อาคม เปิดภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจไทย ใช้นโยบายการเงินการคลังนอกตำรากู้วิกฤต

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง

“อาคม” เปิดภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจไทย ยันสิ้นปีฉีดวัคซีนคลุม 70% ประชากร ชี้ขยายเพดานหนี้-กู้เพิ่มดันหนี้สาธารณะแตะ 62% เพื่อดูแลผลกระทบโควิด ระบุช่วงวิกฤตนโยบายการเงินต้องสอดคล้องการคลัง แนะใช้เศรษฐศาสตร์ “นอกตำรา” รับมือวิกฤต

วันที่ 29 กันยายน 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา “ธุรกิจ-สังคม สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด” จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ว่า ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจในปี 2564 จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวได้ 2% เหลือ 1% ต่ำกว่าคาดการณ์เยอะมาก เนื่องจากความยืดเยื้อของสถานการณ์โควิด

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็เริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์แล้ว โดยคาดว่าช่วงเดือนธ.ค.64 ประชาชนจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิดกว่า 70% และในช่วงสิ้นปีจะมีวัคซีนกว่า 178 ล้านโดส สำหรับฉีดให้ประชาชน และในปี 2565 จะสั่งวัคซีนเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันเป็นเข็ม 3 อีกประมาณ 120 ล้านโดส

นอกจากนี้ เวิลด์แบงก์ก็เห็นด้วยว่าเมื่อวิกฤตโควิดลากยาว รัฐต้องใช้เงินช่วยประชาชน ทุกประเทศทั่วโลกก็มีการใช้เงินเพิ่มขึ้น โดยกระทรวงการคลังได้ทำงบประมาณขาดดุล และกู้เพิ่ม เพื่อดูแลปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่ม แต่จะเป็นเพียงระยะสั้นๆ ประมาณ 2-3 ปี โดยเงินที่กู้มานั้นนำมาใช้เยียวยาประชาชน โดยในปี 2563 กู้เงินมาเพื่อแก้ปัญหาโควิด 1 ล้านล้านบาท ผ่านพ.ร.ก.กู้เงิน และในปีนี้ได้ออกพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท รวมเป็นยอดเงินที่จะต้องกู้กว่า 1.5 ล้านล้านบาท จึงทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น

“ยอดหนี้ และสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น เพราะจีดีพีไม่ขยาย โดยในปี 2563 รายได้ของประเทศลดลง จีดีพีติดลบ และในปี 2564 ทุกคนก็คาดการณ์ว่ารายได้ของประเทศจะไม่เป็นไปตามคาด เพราะการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น ซึ่งมีผลต่อจีดีพีกว่า 12% ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะเป็นบวกก็เพราะการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี ซึ่งสัดส่วนหนี้เมื่อจีดีพีไม่ขยาย หรือขยายช้านั้น สัดส่วนก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าปี 2565 เศรษฐกิจขยายตัว 4-5% แต่หลายฝ่ายก็คาดว่าโต 3-4% ก็น่าจะทำให้สัดส่วนหนี้ค่อยๆ ฟื้น”

นายอาคม กล่าวว่า การบริหารเศรษฐกิจระดับมหภาค นโยบายการเงินและการคลังจะต้องประสานกัน โดยหากกู้เงินในช่วงภาวะปกติ 1 ล้านล้านบาท มาใช้จ่ายในช่วงที่ไม่เป็นประโยชน์ นโยบายการเงินก็จะออกมารักษาเสถียรภาพทางการเงิน แต่ช่วงนี้รัฐกู้เงินเพื่อดูแลเศรษฐกิจ นโยบายทางการเงินจึงต้องผ่อนคลาย

“ช่วงเวลานี้การกู้เงินของเราเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ นโยบายการเงินก็ต้องผ่อนคลาย บางท่านก็บอกว่าต้องทำนโยบายนอกตำรา ตำราเศรษฐศาสตร์ที่เรียนมาอาจจะพักไว้สักพัก เวลานี้ประชาชนเดือดร้อน ทั้งการเงินและการคลังรัฐบาลใช้ทั้งหมด” นายอาคมกล่าว

