วันแรงงานแห่งชาติ เปิด 9 เรื่องควรรู้ สรุปที่มา สถานะค่าจ้างคนไทย

เปิด 9 เรื่องต้องรู้ วันแรงงานแห่งชาติ พร้อมสำรวจสถานะแรงงานไทยปี 2564  

วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี ถือเป็นวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งในวันนี้ บรรดาพ่อแม่พี่น้องผู้ใช้แรงงานจะออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดมาตรการและนโยบายที่ช่วยทำให้ชีวิตคนหาเช้ากินค่ำดีขึ้น ซึ่งตามปกติ มักจะเห็นการเรียกร้องค่าแรงเป็นหลัก นอกจากนี้ วันที่ 1 พ.ค.จะถือเป็นวันหยุดของภาคเอกชนด้วย

“ประชาชาติธุรกิจ” สรุป 9 เรื่องสำคัญที่ควรรู้ในวันแรงงานแห่งชาตินี้

1. วันแรงงานสากล-ไทย เกิดขึ้นเมื่อไร-อย่างไร ?

  • วันแรงงานสากล

อ้างอิงจากเว็บไซต์ ศิลปวัฒนธรรม ระบุว่า วันแรงงานสากลเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1889 (พ.ศ. 2432) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยขบวนการแรงงานสากลที่ 2 (Second International, Socialist International) เป็นผู้กำหนด

ที่เอาวันดังกล่าวเป็นวันแรงงาน เพราะว่าเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์จลาจลเฮย์มาร์เก็ต (Haymarket Riot) ในชิคาโก สหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1886 โดยเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นการต่อสู้ของสหภาพแรงงานบริษัท แมคคอร์มิกฮาเวสติงแมชชีนคอมพานี (McCormick Harvesting Machine Company) ที่ต้องการให้กำหนดเพดานชั่วโมงทำงานที่วันละ 8 ชั่วโมง โดยผลจากเหตุการณ์จลาจลทำให้มีผู้เสียชีวิต 4-8 ราย เจ็บอีก 30-40 คน

ภาพวาดการปาระเบิดในเหตุจลาจลเฮย์มาร์เก็ต, Wikimedai Commons ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม
  • วันแรงงานแห่งชาติไทย

อ้างอิงจากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยศรีปทุม ระบุว่า ในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2499 คณะกรรมการการจัดงานที่ระลึกแรงงาน ได้จัดประชุมขึ้นพร้อมทั้งมีความเห็นตรงกันว่าควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันระลึกถึงแรงงานไทย

จึงได้มีหนังสือถึงจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ขอให้รับรองวันที่ 1 พฤษภาคม จนเป็นที่มาของวันกรรมกรแห่งชาติ และต่อมาก็ได้เปลี่ยนเป็นวันแรงงานแห่งชาติ  ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2500 ก็ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.กำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิ์หยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติด้วย

แต่ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวก็มีอายุเพียงแค่ 18 เดือนก็ถูกยกเลิกไป โดยมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 มาแทนที่ และมีการให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกำหนดเรื่องการคุ้มครองแรงงาน และกำหนดวันกรรมกรให้เป็นวันหยุดตามประเพณี แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ในขณะนั้นมีการผันแปรจึงมีคำชี้แจงออกมาในแต่ละปี เพื่อเตือนนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคม แต่ก็มีการขอร้องไม่ให้มีการเฉลิมฉลองเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2517 ได้เปิดให้มีการฉลองตามสมควร และมอบให้กรมแรงงานที่ขณะนั้นสังกัดกระทรวงมหาดไทยจัดงานฉลองวันแรงงานแห่งชาติขึ้นที่สวนลุมพินี โดยมีการทำบุญตักบาตร มีนิทรรศการแสดงความรู้ และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย

แต่เดิมนั้นการบริหารแรงงานอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย แต่รัฐบาลได้เล็งเห็นว่าควรจะมีการยกระดับหน่วยงานเพื่อให้มีงบประมาณและเจ้าหน้าที่สำหรับการดูแลผู้ใช้แรงงานอย่างพอเพียง

ในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 จึงได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้จัดตั้งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมขึ้นเพื่อให้การบริหารงานมีความก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ และมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

1. การจัดหางาน ด้วยการช่วยเหลือคนว่างงานให้มีงานทำ ช่วยเหลือนายจ้างให้ได้คนมีคุณภาพดีไปทำงาน รวบรวมเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับการทำงาน แหล่งงาน ภาวะตลาดแรงงาน
2. งานแนะแนวอาชีพ ให้คำปรึกษาแก่เยาวชนและผู้ประสงค์จะทำงาน เพื่อให้สามารถเลือกแนวทางประกอบอาชีพที่เหมาะสมตามความถนัด ความสามารถทางร่างกาย คุณสมบัติ บุคลิกภาพ และความเหมาะสมแก่ความต้องการทางเศรษฐกิจ
3. การพัฒนาแรงงาน ส่งเสริมพัฒนาฝีมือแก่คนงานและเยาวชนที่ไม่มีโอกาสศึกษาต่อโดยการฝึกแบบเร่งรัด
4. งานคุ้มครองแรงงาน วางหลักการและวิธีการเกี่ยวกับชั่วโมงทำงาน วันหยุดงาน ตลอดจนการจัดให้มีสวัสดิการต่าง ๆ
5. งานแรงงานสัมพันธ์ ทำการส่งเสริมและสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างให้ทั้งสองฝ่าย เข้าใจถึงลักษณะและสภาพของปัญหา ตลอดจนวิธีการที่เหมาะสมที่จะช่วยขจัดความเข้าใจผิดและข้อขัดแย้งอื่น ๆ

ส่วนด้านที่เกี่ยวกับกรรมกรก็ได้มีการจัดตั้งกลุ่มสหภาพแรงงานขึ้นหลายร้อยกลุ่ม และยังได้รวมตัวกันจัดตั้งสภาองค์การลูกจ้างขึ้น เพื่อทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิให้กับผู้ใช้แรงงาน มี 3 สภา ได้แก่

  1.  สภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย
  2. สภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย
  3. สภาองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย
คณะกรรมกรไทย พิมพ์หนังสือ “กรรมกรกำสรด” เนื่องในโอกาสบรรจุอัฐ์จอมพล ป. ภาพจากทวิตเตอร์ @somsakjeam112

 

3. วันแรงงานเป็นวันหยุดไหม?

วันแรงงานแห่งชาติ ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ ดังนั้น หน่วยงานราชการยังคงเปิดทำงานและให้บริการปกติในวันแรงงานแห่งชาติ ส่วนที่หยุดจะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานเอกชนเท่านั้น

ส่วนสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ รวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ถือเป็นวันหยุดเช่นกัน

ซึ่งปีนี้ วันแรงงานตรงกับวันอาทิตย์ ดังนั้น วันจันทร์ที่ 2 พ.ค.นี้ ถือเป็นวันหยุดชดเชยให้

4.สถานะประชากรแรงงานไทยปี 2564

ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานระบุว่า ในปี 2564

  • ประชากรวัยแรงงานอายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวน 57.09 ล้านคน
  • อยู่ในกำลังแรงงาน 38.7 ล้านคน
  • อยู่นอกกำลังแรงงาน 18.4 ล้านคน
ที่มา: กระทรวงแรงงาน

5.จำนวนแรงงานในปัจจุบัน

อ้างอิงจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ระบุว่า ไตรมาส 4 ปี 2564 การจ้างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 37.9 ล้านคน ขณะที่อัตราการมีงานทำปรับตัวดีขึ้น โดยเพิ่มขึ้นเป็น 98.1% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อนที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 98.0% และ 97.6%

ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ที่มา:  สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

6.จำนวนคนว่างงาน

จากชุดข้อมูลเดียวกัน ระบุว่า ไตรมาสที่ 4 ปี 2564 มีจำนวนผู้ว่างงาน 630,000 คน แบ่งเป็น

  • ผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 380,000 คน
  • ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 252,000 คน
ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

7.สถานะค่าจ้างขั้นต่ำ

ตามข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ระบุว่าในเดือน ม.ค. 2563 คณะกรรมการค่าจ้างได้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และ อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ดังนี้

  • ค่าจ้างขั้นต่่ำมากที่สุด 336 บาท/วัน ที่ ชลบุรี – ภูเก็ต
  • ค่าจ้างขั้นต่ำน้อยที่สุด 313 บาท/วัน ที่นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

8.สถานะค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ

คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดไว้ในช่วงเดือน ม.ค. 2563 เช่นเดียวกับค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนี้

  • มากที่สุด 680-990 บาท/วัน ได้แก่ สาขาภาคบริการอาชีพนักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม, สปาตะวันตก และโภชนบำบัด
  • น้อยที่สุด 245-550 บาท/วัน ได้แก่ กลุ่มช่างอุตสาหกรรมศิลป์ อาชีพ ช่างเย็บ
ที่มา: กระทรวงแรงงาน

9.แรงงานต่างด้าว

จากชุดข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ในปี 2564 มีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายมี 2,350,677 คน จำแนก ดังนี้

  • คนต่างด้าวมาตรา 59 ประเภททั่วไป  จำนวน 1,609,227 คน
  • คนต่างด้าวตามมาตรา 62 ประเภทส่งเสริมการลงทุน จำนวน 43,743 คน
  • คนต่างด้าวตามมาตรา 63 ประเภทชนกลุ่มน้อย จำนวน 291,755 คน
  • คนต่างด้าวตามมาตรา 64 คนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานบริเวณชายแดนในลักษณะไป-กลับ ไม่มี เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19
ที่มา: กระทรวงแรงงาน