ฟาสต์ รีเทลลิ่ง ประกาศแผนความยั่งยืน 2030

ฟาสต์ รีเทลลิ่ง กรุ๊ป (Fast Retailing Group) บริษัทโฮลดิ้งด้านการค้าปลีกเสื้อผ้าชั้นนำของญี่ปุ่น โดยมี “ยูนิโคล่” (Uniqlo) เป็นหนึ่งในแบรนด์ใหญ่ที่สุดของเครือ ได้กำหนดเป้าหมายภายในปีงบประมาณ 2030 และแผนปฏิบัติการสำหรับพัฒนาความยั่งยืนหลากหลายรูปแบบ ภายใต้แนวคิดไลฟ์แวร์ (LifeWear) โดยจะเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่รูปแบบธุรกิจใหม่ ที่ครอบคลุมทั้งความยั่งยืนและการเติบโตของธุรกิจ

“โคจิ ยาไน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสของฟาสต์ รีเทลลิ่ง กล่าวว่า LifeWear เป็นเป้าหมายการทำเสื้อผ้าที่ในชีวิตประจำวันที่ออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น เป็นเครื่องแต่งกายที่ไม่เพียงแต่เน้นคุณภาพ การออกแบบ และราคา แต่ยังตรงตามคำจำกัดความของเสื้อผ้าที่ดี เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม ผู้คน และสังคม

“เรากำหนดเป้าหมายภายในปีงบประมาณ 2030 ภายใต้แนวคิด LifeWear ร่วมกับการดำเนินธุรกิจตามวัตถุประสงค์ของโครงการ Ariake ซึ่งเป็นการนำปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence : AI) และ big data เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า เพื่อการออกแบบความเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ เพื่อผลิต

และขายเฉพาะเครื่องแต่งกายที่ลูกค้าต้องการอย่างแท้จริง ตลอดจนพัฒนาระบบโซ่อุปทาน (supply chain) เพื่อเป็นเบอร์ 1 บริษัทค้าปลีกเสื้อผ้าที่ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าด้วยความไว้วางใจ เพราะมีขั้นตอนการผลิตจนถึงมือผู้บริโภคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด”

“โดยเป้าหมาย และแผนปฏิบัติการด้านความยั่งยืนในปีงบประมาณ 2030 มี 7 ด้าน ประกอบด้วย หนึ่ง การผลิตเสื้อผ้าที่ดีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป้าหมายนี้ได้รับการอนุมัติโดย Science-Based Targets by the SBT initiative (SBTi)

ที่สอดคล้องกับข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) บนพื้นฐานทาง climate science ซึ่งมีเป้าหมายในการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและโลก”

โคจิ ยาไน

“โคจิ ยาไน” กล่าวต่อว่า ฟาสต์ รีเทลลิ่ง ยังเน้นย้ำถึงความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การผลิต การขนส่ง และการขาย การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดของเสียอย่างรวดเร็ว ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของหน้าร้าน และสำนักงาน 90% ภายในปีงบประมาณ 2030

เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2019 และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 เพื่อสร้างกระบวนการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง

“นอกจากนั้น ยังลดการใช้ไฟฟ้าที่หน้าร้านผ่านโครงการประหยัดพลังงานต่าง ๆ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะประหยัดได้ประมาณ 40% ที่หน้าร้านโรดไซด์ และลดลง 20% สำหรับร้านค้าในห้าง ทั้งนี้ ภายในปีงบประมาณ 2021 ร้านยูนิโคล่ จำนวน 8 ร้านในญี่ปุ่นได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ระดับ Gold

ซึ่งเป็นระบบการประเมินอาคารสีเขียวที่ใช้อย่างแพร่หลายที่สุดในโลก รวมถึงการพัฒนารูปแบบร้านค้าแบบใหม่ที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ”

ทั้งยังมีการเปลี่ยนการใช้ไฟฟ้าในร้านค้าของฟาสต์ รีเทลลิ่ง และสำนักงานใหญ่ทั่วโลกมาใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนภายในปีงบประมาณ 2030

“โคจิ ยาไน” กล่าวว่า แผนปฏิบัติการด้านความยั่งยืน ด้านที่สองจะเกี่ยวกับการรีไซเคิล และลดขยะ ด้วยการเพิ่มสัดส่วนประมาณ 50% ของวัสดุที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ของยูนิโคล่เป็นวัสดุรีไซเคิล โดยนับตั้งแต่ปี 2019 ยูนิโคล่เริ่มนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล

และคอลเล็กชั่น spring และ summer 2022 จะมีเส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่ถูกรีไซเคิลจากขวดพลาสติก PET ประมาณ 15% นอกจากนั้น ยูนิโคล่ยังเดินหน้านำเสนอวัสดุอื่น ๆ ที่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง อาทิ เส้นใยสังเคราะห์อย่างเรยอนและไนลอน

“รวมถึงพัฒนาโครงการลดขยะ โดยหันมาใช้แนวคิดขยะเป็นศูนย์ (zero waste) ตั้งแต่ต้นกระบวนการ ด้วยการลดการใช้งาน การเปลี่ยนวัสดุ การนำมาใช้ใหม่ และการใช้วัสดุรีไซเคิลในกระบวนการส่งมอบเสื้อผ้าให้แก่ลูกค้า โดยในเดือนกรกฎาคม 2019 ฟาสต์ รีเทลลิ่ง

