เที่ยวพระนครย้อนอดีต สมัยรัชกาล 5-รัชกาล 6 ใน 1 วัน

หอวชิราวุธานุสรณ์

เที่ยวพระนครตะลอนสยามอารยะ เชื่อมโยงอดีตสมัย ร.5-ร.6 ผ่านการชมสถานที่ทางประวัติศาสตร์ในกรุงเทพมหานคร ใน 1 วัน

วันที่ 22 กันยายน 2565 ดีไลฟ์ ประชาชาติธุรกิจ พาทุกคนร่วมสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวในกรุงเทพมหานคร เพื่อย้อนเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศให้เป็นอารยะในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องถึงรัชกาลที่ 6

หอวชิราวุธานุสรณ์ เทิดพระเกียรติ ร.6

เริ่มต้นทริปด้วยสถานที่แรก หอวชิราวุธานุสรณ์ ก่อตั้งโดยหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ซึ่งเป็นผู้รับใช้รัชกาลที่ 6 เนื่องจากเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาองค์เดียวของรัชกาลที่ 6 มีดำริว่าการสร้างแต่อนุสาวรีย์นั้นไม่เพียงพอ จึงสร้างหอวชิราวุธานุสรณ์ขึ้นในบริเวณหอสมุดแห่งชาติเพื่อเทิดพระเกียรติและเป็นที่ค้นคว้าหาความรู้ของประชาชน

หอวชิราวุธานุสรณ์

โดยโถงชั้นแรกของหอวชิราวุธานุสรณ์เป็นห้องอัศวพาหุ ประดิษฐานพระบรมรูปหุ่นฉลองพระองค์เครื่องทรงมหาพิชัยยุทธ ซึ่งเชื่อมโยงกับเหตุการณ์สำคัญที่รัชกาลที่ 6 นำพาสยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 และอยู่ฝ่ายที่ชนะ ทำให้ประเทศไทยยังคงอยู่มาถึงทุกวันนี้

ขึ้นมาชั้นที่ 2 เป็นห้องสมุดรามจิตติ ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลสำหรับการค้นคว้าเกี่ยวกับรัชสมัยของพระองค์ ไฮไลต์ของห้องนี้คือ การเก็บรวบรวมหนังสือส่วนพระองค์ไว้ โดยมีทั้งเรื่องการเมืองและการปกครองที่พระองค์สนใจ และยังมีหนังสือรวบรวมนามสกุลที่พระองค์พระราชทาน 6,432 นามสกุล

เนื่องจากการมีนามสกุลนั้นเริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 6 หากผู้ที่มาสืบค้นและพบว่านามสกุลของตนเป็นนามสกุลพระราชทาน ทางหอวชิราวุธานุสรณ์ก็จะออกใบรับรองให้ นอกจากนี้ ยังมีการจำลองห้องทรงพระอักษร จัดแสดงพระบรมรูปหุ่นในท่าประทับนั่งบนโต๊ะเขียนหนังสือด้วย

หอวชิราวุธานุสรณ์

ถัดมาเป็นห้องพระบรมราชะปะทรรศนีย์ ที่รวบรวมพระราชกรณียกิจในรัชสมัยของพระองค์ผ่านพระบรมรูปหุ่นจำลองในอิริยาบถต่าง ๆ โดยเริ่มที่พระบรมรูปหุ่นฉลองพระองค์ในเครื่องแบบนายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพบกอังกฤษที่ทรงสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์วิกตอเรียชั้นอัศวิน ซึ่งในเวลาถัดมาพระองค์ก็ถวายพระยศนายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพบกสยามกลับไปให้พระมหากษัตริย์อังกฤษที่เป็นประเทศมหาอำนาจในขณะนั้น ทำให้พระองค์มีพระราชดำรัสว่า “ราคาไทยนั้นสูงขึ้น” ซึ่งหมายถึงสยามนั้นเปรียบได้กับประเทศที่เป็นอารยะ

