูนย์นี้ยังคงอยู่เพื่อสร้างความมั่นใจว่ายังมีระบบสาธารณูปโภคให้ยอมรับ และเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทย โดยไม่ต้องกังวลเรื่องโควิด เพราะมีระบบสาธารณสุขรองรับ”

แม้ว่าธุรกิจจะชะลอตัวจากการระบาดของโควิด-19 แต่ไม่ได้ส่งผลให้ ปตท.หยุดพัฒนาหรือหยุดการลงทุน อรรถพล ระบุเพิ่มเติมอีกว่า เนื่องจากเรื่องของพลังงานมีความผันผวนสูง จะมีพลังงานสะอาดมากขึ้น ถือว่าธุรกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมาก รวมกับการใช้เทคโนโลยี

จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้ ปตท.ต้องเปลี่ยนวิสัยทัศน์องค์กร สู่ POWERING LIFE WITH FUTUER ENERGY AND BEYOND ขยายความเพิ่มคือ POWERING LIFE ถือเป็นวัตถุประสงค์ขององค์กร สะท้อนความเป็น ปตท.ว่าจัดตั้งขึ้นมาด้วยเหตุผลอะไร เพื่อเป็นกำลังขับเคลื่อนของชีวิต ครอบคลุมทุกชีวิต ชุมชนสังคม รวมถึงสังคมโลกด้วย

ตามมาด้วย อนาคตพลังงานไกลๆ ถ่านหิน น้ำมันจะมีการใช้ลดลง เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อม และคำว่า BEYOND หมายถึงว่า เริ่มออกไปทำธุรกิจที่นอกเหนือจากพลังงานมากขึ้น อย่างเช่น ธุรกิจยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหารเสริม และรถยนต์EV

เมื่อประเมินการลงทุนในอนาคตของกลุ่มปตท. อรรถพล ระบุว่า ส่วนใหญ่ลงทุนเสริมโครงสร้างพื้นฐานในช่วง 5 ปี รวมการลงทุน 860,000 ล้านบาท ยังมีอีกคือเงินเตรียมสำหรับการลงทุนในกิจการอื่น ๆ 700,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นกว่า 1.8 ล้านล้านที่พร้อมลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมกับวางเป้าหมายว่า ในปี 2030 ธุรกิจใหม่ ๆ ของปตท.จะทำรายได้เพิ่มกว่า 30%

โดยการทำธุรกิจจะยึดถือความสำคัญที่ว่า ประชาชน ผู้บริโภคทำให้ธุรกิจของปตท.เดินหน้าได้ ฉะนั้นการทำธุรกิจจะพร้อมเดินอย่างคู่ขนานในการช่วยเหลือสังคม หากคนอยู่ไม่ได้ ธุรกิจก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน