กรมศิลปากร เชิญชมนิทรรศการ “ร.ศ. 242 ชมตู้ลายทองสืบสานงานศิลป์” ณ อาคารถาวรวัตถุ (ตึกแดง) ถนนหน้าพระธาตุ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น.
วันที่ 17 มกราคม 2566 กรมศิลปากร โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ ขอเชิญชมนิทรรศการ “ร.ศ. 242 ชมตู้ลายทองสืบสานงานศิลป์” ชมความงดงามของศิลปะลายรดน้ำ จากตู้พระธรรมสมัยรัตนโกสินทร์ ณ อาคารถาวรวัตถุ (ตึกแดง) ถนนหน้าพระธาตุ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น.
ตู้ลายทอง ถือว่าเป็นศิลปะอันวิจิตรที่มีศาสนาเป็นบ่อเกิด คือ เกิดจากแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนผู้ปรารถนาอุทิศตนสร้างผลงานอันวิจิตรงดงามสะท้อนผ่านพุทธศิลป์ชั้นเลิศด้วยฝีมือชั้นครูของช่างหลายแขนง
สำหรับงานประณีตศิลป์บนตู้พระไตรปิฎกหรือตู้พระธรรมนั้น เป็นตัวอย่างของจิตรกรรมชั้นสูงที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนวัตถุ ที่ช่างฝีมือสมัยโบราณบรรจงจำหลักเส้นสายที่งดงามและแช่มช้อย เพื่อบอกเล่าเรื่องราวคำสอนในพระพุทธศาสนาผ่านลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายรดน้ำ ลายกำมะลอ ลวดลายเหล่านี้ประดับตกแต่งส่วนต่าง ๆ ของตู้
การจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้ มีเนื้อหาเกี่ยวกับตู้พระธรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยจัดแสดงตู้พระธรรม จำนวน 47 ตู้ และนาฬิกา 1 เรือน แบ่งการจัดแสดงออกได้ ดังนี้
ห้องที่ 1 จัดแสดงนาฬิกาปารีส ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพประทานแก่หอพระสมุดวชิรญาณ ในโอกาสที่ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ครบรอบ 25 ปี
ห้องที่ 2 จัดแสดงตู้พระธรรมในสมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ที่มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์
ห้องที่ 3 จัดแสดงตู้พระธรรมที่มีลวดลายเกี่ยวกับเรื่องราวของพระพุทธบาท
ห้องที่ 4 จัดแสดงตู้พระธรรมที่มีลวดลายเกี่ยวกับเรื่องการสังคายนาพระไตรปิฎก
ห้องที่ 5 จัดแสดงตู้พระธรรมที่มีลวดลายในเรื่องรามเกียรติ์
ห้องที่ 6 จัดแสดงตู้พระธรรมที่มีลวดลายที่เป็นรูปทวารบาลทั้งไทยและจีน
ห้องที่ 7 จัดแสดงตู้พระธรรมที่มีลวดลายเรื่องพุทธประวัติ
ห้องที่ 8 จัดแสดงตู้พระธรรมที่มีลวดลายเรื่องชาดก
ห้องที่ 9 จัดแสดงตู้พระธรรมที่มีลวดลายเรื่องป่าหิมพานต์และสัตว์หิมพานต์
ตู้พระธรรมที่นำมาจัดแสดง นอกจากจะได้เห็นถึงศิลปะในเชิงช่างสมัยรัตนโกสินทร์ผ่านลวดลายต่าง ๆ บนตู้พระธรรมที่แบ่งเป็นหมวดหมู่ตามห้องจัดแสดงดังกล่าวแล้ว ยังมีตู้พระธรรมที่มีความโดดเด่นและน่าสนใจ
อาทิ ตู้พระธรรม กท.2 ที่ได้มาจากวัดจันทารามวรวิหาร กรุงเทพฯ ตกแต่งลวดลายจากเรื่องรามเกียรติ์ มีความพิเศษด้วยภาพที่หน้าบานประตูของตู้พระธรรม ซึ่งโดยปกติภาพของทวารบาลจะเป็นภาพใหญ่เต็มองค์บนบานประตูตู้ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา แต่สำหรับตู้ใบนี้ภาพทวารบาลจะอยู่ที่ด้านล่างของหน้าบานประตู ซึ่งเป็นภาพทวารบาลที่ดูแปลกตาแตกต่างออกไป
ตู้ไซอิ๋ว เป็นตู้พระธรรมลายภาพเขียนสีบนพื้นรักสีแดง เป็นสมบัติเดิมของสำนักหอสมุดแห่งชาติ มีการตกแต่งตู้ด้วยภาพเขียนสีแบบจีน บอกเล่าเรื่องไซอิ๋ว หรือเรื่องราวการเดินทางไปยังชมพูทวีป เพื่ออัญเชิญคัมภีร์พระไตรปิฎกของพระถังซำจั๋ง
ที่ขอบบนของตู้มีจารึกเป็นอักษรและภาษาจีน อ่านว่า “เต้าก้วงสือปาเนียนลี่” หมายถึง ปีที่ 18 ในรัชสมัยของพระเจ้าเซียนจง ซึ่งตรงกับปี 2381-2382 ประมาณรัชกาลที่ 3 ของสมัยรัตนโกสินทร์ ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง
ตู้พระธรรมแต่ละใบล้วนสร้างด้วยเทคนิคและลวดลายที่แตกต่างกัน ลวดลายอันอ่อนช้อยที่ปรากฏอยู่บนตู้พระธรรมเป็นงานศิลปะไทยของช่างศิลป์โบราณ อันเกิดจากขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อที่บ่มเพาะสืบทอดต่อกันมา และความเชื่อมั่นศรัทธาในพระพุทธศาสนา
ซึ่งเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจมาช้านานจนก่อเกิดเป็นงานศิลป์ที่มีรูปแบบเฉพาะ กลายเป็นความงามบนพื้นฐานวิถีแห่งไทย วิถีแห่งธรรม ที่นำความภาคภูมิใจของคนในชาติมาจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ “ร.ศ. 242 ชมตู้ลายทองสืบสานงานศิลป์” ณ อาคารถาวรวัตถุ (ตึกแดง) ถนนหน้าพระธาตุ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์-วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์