จุดเด่นของห้องนี้คือพระบรมรูปหุ่นตอนงานบรมราชาภิเษกสมโภช ซึ่งมีการเชิญพระราชวงศ์และผู้นำจากประเทศต่าง ๆ มารวมกันมากที่สุดและเป็นครั้งแรกในเอเชียถึง 26 ประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีพระบรมรูปหุ่นที่ฉลองพระองค์ในเครื่องแบบต่าง ๆ ที่กำลังปฏิบัติพระราชกรณียกิจ อาทิ พระราชกรณียกิจด้านการทหารจากหุ่นฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารทั้งของไทยและต่างประเทศ พระราชกรณียกิจด้านกองเสือป่า และการค้นหาประวัติศาสตร์ของชาติจากพระบรมรูปหุ่นที่กำลังขุดค้นทางโบราณคดี

พร้อมกับมีส่วนจัดแสดงพระบรมราชะปะทรรศนีย์ยังมีห้องแยกอีกห้องหนึ่งที่จัดแสดงด้วยภาพ โดยเป็นมิติทางด้านเศรษฐกิจในสมัยนั้นโดยเฉพาะ

ร้านเซ่งชง ตัดฉลองพระบาท ร.6

หลังจากที่ได้ชมสถานที่จัดแสดงประวัติศาสตร์แบบจริงจังไปแล้ว ถัดมาเป็นสถานที่ซึ่งบอกเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ ได้แก่ ร้านเซ่งชง ร้านเครื่องหนังยุคแรกที่เปิดกิจการมานานกว่า 130 ปี โดยตระกูล “ประดิษฐบาทุกา” ที่เป็นผู้ตัดฉลองพระบาทให้กับรัชกาลที่ 6 อีกทั้งยังทำเครื่องหนังให้กับกองเสือป่า กองทหารม้าแห่งกองทัพบกสยาม และถวายงานแก่ราชสำนักในพระราชพิธีต่าง ๆ

ร้านเซ่งชง

คุณอาจฤทธิ์ ประดิษฐบาทุกา ทายาทรุ่นที่ 4 กล่าวว่า ร้านนี้เปิดบริการโดยคุณทวดเซ่งชง แซ่หลิว ตั้งแต่ปี 2435 ที่เดินทางมาจากมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ตระกูลของเราทำรองเท้าและเครื่องหนังเรื่อยมา จนกระทั่งได้รับพระราชทานตราตั้งในปี 2462 และคุณทวดได้รับพระราชทานราชทินนามเป็นหลวงประดิษฐบาทุกา เราจึงนำมาใช้เป็นนามสกุล

กลุ่มชาวจีนที่อพยพมาไทยดังกล่าวคือกลุ่มจีนแคะ ซึ่งเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่ต้องเดินทางอพยพอยู่ตลอด จุดเด่นอย่างหนึ่งคือต้องมีการทำเครื่องหนังเพื่อใช้ในการเดินทางตลอดเวลา ในส่วนของร้านเซ่งชงถือเป็นนวัตกรรมใหม่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ทำรองเท้าหนังให้กับคนในบังคับของประเทศต่าง ๆ ที่เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในสยาม และคนในราชสำนักจึงเริ่มได้มีโอกาสสวมใส่

ร้านเซ่งชง

เอกลักษณ์ในการผลิตรองเท้าของหลวงประดิษฐบาทุกาคือ มีวิธีการตัดเย็บที่ได้ขนาดพอดีเท้า สวมใส่แล้วไม่แน่นจนเกินไป จนกระทั่งเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยจากรัชกาลที่ 6 และเกิดเป็นการตัดเย็บแบบฝรั่งรวมถึงแบบแฟชั่นขึ้นมาในภายหลัง ที่สำคัญคือในงานพระบรมศพของรัชกาลที่ 9 ร้านเซ่งชงได้รับมอบหมายให้ตัดเครื่องหนัง ทั้งอานม้าและชุดหนังทั้งหมดของข้าราชการในครั้งนั้น กล่าวได้ว่ายังคงรับใช้ราชสำนักมาจนปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์ผ่านการตัดฉลองพระบาทของร้านเซ่งชง ถือเป็นเกร็ดความรู้อีกมุมหนึ่งที่สื่อถึงการเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นอารยะได้เป็นอย่างดี เนื่องจากสมัยก่อนคนไทยนั้นยังไม่ค่อยใส่รองเท้า เพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง แต่เมื่อวัฒนธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามา ร้านเซ่งชงจึงเป็นเจ้าแรกที่เริ่มการผลิตภายในประเทศให้แก่คนต่างชาติและคนในราชสำนัก

จากเรือนโบราณสู่โรงแรมเดอะ ระวีกัลยา แบงค็อก

สถานที่ถัดมาอยู่ไม่ไกลกันมากนักคือ โรงแรมเดอะ ระวีกัลยา แบงค็อก ซึ่งเป็นเรือนโบราณของคุณทัต พึ่งบุญ ณ อยุธยา ผู้อภิบาลพระมหากษัตริย์ หรือแม่นมของรัชกาลที่ 6 และเป็นมารดาของเจ้าพระยารามราฆพ และพระยาอนิรุทธเทวาที่เป็นมหาดเล็กใกล้ชิดกับรัชกาลที่ 6 มาตั้งแต่วัยเยาว์

ทั้งนี้ รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานที่ดิน ซึ่งเป็นผืนเดียวกับวังเทเวศร์ให้หลังจากที่พระองค์ได้เป็นมกุฎราชกุมารแล้ว

เนื่องจากพระนมทัตเป็นคนเรียบง่าย อาคารหลังนี้จึงมีรูปแบบที่เรียบง่ายไม่ได้ต่างจากเรือนของขุนนางชั้นผู้ใหญ่มากนัก ซึ่งเป็นอาคารสมัยใหม่ผสมผสานกับของไทยเป็นศิลปะแบบนีโอคลาสสิก โดยอาคารนี้ได้รับการปรับปรุงในปี 2560 และได้รับชื่อว่า “ระวีกัลยา” ซึ่งมาจากบทพระราชนิพนธ์มัทนะพาธา ในรัชกาลที่ 6

โรงแรมเดอะ ระวีกัลยา แบงค็อก

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมพิเศษจาก ครูเอ๋ ทิวาพร เสกตระกูล ผู้แทนครูภูมิปัญญาท้องถิ่น เจ้าของแบรนด์เทวาภิรมย์ ที่มาสาธิตการทำน้ำปรุง ซึ่งเป็นเครื่องหอมของไทยในสมัยโบราณ ที่ผ่านกระบวนการหลากหลายในการสกัดกลิ่นจากดอกไม้หรือใบไม้ต่าง ๆ และเมื่อก่อนจะใช้ภายในราชสำนักหรือชนชั้นสูงเท่านั้น เดิมทีเจ้านายจะนิยมใช้น้ำอบไทย แต่เมื่อชาวตะวันตกเริ่มเข้ามาติดต่อกับสยามมากขึ้นจึงได้มีการนำน้ำหอมเข้ามาด้วย ในหมู่เจ้านายจึงเริ่มนิยมใช้น้ำหอมกันมากขึ้น

ด้วยความที่วิถีชีวิตและสภาพอากาศของไทยไม่เหมือนตะวันตก น้ำหอมต่างชาติจึงไม่ค่อยเหมาะกับคนไทยนัก แต่เนื่องจากภูมิปัญญาของคนไทยในอดีตโดยเฉพาะเจ้านายผู้หญิงในราชสำนักจึงได้คิดค้นน้ำปรุงสูตรต่าง ๆ ขึ้นมาด้วยการผสมผสานวิธีของคนไทยและชาวต่างชาติ

