หมอธนาธิป ชี้โควิดจุดเปลี่ยนธุรกิจเฮลท์แคร์ประเทศไทยทุกมิติ

“หมอธนาธิป ศุภประดิษฐ์” ซีอีโอ THG ชี้โควิดจุดเปลี่ยนเฮลท์แคร์ไทย แนะทางรอดสร้างภูมิคุ้มกันประชาชน-องค์กร เร่งปูพรมวัคซีนทั่วถึงฟื้นความเชื่อมั่น-เพิ่มขีดศักยภาพการแข่งขันธุรกิจ งัดบริการใหม่ ดิจิทัล ตอบโจทย์โลกยุคโพสต์โควิด แนะทุกภาคส่วนสร้างพื้นที่ปลอดภัย จับกลุ่มผู้เปราะบางการแพทย์เพื่อการฟื้นฟู ทาร์เก็ตใหญ่เมดิคอลทัวริซึ่มหวังดันเป้าเมดิคอลฮับ

วันที่ 29 กันยายน 2564 นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เชนโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ เปิดเผยในงานสัมมนาออนไลน์ “ธุรกิจ-สังคม สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด” ว่า ที่ผ่านมาสถานการณ์โควิดเข้ามาเป็นจุดเปลี่ยนธุรกิจเฮลท์แคร์ในประเทศไทยในหลายมิติ ทั้งในแง่การบริการที่ต้องเน้นไปทางดิจิทัล

ตลอดจนการขยายศักยภาพระบบสาธารณสุขหลายเท่าตัว ดึงบุคลากรวิชาชีพอื่น เช่น สจ็วต แอร์โฮสเตส แพทย์พยาบาลจากคลินิกความงาม ที่ได้รับผลกระทบเข้ามาช่วยทำงานใน รพ.สนาม รับผู้ป่วยโควิดโดยเฉพาะ

โดยในส่วนของ THG ได้เปิด รพ.สนาม ร่วม 3 แห่ง ได้แก่ รพ.สนาม มทบ.11 จำนวน 494 เตียง, รพ.ราชพิพัฒน์ 2 จำนวน 168 เตียง และ รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน จำนวน 177 เตียง และฮอสพิเทลอีก 10 แห่ง รวมทั้งสิ้นกว่า 4,000 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว เหลือง และแดง

“โควิดผลักดันให้ต้องคิดเร็วขึ้นอย่าง รพ.สนาม หรือไอซียูสนาม ใช้เวลาทำและคิดเพียงนิดเดียวเพียง 10 วัน สิ่งสำคัญคือเวลา หากเราช้าแม้วันเดียวเท่ากับคนไทยต้องตายไป 300 คน แต่หากทำเร็วสามารถเซฟงบประมาณได้มหาศาล และช่วยรักษาชีวิตคนได้อีก”

สำหรับทางรอดประเทศไทย หลัก ๆ จะต้องเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทั้งในแง่ประชาชน คือคนไทยต้องเข้าถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้เร็วที่สุด ฟื้นความเชื่อมั่นภายในประเทศ ส่วนองค์กรเพิ่มขีดความสามารถเพื่อแข่งขันต่อให้ได้ในสภาวะที่เศรษฐกิจจะตกต่ำไปอีก 3-4 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการคาดการณ์กันว่าโควิดจะทำให้ GDP โลกหายไปกว่า 10%

โดยอาจจะต้องดึงบริการใหม่ ๆ หรือการดึงดิจิทัลแพลตฟอร์มมาใช้ อย่างธุรกิจ รพ. จะต้องรีเซ็ตระบบใหม่ นำดิจิทัลสร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้ป่วยมากกว่าเดิม เพื่อตอบโจทย์ความกังวลผู้ไม่อยากมา รพ. หรือไม่ต้องการใช้เวลาใน รพ.นาน โดยลดขั้นตอนบางประการเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงหมอได้ง่ายขึ้น ภายใต้ความปลอดภัยที่สูงขึ้น

เมื่อถามถึงประเด็นการปั้นไทยเป็นเมดิคอลฮับ นพ.ธนาธิป กล่าวว่า เบื้องต้นยังมีความเป็นไปได้ โดยปกติการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในไทยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยวแบบเบิร์นพลัง ส่วนใหญ่มักเป็นวัยหนุ่มสาว และกลุ่มที่เข้ามาเพื่อรักษาโรคยากเฉพาะทาง เช่น มะเร็ง หัวใจ เป็นต้น

ทั้งนี้ สิ่งที่ประเทศไทยยังขาดคือพื้นที่เพื่อผู้ที่อยู่ช่องว่างตรงกลางระหว่าง 2 กลุ่มข้างต้น หรือกลุ่มเติมพลัง ส่วนมากเป็นผู้เปราะบางทางร่างกาย อาทิ ผู้สูงอายุ แต่ต้องการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยเพื่อฟื้นฟูสุขภาพบางประการ

“ตอนนี้อาจเป็นช่วงรีเซ็ตธุรกิจบริการทางการแพทย์ อนาคตไทยอาจจะไปยืนอยู่ที่เลเวลใหม่ก็ได้ เมดิคอลทัวริซึ่ม กลุ่มหนัก ๆ บินมารักษาโรคเฉพาะทางยังมีอยู่ กลุ่มเบิร์นพลัง ชอบการผจญภัยอาจลดน้อยลงหน่อย ยุคโพสต์โควิด หากร่วมมือกันในหลายภาคส่วนทำพื้นที่สำหรับเจาะกลุ่มเติมพลัง เชื่อว่าจะเป็นทาร์เก็ตใหม่ขนาดใหญ่ของเมดิคอลทัวริซึ่มในไทยได้”