เปลี่ยนขยะเป็นงานอาร์ตผืนใหญ่! “มุก-เพลินจันทร์” นำศิลปะต่อยอดสู่โลกที่ยั่งยืน ใน SX 2022

มุก-เพลินจันทร์
มุก-เพลินจันทร์

หากใครเดินทางมางาน Sustainability Expo 2022 หรือ SX 2022 ด้วยรถไฟฟ้า MRT ลงสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทางออก 3 ที่ตอนนี้มีทางเชื่อมเข้าศูนย์สิริกิติ์ ชั้น LG ได้เลย แล้วเดินเข้ามาอีกนิด ก็จะเห็นผ้าทอขนาดใหญ่ติดตั้งไว้บนฝาผนังอย่างสวยงาม งานศิลปะนี้เป็นผลงานของ มุก-เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ นักออกแบบผ้าทอชั้นแนวหน้า เจ้าของแบรนด์กระเป๋าผ้าทอแฮนด์เมด Mook V ที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษ สำหรับศูนย์สิริกิติ์โฉมใหม่โดยเฉพาะ

แต่รู้หรือไม่ว่า กว่าผลงานจะออกมาสมบูรณ์แบบ เพลินจันทร์ต้องทุ่มเทแรงกายและแรงใจขั้นสุด โดยใช้เวลาในการสร้างสรรค์เพียง 58 วัน! แม้จะยากและท้าทาย แต่เธอยืนยันว่าตั้งใจเต็มที่ เพื่อให้สมกับความยิ่งใหญ่ของศูนย์สิริกิติ์ และมหกรรมแห่งความยั่งยืนระดับอาเซียน อย่าง SX 2022

เพลินจันทร์เล่าว่า ได้รับโจทย์จาก ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นคีย์เวิร์ด 3 คำว่า สืบสาน (Inherit) รักษา (Preserve) และต่อยอด (Continue) พร้อมเปิดโอกาสให้เธอตีความและจัดทำผลงานอย่างอิสระ

“พอได้คีย์เวิร์ดมาเลยทำให้นึกถึง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ว่าพระองค์ท่านทำเรื่องสืบสาน รักษา และต่อยอดเรื่องศิลปะ โขน และรามเกียรติ์ จึงนำจุดนี้มาเป็นแรงบันดาลใจ สร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบของผ้าทอ ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นกว่างานอื่น ๆ ที่เคยทำ จนออกมาเป็นผลงานชื่อว่า Woven Symphony และ Adam’s Bridge”

ศิลปินมากฝีมือลงรายละเอียดว่า Woven Symphony นำเสนอเรื่องราวของหนุมานที่ช่วยเหลือนางสีดาที่ถูกจับตัวไปกรุงลงกา ภาพพื้นหลังจึงมีสีเขียว สอดคล้องกับเหตุการณ์ในนครยักษ์ ซึ่งเชื่อมโยงมาถึง Adam’s Bridge หรือรามเสตุ (สะพานพระราม) เพื่อสื่อว่า สุดท้ายนางสีดาก็ได้พบชีวิตใหม่ และยังเปรียบเปรยถึงการเกิดใหม่ของศูนย์สิริกิติ์ได้ด้วยเช่นกัน

ที่สำคัญ ทุกชิ้นสร้างสรรค์ขึ้นจากขยะประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระป๋อง ขวดน้ำ พลาสติก รวมถึงผ้าจำนวน 24 ลัง ที่เธอเก็บไว้จากการทำงานตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพราะเธอเชื่อว่าสักวันต้องมีโอกาสนำมาใช้ประโยชน์แน่นอน และเมื่อนำผลงานมาจัดแสดงจริง ฟีดแบ็กที่ได้รับก็ทำให้เธอประทับใจมาก ๆ เมื่อมีคนตีความงานของเธอไปหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ไทยเบฟเวอเรจ ที่เห็นงานนี้แล้วชื่นชมว่า “มหัศจรรย์”

“ตอนที่รับงานวันแรก บอกตัวเองเสมอว่าต้องทำให้ดีที่สุด พอมาถึงวันนี้ก็ดีใจมากค่ะ ทั้งดีใจที่ทำงานนี้จนสำเร็จ และดีใจที่ได้ทำให้คนรอบข้างภูมิใจ ไม่ผิดหวังในผลงานที่ทำ

“เราเป็นผู้สร้างความตระหนักรู้ให้ผู้คนผ่านศิลปะ เพื่อสื่อว่าศิลปะก็สามารถสร้างความยั่งยืน และต่อยอดให้เกิดการใช้ชีวิตที่ยืนยาวได้ ในฐานะศิลปินก็ดีใจที่ได้ทำงานนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้สังคมและชุมชนดีขึ้น รวมถึงได้ส่งมอบคุณค่าดี ๆ ไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และนำไปใช้ต่อไป”

เพลินจันทร์ไม่ลืมขอบคุณผู้ที่ร่วมจัดทำงานศิลปะชิ้นนี้จนสำเร็จ ทั้ง Ease Studio, คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และอีกคนที่เพลินจันทร์ไม่กล่าวถึงไม่ได้ก็คือ แจ็ค-ปริญญา รุ่นประพันธ์ สามีที่คอยสนับสนุน และช่วยค้นคว้าหาข้อมูลที่จำเป็นในการถ่ายทอดงานศิลปะครั้งนี้จนสำเร็จลุล่วง

ใครอยากมาชมความอลังการของงาน Woven Symphony และ Adam’s Bridge ฝีมือการสร้างสรรค์ของเพลินจันทร์ สามารถมาได้ที่งาน SX 2022 ที่ศูนย์สิริกิติ์

งาน SX 2022 ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน ถึง 2 ตุลาคมนี้ เป็นการผนึกกำลังกันระหว่าง 5 องค์กรชั้นนำด้านความยั่งยืนของไทย ได้แก่ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ติดตามรายละเอียดงาน SX 2022 เพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/SX.SustainabilityExpo/ และเว็บไซต์ https://sustainabilityexpo.com