การทำน้ำปรุง

น้ำหอมฝรั่งเมื่อฉีดแล้วกลิ่นจะอยู่ทนข้ามคืน คนไทยในสมัยโบราณจึงคิดหาวิธีทำให้น้ำปรุงของตนมีกลิ่นที่ติดทนเช่นนั้นบ้าง แม้จะไม่นานเท่าแต่ก็ถือว่าไม่อายชาวตะวันตก ด้วยการใช้น้ำมันจากชะมดเช็ด ที่มีคุณสมบัติเป็นตัวตรึงกลิ่นในน้ำปรุง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาและวิธีจากธรรมชาติทำให้น้ำปรุงของไทยมีกลิ่นหอมติดทนนาน

การทำน้ำปรุงถือเป็นอีกมุมหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าไทยเรารับวัฒนธรรมจากต่างชาติและนำมาปรับใช้ให้เป็นของตัวเองเพื่อให้มีวัฒนธรรมหรือความสุนทรีย์ที่ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ นอกจากนี้น้ำปรุงยังถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเจ้านายแต่ละพระองค์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้านายและลูกหลานรวมถึงขุนนางในราชสำนักจะนิยมใช้น้ำหอมประจำพระองค์ ทำให้แต่ละตำหนักจะมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

บ้านพิบูลธรรม อาคารสองแผ่นดิน

สถานที่ถัดมาคือบ้านพิบูลธรรม อาคารที่สร้างในรอยต่อของรัชสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 ซึ่งมีสองอาคาร ออกแบบอย่างศิลปะนีโอคลาสสิกและอิตาลีเรอเนสซองส์ โดยมีนายแอร์โกเล มันเฟรดี (เอกฤทธิ์ หมั่นเฟ้นดี) เป็นผู้ออกแบบ และนายคาร์โล ริโกลี วาดภาพสีปูนเปียกบนผนังและเพดาน โดยปัจจุบันอยู่ในพื้นที่และความดูแลของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน

บ้านพิบูลธรรม

รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานให้กับเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี หรือ หม่อมหลวงปุ้ม มาลากุล โดยในขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง หรือสำนักพระราชวังในปัจจุบัน ซึ่งสัญลักษณ์กระทรวงวังในอดีตเป็นรูปโคหรือพระนนทิการ เดิมทีบ้านนี้จึงถูกเรียกว่าบ้านนนที และมีศีรษะวัวประดับอยู่บริเวณหน้าบ้าน

จุดเด่นในอาคารแรกคือ บนเพดานห้องโถงมีการวาดลายนกกรวิกแบบฝรั่งที่หาชมไม่ได้จากที่อื่น ซึ่งมีความงดงามมาก แต่เกิดความเสียหายไปมากจากการทิ้งระเบิดในสงครามมหาเอเชียบูรพา เพราะบ้านหลังนี้อยู่ใกล้สถานีรถไฟหัวลำโพง ภายหลัง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับซื้อบ้านหลังนี้และนำมาซ่อมแซมพร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านพิบูลธรรม ในปี 2498 และเป็นที่รับรองบุคคลสำคัญรวมถึงแขกบ้านแขกเมืองในสมัยนั้นด้วย จากนั้นถึงขายให้กรมพลังงานใช้เป็นอาคารสำนักงานในปี 2502

ในส่วนของอาคารหลังที่ 2 รัชกาลที่ 6 ทรงมีรับสั่งให้สร้างอาคารขึ้นใหม่แก่หม่อมหลวงปุ้ม มาลากุล ให้สมฐานะที่เป็นเสนาบดีกระทรวงวัง ซึ่งยังคงสัญลักษณ์โคไว้เหมือนอาคารหลังแรก รวมถึงมีภาพวาดบนผนังและเพดานในลักษณะเดียวกัน โดยมีไฮไลต์อยู่ที่ห้องโถงหลักซึ่งมีรูปวาดบนเพดานเป็นลายนกสดายุที่มาปราบทศกัณฐ์ขณะกำลังลักพาตัวนางสีดา สื่อความหมายว่า นกสดายุเป็นผู้คุ้มครองและป้องกันเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ให้พ้นจากทุกข์และภัยร้าย ซึ่งก็คือหน้าที่ของเสนาบดีกระทรวงวังนั่นเอง

บ้านพิบูลธรรม

ทั้งนี้ ภาพทศกัณฐ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นศีรษะโขน แต่เป็นหน้าคนจริง ๆ ซึ่งเกิดจากจินตนาการของผู้วาดที่เป็นหลักเรียลลิสติกของชาวตะวันตก และเลือกใช้ตอนในรามเกียรติ์ที่ไม่ค่อยมีผู้ใดใช้นัก ซึ่งแสดงถึงความทันสมัยในยุคนั้นได้อย่างชัดเจน

พาทัวร์สถานีรถไฟกรุงเทพ

สถานที่สุดท้ายคือพิพิธภัณฑ์รถไฟไทย สถานีรถไฟกรุงเทพ ซึ่งนำชมโดยว่าที่ ร.ต.ปิติพนธ์ ศรีอุ้มสุข พนักงานเดินรถ 6 งานรถโดยสารฝ่ายบริการโดยสาร รองแฟนพันธุ์แท้รถไฟไทย 2013 โดยสถานีรถไฟกรุงเทพสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ลักษณะอาคารของสถานีออกแบบด้วยศิลปะตะวันตกอย่างอิตาเลียนเรอเนสซองส์ ซึ่งรูปแบบจะไม่ชัดเจนตายตัว ของเก่าที่ดีจากกรีกโรมันก็นำเอามาใช้ด้วย เช่น เสาเซาะร่องแบบไอโอนิก และตัวอาคารยังมีการเสริมด้วยศิลปะแบบอาร์กซึ่งมีจุดเด่นเป็นความโค้งหรือครึ่งวงกลมด้วย

พิพิธภัณฑ์รถไฟไทย สถานีรถไฟกรุงเทพ

การรถไฟไทยนั้นเริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ให้ก่อตั้งกิจการรถไฟขึ้นเมื่อปี 2433 สายแรกคือกรุงเทพ-นครราชสีมา และวันที่ 26 มีนาคม 2439 ได้มีการเปิดการเดินรถสายแรกขึ้นจากกรุงเทพไปอยุธยา จึงถือเอาวันนั้นเป็นวันสถาปนาการรถไฟเรื่อยมา

ในพิพิธภัณฑ์ได้รวบรวมสิ่งของต่าง ๆ ของการรถไฟที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน อาทิ หมวกนายสถานีรถไฟที่ทำจากหนังช้างในสมัยรัชกาลที่ 6 เครื่องครัวของกรมรถไฟหลวง เช่น กระติกใส่น้ำแข็ง และเครื่องเงิน เป็นต้น เครื่องตีตั๋วและตั๋วในยุคต่าง ๆ อุปกรณ์สื่อสารในกิจการรถไฟสมัยก่อนอย่างโทรเลข วิทยุสื่อสาร และเครื่องตราทางสะดวกที่เป็นหลักสำคัญของการจัดการเดินรถระหว่างสถานี และมีป้ายเตือนอันตรายจากรถไฟในสมัยก่อนด้วย

พิพิธภัณฑ์รถไฟไทย สถานีรถไฟกรุงเทพ

การริเริ่มกิจการรถไฟขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ถือเป็นการพัฒนาประเทศสู่ความเจริญอย่างแท้จริง ทั้งทำให้เกิดการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็วขึ้นและเชื่อมภูมิภาคต่าง ๆ เข้าสู่ศูนย์กลางที่กรุงเทพ เรียกได้ว่าการสร้างทางรถไฟไปยังสถานที่ต่าง ๆ นั้นได้นำความเจริญไปด้วยตลอดเส้นทาง