กำหนดนโยบายสำหรับบริษัทในเครือทั้งหมดให้เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวโดยไม่จำเป็น โดยเดือนกันยายน 2019 ถุงช็อปปิ้งพลาสติกถูกเปลี่ยนเป็นถุงกระดาษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเริ่มคิดค่าใช้จ่ายสำหรับถุงกระดาษที่ร้านในญี่ปุ่น ส่งผลให้ลูกค้ากว่า 70% ปฏิเสธไม่รับถุงช็อปปิ้ง”

“นอกจากนั้น ยังริเริ่มโครงการในการเก็บราวแขนเสื้อผ้า บรรจุภัณฑ์ กล่องสำหรับการขนส่ง ฯลฯ จากร้านและนำกลับไปให้โรงงานเพื่อการนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งนี้ บริษัทยังเปิดตัวพื้นที่เพื่อทดสอบความเป็นไปได้ (proof-of-concept) สำหรับการแยก เก็บ และดำเนินการรีไซเคิลในร้านยูนิโคล่ และ GU บางแห่งด้วย

สาม การผลิตเสื้อผ้าที่ดีต่อผู้คนและสังคม โดยเป็นเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้ในระยะยาว ขณะเดียวกัน ฟาสต์ รีเทลลิ่ง ยังพัฒนาสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่สามารถปกป้องสุขภาพ ความปลอดภัย และสิทธิมนุษยชาติ รวมถึงพนักงานของบริษัทและผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการทั้งหมดทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก”

สี่ สร้างความโปร่งใส และการติดตามกลับในกระบวนการผลิต โดยตั้งแต่ปี 2017 ฟาสต์ รีเทลลิ่ง ตีพิมพ์รายชื่อโรงงานคู่ค้าด้านการผลิต และปี 2018 รายชื่อดังกล่าวรวมถึงโรงงานทอผ้าถูกเผยแพร่เพื่อความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบวัตถุดิบได้ นอกจากนี้ ภายในเดือนมีนาคม 2022 บริษัทวางยังแผนที่จะตีพิมพ์รายชื่อโรงงานคู่ค้าทั้งหมดของบริษัทด้วย เพราะบริษัทมุ่งสร้างการติดตามได้ตลอดกระบวนการผลิต ตั้งแต่การทอผ้าและวัตถุดิบ

“โคจิ ยาไน” กล่าวต่อว่า ที่สำคัญ บริษัทสร้างทีมระดับโลก ประกอบด้วยพนักงาน 100 คน ในการเริ่มดำเนินการต่าง ๆ นับตั้งแต่การเฟ้นหาวัสดุ บริษัทดำเนินการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด เพื่อตรวจสอบความเสี่ยงต่าง ๆ ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น รวมทั้งมีการตรวจสอบโดยองค์กรในฐานะบุคคลที่สาม และการรับรองมาตรฐานจากบุคคลที่สาม โดยบริษัทประเมิน และแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมในการทำงานต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มมีปัญหา

ห้า การจัดซื้อวัตถุดิบอย่างมีจริยธรรมและความรับผิดชอบ โดยจัดทำนโยบายการจัดซื้อสำหรับวัสดุที่ทำจากพืชและสัตว์ต่าง ๆ ให้มีจริยธรรม

หก ส่งเสริมโครงการด้านสังคมทั่วโลก ผ่านการขยายกิจกรรมด้านสังคมระดับโลกผ่านการประกอบธุรกิจเสื้อผ้า โดยบริษัทร่วมมือกับ Fast Retailing Foundation และ Yanai Tadashi Foundation ในการขยายกิจกรรม

ซึ่งภายในปี 2025 ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จะสนับสนุนงบประมาณด้านกิจกรรมเพื่อสังคมเพิ่มกว่า 10 พันล้านเยน โดยจะดำเนินงานผ่านกิจกรรมระดับภูมิภาค เพื่อสนับสนุนผู้คนกว่า 10 ล้านคน รวมถึงผู้ลี้ภัยและกลุ่มที่มีความเปราะบาง บริษัทยังต้องการบริจาคเสื้อผ้าเป็นจำนวน 10 ล้านชิ้นต่อปี ภายในปี 2025

เจ็ด ดำเนินการด้านความหลากหลาย และการยอมรับความแตกต่าง โดยเน้นการเคารพความแตกต่างและหลากหลายของพนักงาน สร้างที่ทำงานที่พนักงานสามารถใช้ความสามารถได้อย่างเต็มที่ และส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ ทั้งจะเพิ่มให้มีผู้บริหารผู้หญิงสูงถึง 50% ของจำนวนผู้บริหารทั้งหมดภายในปีงบประมาณ 2030

รวมทั้งเน้นการสร้างความสามารถให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อบ่มเพาะผู้นำและผู้บริหารรุ่นใหม่ นอกจากนั้น จะจ้างงานคนพิการเพิ่มขึ้น และออกแบบร้านค้าให้เหมาะสมกับความหลากหลายและขยายผลิตภัณฑ์และบริการที่ส่งเสริมความสะดวกสบายให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม และเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อกลุ่ม LGBTQ+ ในหมู่พนักงานและลูกค้าด้วย

เพราะฟาสต์ รีเทลลิ่ง กรุ๊ป มุ่งหน้าพัฒนาปรัชญา และดำเนินมาตรการเพื่อแสดงให้โลกเห็นถึงอนาคตของเสื้อว่ามีส่วนสนับสนุนให้เกิดสังคมที่ยั่งยืน ผ่านการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ LifeWear