ขณะที่ภูมิคุ้มกันเมื่อมีการใช้จ่าย กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงติดตามเรื่องเสถียรภาพความมั่นคง ซึ่งคลังจะดูการใช้จ่ายของประเทศ โดยเฉพาะรายได้ ซึ่งในการจัดเก็บรายได้ ต้องเพียงพอในการใช้จ่าย เช่น การใช้จ่ายเงินเดือนข้าราชการ เงินลงทุน และเม็ดเงินในการชำระหนี้ เป็นต้น

โดยกฎหมายการเงินการคลัง มีการระบุงบในแต่ละปีชัดเจน เพื่อการลงทุน 20% ของงบประมาณรายจ่ายมากกว่างบประมาณขาดดุล ส่วนรายได้ เพื่อให้มีความเสถียรภาพมากต้องปิดการขาดดุลให้ลดน้อยลง ซึ่งคลังต้องดูแลรายรับรายจ่ายของแผ่นดิน จึงต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ โดยเวิลด์แบงก์ และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็พูดถึงเรื่องดังกล่าว ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมจะต้องมีการปฏิรูป

“ปีงบ 2565 ตั้งแผนบริหารหนี้ โดยตั้งงบขาดดุล 7 แสนล้านบาท ซึ่งหมายความว่ารายจ่ายต้องมากกว่า 7 แสนล้านบาท ซึ่งยอมรับว่าเป็นเพราะผลของโควิด ในส่วนการจัดเก็บรายได้ โดยเฉพาะภาษี และรัฐวิสาหกิจ เป็นข้อจำกัดในการจัดเก็บรายได้ แต่เราก็จำเป็นที่ต้องมีการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และอำนวยความสะดวกประชาชนมากขึ้น เช่น กรณีที่เกิดวิกฤต ถ้ามีการขยายฐานภาษีก็จะทำให้สะดวก สามารถช่วยผู้เสียภาษีได้โดยตรง ขณะเดียวกันส่วนของเอสเอ็มอียังไม่ได้อยู่ในระบบ การช่วยเหลือจึงอาจเป็นการลงทะเบียน เป็นต้น”

ทั้งนี้ สำหรับการปรับเพดานหนี้สาธารณะ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อเปิดช่องว่างในการใช้เงินในอนาคต หากมีความจำเป็น ส่วนการกู้เงินในภาวะปกติ เมื่อวันที่ 28 ก.ย.64 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติแผนการก่อหนี้ ปีงบประมาณ 2565 ซึ่งเป็นการเปิดกรอบไว้กรณีที่มีความจำเป็น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการก่อหนี้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ขณะที่ภูมิคุ้มกันที่ช่วยไม่ให้รัฐก่อหนี้ ได้แก่ 1. หนี้สาธารณะจะต้องไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี โดยแผนการก่อหนี้ใหม่ปลายปีงบประมาณ 2565 หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ระดับ 62% ซึ่งยังอยู่ในกรอบที่อยู่ในกรอบขยายเพดานหนี้เป็น 70% ซึ่งเป็นกรอบที่เปิดไว้เพื่อใช้ในยามจำเป็น

2. ภาระหนี้ของรัฐต่อรายได้ประจำปี กฎหมายระบุว่าต้องไม่เกิน 35% ขณะนี้อยู่ที่ระดับ 31% 3. หนี้สาธาณะเป็นเงินตราต่างประเทศต้องไม่เกิน 10% ขณะนี้อยู่ที่ 1.4% ถือว่ายังอยู่ระดับต่ำ ส่วนใหญ่ใช้สภาพคล่องในประเทศเป็นหลัก แต่อนาคตหากมีความจำเป็นก็จะมีการพิจารณา และ 4. หนี้สาธารณะเงินตราต่างประเทศต่อรายได้ส่งออก กำหนดเพดานไม่เกิน 5% ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.06%

นายอาคม กล่าวว่า หากถามว่าภูมิคุ้มกันของเศรษฐกิจไทยขณะนี้เพียงพอหรือยัง ซึ่งคงต้องทำความคุ้นเคยและอยู่กับโควิดไปอีกนาน โดยมี 3 เรื่องที่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่ม คือ 1.ด้านดิจิทัล นโยบายดิจิทัลอีโคโนมี อย่างช่วงโควิดรัฐก็ใช้แอปพลิเคชั่นในการดูแลประชาชน ซึ่งมีระบบสามารถตรวจสอบได้ 2. การดูแลด้านสิ่งแวดล้อม สภาวะภูมิอากาศ ลดการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า มีเป้าหมายในปี 2573 และ 3.นโยบายชีวภาพและการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม