คุ้มได้-คุ้มเสีย “กรณี 3 ขอ” ดึงเงินกองทุนชราภาพแสนล้านสู้วิกฤต

กองทุนชราภาพ

 

นับจากมติคณะรัฐมนตรี อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่…) พ.ศ. … เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 โดยปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพ ให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน (ขอเลือก ขอคืน และขอกู้) รวมทั้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีอื่น อาทิ เพิ่มเงินทดแทนกรณีขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ จากร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ทั้งยังเพิ่มจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร จากเดิม 90 วัน เป็น 98 วัน เป็นต้น

ที่สำคัญ ยังมีการแก้ไข ด้วยการขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้าง จากเดิม “อายุ 60 ปีบริบูรณ์” เป็น “อายุ 65 ปีบริบูรณ์”

ฉะนั้น เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดสำหรับการปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพ ให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน จึงแบ่งออกเป็น 3 กรณี คือ

หนึ่ง กรณีให้ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ สามารถเลือกรับเงินบำนาญชราภาพ หรือเงินบำเหน็จชราภาพ (ขอเลือก)

สอง กรณีให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนมาใช้ก่อนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ (ขอคืน)

สาม ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักค้ำประกันการกู้เงินกับธนาคาร หรือสถาบันการเงินได้ (ขอกู้)

ผลตรงนี้ จึงทำให้เกิดคำถามตามมามากมายว่า งานนี้ “คุ้มได้” หรือ “คุ้มเสีย” เพราะจากคาดการณ์ของสำนักงานประกันสังคมอธิบายว่า จะมีผู้ใช้สิทธินำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนประมาณ 5 ล้านคน ตกคนละ 30,000-50,000 บาท ขณะที่สำนักงานประกันสังคมจะต้องดำเนินการสำรองเงินจำนวนสูงถึง 150,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้กองทุนประกันสังคมสูญเสียรายได้จำนวน 6,750 ล้านบาท พร้อมทั้งเสียผลตอบแทนการลงทุนในอัตราร้อยละ 4.5 เป็นเวลา 1 ปี

ไม่นับรวมการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีอื่น ๆ ที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกประมาณ 1,300 ล้านบาท อาทิ ประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพ 500 ล้านบาท, ประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร 300 ล้านบาท และประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร 500 ล้านบาท

เบื้องต้น “ดร.บวรนันท์ ทองกัลยา” นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย หรือ PMAT เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพ 3 ขอ ได้แก่ 1.ขอเลือก :มีสิทธิเลือกรับเงินบำนาญชราภาพ หรือเงินบำเหน็จชราภาพ เมื่อนำส่งเงินสมทบครบเงื่อนไขการได้รับเงินบำนาญชราภาพแล้ว 2.ขอคืน : สามารถนำเงินกรณีชราภาพที่ตนสมทบอยู่ในกองทุนประกันสังคมออกมาใช้ก่อนบางส่วน และ 3 ขอกู้ : นำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงิน ล้วนมีข้อดี และข้อเสียทั้งสิ้น

“สำหรับข้อดี คือเป็นมาตรการเฉพาะกิจที่สามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้านรายได้ของคนทำงานในช่วงที่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 แต่ข้อเสีย คือความกังวลในระยะยาว ว่าต่อไปสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และจะส่งผลกระทบต่อการดูแลสุขภาพในระยะยาว คำถามจึงเกิดขึ้นว่า รัฐจะดูแลคนกลุ่มนี้ให้มีสวัสดิภาพที่ดีอย่างไร ในเมื่อมีการใช้เงินกองทุนมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจำนวนมาก ตรงนี้ไม่เพียงส่งผลให้เงินกองทุนลดลง ยังทำให้สิทธิประโยชน์น้อยลงด้วยหรือไม่”

ทั้งนี้ สิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทย โดยเฉพาะผู้สูงวัย ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยยังชีพ หรือบัตรสวัสดิการต่าง ๆ ภาครัฐยังให้ในอัตราค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะเบี้ยผู้สูงอายุ อยู่ในระดับต่ำเพียง 600-1,000 บาทต่อคนต่อเดือนเท่านั้น ฉะนั้น หากเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนเลือกใช้สิทธิประโยชน์ 3 ขอ จึงทำให้อดมองไม่ได้ว่าระยะยาว ภาครัฐจะดูแลคนกลุ่มนี้อย่างไร ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

“ผมมองว่าภาครัฐคงต้องหาทางเพิ่มอัตราการจ่ายเงินให้ผู้สูงอายุมากขึ้นในอนาคต ที่สำคัญ ภาครัฐต้องเปลี่ยนมุมมองเรื่องการทำงานสำหรับผู้สูงอายุด้วย ว่าทำอย่างไรจึงจะให้มีการจ้างงานถึง 65-70 ปี เพื่อสร้างประโยชน์และคุณค่าให้แรงงานสูงวัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นตามสภาพคนสูงวัย หรือการจ้างการทำงานระยะสั้น วันละ 3-4 ชั่วโมง รวมทั้งการรับงานไปทำเป็นรายชิ้น เป็นต้น”

“เพราะสิทธิ 3 ขอ โดยเฉพาะในส่วนของขอคืน ที่จะนำเงินบางส่วนออกมาใช้ก่อนประมาณ 30% หรือประมาณ 30,000-50,000 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ผมมองว่าคงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ระยะยาว ผู้ประกันตนคงต้องกลับมาเป็นหนี้อีก เพราะดั่งที่ทุกคนทราบ ตอนนี้เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจประเทศไทย เงินเฟ้อ น้ำมัน และต้นทุนค่าใช้จ่ายล้วนเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การที่ผู้ประกันตนนำเงินตรงนี้ออกมาใช้ก่อน จึงเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด และดูจะเป็นเรื่องคุ้มเสียมากกว่า”

ขณะที่ “แกรม บัคเลย์” ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวว่า การปฏิรูประบบประกันสังคมเป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่แนะนำให้มีการสร้าง หรือเพิ่มระบบใหม่เข้ามา เนื่องจากระบบที่สร้างขึ้นมาใหม่จะดึงทรัพยากรจากระบบต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิมมาใช้ และต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 30 ปี กว่าผู้ประกันตนในโครงการ หรือระบบใหม่จะสะสมเงินให้ได้สิทธิประโยชน์ที่เพียงพอ

“การเรียกร้องให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกรับเงินบำเหน็จก่อนกำหนด โดยไม่รอรับเงินบำนาญ หรือการให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิประโยชน์เป็นหลักประกันเงินกู้เพื่อแก้ปัญหาทางการเงินที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด-19 จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรได้รับการอนุมัติอย่างยิ่ง เพราะผู้รับประโยชน์ส่วนใหญ่จะใช้เงินบำเหน็จของตนทั้งหมดภายใน 5-10 ปีแรก และหลังจากนั้นต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพิ่มเติม ตรงนี้ก็จะกลับมาสร้างปัญหาใหญ่หลวงมากต่อผู้ประกันตน ต่อระบบ และต่อประเทศชาติ โดยรวมอีกครั้ง”

ฉะนั้น จึงต้องขอให้ “ผู้ประกันตน” พิจารณาเรื่องนี้กันให้ดี ๆ พยายามศึกษาให้รอบด้าน เพราะยังมีเวลาตัดสินใจอีกยาวนาน