แอสตร้าเซนเนก้า ย้ำพยายามสุดความสามารถ ส่งมอบวัคซีนให้คนไทย

เป้าหมายของแอสตร้าเซนเนก้าคือ การทำให้คนไทยและคนทั่วโลกเข้าถึงวัคซีนได้มากที่สุด จึงมีแหล่งการผลิตกระจายไปทั่วโลก 25 แห่ง ที่มีมาตรฐานเดียวกัน

วันที่ 29 กันยายน 2564 มร.เจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงานสัมมนา “ธุรกิจ-สังคม สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด” จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วง 6-8 เดือนที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับแอสตร้าเซนเนก้าออกมาพูดทางสื่อมากมาย แต่ไม่ได้ออกมาพูด เพราะเป็นช่วงที่ให้เวลาทำเรื่องที่สำคัญลำดับต้น ๆ คือ การทำให้ทุกคนในประเทศไทยได้รับวัคซีน การเร่งผลิตวัคซีนที่มีคุณภาพให้ได้จำนวนมากที่สุด การสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการทำให้แน่ใจว่าซัพพลายเชนในไทยจะสามารถผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และใช้งานได้จริง นอกจากนั้น ต้องการสื่อสารให้ประชาชนไทยรู้จักแอสตร้าเซนเนก้ามากขึ้น เนื่องจากเราก่อตั้งบริษัทในประเทศไทยมาแล้วกว่า 40 ปี ตั้งแต่ปี 2524

ถามว่าสถานการณ์ต่อจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร การกลับไปใช้ชีวิตเหมือนก่อนการเกิดโควิด-19 เช่น ไม่ใส่หน้ากาก หรือไม่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคมทำได้หรือเปล่า เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยากในตอนนี้ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา คล้ายกับเชื้อไวรัสที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่น ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) ซึ่งโควิด-19 จะมาเป็นส่วนหนึ่งในสังคม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การได้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุด จะช่วยป้องกันแก้ไขปัญหาทำให้การแพร่กระจายของเชื้อช้าลง และลดการเจ็บป่วยรุนแรงจนถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

“ยืนยันได้ว่าแอสตร้าเซนเนก้ามีความมุ่งมั่นในการผลิตวัคซีน เพื่อการช่วยคนทั่วโลก ซึ่งที่ผ่านมาเราได้กระจายส่งวัคซีนไปแล้วกว่า 1.3 พันล้านโดส ใน 170 ประเทศทั่วโลก มีส่วนช่วยลดสัดส่วนการเจ็บป่วยรุนแรงถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 100 คนต่อ 1,000 คน ขณะเดียวกันก็ลดสัดส่วนการเสียชีวิต 10 คน ต่อ 1,000 คน”

มร.เจมส์ ทีก กล่าวด้วยว่า เป้าหมายของแอสตร้าเซนเนก้าคือ การทำให้คนทั่วโลกเข้าถึงวัคซีนมากที่สุด ซึ่งการจะทำให้ได้แบบนั้นต้องมีแหล่งการผลิตกระจายไปทั่วโลก โดยตอนนี้แอสตร้าเซนเนก้ามีโรงงานในความร่วมมือกว่า 25 แห่งทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยที่เลือกภาคธุรกิจไทยโดยร่วมมือกับบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCG) และบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด (Siam Bioscience) ที่พยายามอย่างมากที่จะทำซัพพลายเชนที่ไทยให้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้น

“แนวทางในการเจรจาช่วงเริ่มต้น ทางไทยติดต่อเราให้ส่งมอบวัคซีนทั้งหมด 61 ล้านโดส และปีนี้เราจัดส่งวัคซีนให้ได้แล้ว 24 ล้านโดส โดยแอสตร้าเซนเนก้าได้ทำตามคำมั่นที่ให้ไว้มาตลอด จากที่บอกไว้ว่าจะทำการส่งมอบครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2564 ก็ทำได้ตามนั้น และจากนั้นก็ส่งเดือนละ 3 ล้านโดส เพิ่มมาเป็น 5-6 ล้านโดส ขณะที่เดือนกันยายนนี้ เราส่งมอบวัคซีนให้เพิ่มมากถึง 8 ล้านโดส”

นอกจากนั้นในเบื้องต้นได้มีการตกลงกับกระทรวงสาธารณสุข และสยามไบโอไซเอนซ์ไว้ว่า จะกระจายวัคซีนไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคด้วย โดยในไทยจะได้สัดส่วนวัคซีน 30% ของจำนวนวัคซีนที่ผลิตได้ ที่เหลือจะส่งไปให้ประเทศเพื่อนบ้าน เพราะโควิด-19 เป็นวิกฤตระดับโลกที่ไม่สามารถต่อสู้ได้เพียงลำพัง แต่ต้องพาประเทศโดยรอบ ๆ ให้ปลอดภัยไปด้วยกัน ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจของประเทศไทยในการเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับประเด็นเรื่องคุณภาพของวัคซีน มร.เจมส์ ทีก ยืนยันว่า วีคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นคุณภาพเดียวกันทั่วโลก เพราะบริษัทไม่มีทางเอาชีวิตของผู้คนมาเสี่ยง ฐานการผลิตทั้งหมด 25 แห่งอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน และกว่าที่จะผลิตวัคซีนออกมา ต้องมีการทำตามขั้นตอนเอกสารสำคัญมากมายกว่า 60 ชุด จำนวนกว่า 1,000 หน้าที่ต้องรีวิว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อความล่าช้า แต่ต้องยอมรับว่าขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้ไม่สามารถละเลยได้ และบริษัททำตามอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ ตอนนี้วัคซีนของเราที่ผลิตในไทยผ่านการรับรองจากประเทศออสเตรเลียแล้ว และกำลังดำเนินการให้ผ่านการรับรองจาก WHO ด้วย